สงครามการค้ายกใหม่ตั้งเค้า

ใครที่คิดว่าความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ จะดีขึ้นหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์พ้นจากตำแหน่ง อาจจะต้องเตรียมใจผิดหวังไว้ได้เลย การประชุมนัดแรกของสองประเทศนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ามารับตำแหน่ง ที่อลาสกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสัญญาณชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศจะยังคงตึงเครียดต่อไป


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

ใครที่คิดว่าความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ จะดีขึ้นหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์พ้นจากตำแหน่ง อาจจะต้องเตรียมใจผิดหวังไว้ได้เลย การประชุมนัดแรกของสองประเทศนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ามารับตำแหน่ง ที่อลาสกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสัญญาณชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศจะยังคงตึงเครียดต่อไป

แนวโน้มความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ น่าจะยังคงต้องเจอกับความท้าทายอีกมาก หลังจากที่มีการหารือทางการทูตในระดับสูงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ว่า คณะทำงานของไบเดน ไม่มีแผนที่จะยกเลิกท่าทีที่แข็งกร้าวของทรัมป์เมื่อหารือกับรัฐบาลปักกิ่ง

แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตันได้พักการตอบโต้ทางการค้าด้วยการทำ “ข้อตกลงเฟสหนึ่ง” ในปีที่ผ่านมา แต่ตัวแทนของทั้งสองฝ่าย มีความไม่พอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่มาก และมองอีกฝ่ายว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

การแข่งขันดังกล่าวเห็นได้ชัดในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเมื่อการประชุมที่อลาสกาเริ่มขึ้น  แอนโทนี  บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ย้ำถึงความกังวลอย่างยิ่งต่อการดำเนินการของจีน ในซินเจียง ฮ่องกง ไต้หวัน การโจมตีทางไซเบอร์ต่อสหรัฐฯ และ การบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ

หยาง จี้ชี ผู้อำนวยการ คณะกรรมการกลางกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ตอบโต้ด้วยภาษาจีนว่า สหรัฐฯ ไม่มีคุณสมบัติที่จะบอกว่า ต้องการหารือกับจีนด้วยสถานะอันแข็งแกร่ง และสหรัฐฯ ไม่มีคุณสมบัติที่จะพูดเช่นนั้น แม้กระทั่งเมื่อ 20 หรือ 30 ปีก่อน เพราะนี่ไม่ใช่วิธีที่จะจัดการกับคนจีนได้

แม้ว่ามีการมองกันว่า การหารือที่อลาสกาเป็นการหารือทางการทูตมากกว่าการหารือทางเศรษฐกิจ แต่การตอบโต้อย่างทิ่มแทงกันเช่นนี้ น่าจะเป็นภาพในเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ที่ดุเดือดมากขึ้น สำหรับทีมการค้าของไบเดน และเดิมพันในครั้งนี้คือความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีมูลค่ามากสุดในโลก

ขณะนี้จีนเป็นคู่ค้าในการซื้อขายสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสามของสหรัฐฯ โดยมีการค้าสองทางทั้งหมด 558,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2562  และปริมาณการค้าที่มากขนาดนี้ช่วยสร้างงานให้กับสหรัฐฯ ประมาณ 911,000 ตำแหน่ง ในปี 2558 โดย 601,000 ตำแหน่งมาจากการส่งออกสินค้าและ 309,000 ตำแหน่งมาจากการส่งออกบริการ

จีนยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของเกษตรกรอเมริกัน การค้าเกี่ยวกับสินค้าเกษตร มีมูลค่าต่อปีทั้งหมด 14,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสองปีก่อน และจีนเป็นซัพพลายเออร์สินค้านำเข้ารายใหญ่สุดของสหรัฐฯ

ความจริงแล้ว มีความคาดหวังน้อยมาก ว่าการประชุมที่อลาสกาจะชื่นมื่นและเป็นไปตามที่คาดหวัง โดยมีการมองจากผู้เชี่ยวชาญบางคนว่า รัฐบาลจีนอ่านสถานการณ์ผิดกับคณะบริหารของไบเดน ที่คิดว่าจะมีการยกเลิกมาตรการของทรัมป์ทั้งหมด

การเจรจาการค้ากับจีนมีความสำคัญทางการค้าก็จริง แต่ก็เป็นโอกาสที่จะปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ และการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญด้วยเช่นกัน

