แมงเม่า กับ ปารีสซินโดรม
เวลาที่มีหุ้นจองหรือ IPO ใหม่เข้ามาแนะนำตัวในตลาดแรก ถ้อยคำคุ้นหูและคุ้นตา ที่พรั่งพรูออกมาจากสปอนเซอร์ หรือบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์ คือว่า เป็นหุ้นที่มีคนจองล้นประมาณ 8-15 เท่าของปริมาณหุ้นสามัญที่ออกจำหน่าย
พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล
เวลาที่มีหุ้นจองหรือ IPO ใหม่เข้ามาแนะนำตัวในตลาดแรก ถ้อยคำคุ้นหูและคุ้นตา ที่พรั่งพรูออกมาจากสปอนเซอร์ หรือบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์ คือว่า เป็นหุ้นที่มีคนจองล้นประมาณ 8-15 เท่าของปริมาณหุ้นสามัญที่ออกจำหน่าย
เป้าหมายดังกล่าวคือทำให้นักลงทุนที่ชอบไล่ล่าหุ้นจองฝันหวานไปว่าการที่มีคนจองล้น แล้วบางคนที่ไม่ได้ จะต้องตามมาซื้อเก็บเข้าพอร์ต ในวันที่เข้าเทรดวันแรกของหุ้นที่ว่า ทำให้ราคาที่เปิดตอนเวลาเริ่มเทรดที่ “เหนือจอง” แล้วปิดที่ราคาสูงกว่าราคาเปิด
หากเป็นไปตามเป้าหมาย งานฉลองคืนหลังจากเทรดวันแรกหรือ Thank Press ก็จะเต็มไปด้วยภาษาดอกไม้ และคำคุยโตโอ้อวดในการ “จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย”
หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปอีกไม่เกิน 2 เดือน งบไตรมาสถัดมาของบริษัทเจ้าของหุ้นจองก็ปรากฏออกมา ขี้ริ้วขี้เหร่น่าเกลียด แล้วก็จะมีรายการ “ถล่มขาย” ที่ทำให้ราคาหุ้นในกระดานต่ำกว่าราคาจอง ชนิด “หน้ามือเป็นหลังเท้า”
ปรากฏการณ์ถล่มขายทิ้งเพราะผิดหวังดังกล่าว เกิดขึ้นซ้ำซากชนิดไม่เข็ดหลาบ เรียกว่าเป็นเรื่องปกติในตลาดหุ้น
ปรากฏการณ์