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะมีการประชุมที่อลาสกา คณะบริหารของไบเดนได้ร่างคำสั่งของฝ่ายบริหารให้กระทรวง  ต่าง ๆ ทบทวนซัพพลายเชนที่สำคัญ เช่น ซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ที่มีขีดความสามารถสูง ซัพพลายทางการแพทย์ และธาตุโลหะหายาก ( rare earth)

แม้ว่าคำสั่งของไบเดน ไม่ได้พูดถึงจีนออกมา  แต่ได้สั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ตรวจสอบช่องว่างในการผลิตในประเทศและซัพพลายเชนที่ถูกครอบงำหรือต้องดำเนินการผ่าน “ประเทศที่เป็นหรือมีแนวโน้มที่จะไม่เป็นมิตรหรือไม่มั่นคง”

มีการมองอย่างกว้างขวางว่าคำสั่งนี้รวมถึงจีนด้วย เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่สุดต่อธาตุโลหะหายาก กลุ่มวัสดุที่ใช้ในการผลิตจอคอมพิวเตอร์ อาวุธที่ทันสมัย และรถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ผู้เจรจาฝ่ายจีน ซึ่งรวมถึงนาย หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อาจจะหวังว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นมากขึ้นจากบลิงเคน หลังจากที่ต้องเจอกับความวุ่นวายมานานสี่ปีในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และไมค์ พอมเพว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

คณะบริหารของทรัมป์มีพฤติกรรมในการเก็บภาษีและคว่ำบาตรเพื่อแก้ปัญหาต่อการร้องเรียนที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการไม่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของจีน  การใช้กฎระเบียบบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี และการทำธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เป็นธรรม

นักวิเคราะห์นโยบายของบริษัท ลองวิว โกลบัล กล่าวว่า ทีมงานของไบเดนเข้าใจการเชื่อมโยงระหว่างการค้าและการพาณิชย์ที่ซับซ้อนระหว่างสองประเทศ และหวังว่าจะได้เจาะจงเป้าหมาย  วิเคราะห์และบริหารจัดการปัญหาและข้อกังวลด้านการแข่งขัน และความร่วมมือที่สามารถคาดการณ์ได้

อย่างไรก็ดี จนถึงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา ทีมงานของสหรัฐฯ ที่ไปร่วมประชุมในอลาสกา ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อลดข้อจำกัดในการขายสินค้าของอเมริกันให้แก่บริษัทจีน อย่างเช่นบริษัทหัวเว่ย  หรือลดข้อจำกัดในการออกวีซ่าให้แก่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือเปิดสถานกงสุลในฮูสตันใหม่แต่อย่างใด

คนที่จะมารับหน้าเสื่อในการเจรจากับจีน คือ แคทเธอรีน ไต้ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่

การลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่อรับรองการเสนอชื่อแคทเธอรีน ไต้ ซึ่งเป็นคนแรกของคณะบริหารไบเดน  สะท้อนว่าทั้งสองพรรคมีความศรัทธาในทักษะของเธอ ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านการค้า

มีการคาดการณ์ว่าผู้แทนการค้าคนใหม่จะเจอกับการพิพาททางการค้าที่คณะบริหารของทรัมป์ได้ทำไว้ แต่ก็คาดการหารือกับรัฐบาลปักกิ่งจะเป็นนโยบายสำคัญสุดของเธอ และคาดว่าจะมีการทบทวนนโยบายของทรัมป์ เช่น การเก็บภาษีเหล็ก อลูมิเนียมและสินค้าอุปโภคบริโภคของจีน ตลอดจนทบทวนข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่ง

คนที่เคยร่วมงานกับไต้เมื่อครั้งเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) บอกว่า เธอรู้วิธีที่จะแข็งกร้าวต่อจีน และรู้ว่าจะร่วมมือกับชาติอื่น ๆ อย่างไร

เนื่องจากว่า คณะบริหารชุดใหม่ของไบเดนมีทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ  ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และคนใกล้ชิดที่แข็งกร้าวมาก จึงน่าจะมีผลต่อนโยบายโดยรวมของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการค้า

อย่างไรก็ดี บรรยากาศ และแถลงการณ์ที่แข็งกร้าวจากทั้งสองฝ่ายในการประชุมที่อลาสกา มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงว่า จีนและสหรัฐฯ จะต้องกล่าวหาและเรียกร้องซึ่งกันและกันเหมือนเดิม และแนวโน้มที่จะเกิดสงครามการค้าก็ยังเป็นไปได้อยู่ แค่รอเวลาว่าจะมีอะไรมาเป็นตัวจุดชนวนเท่านั้น

Back to top button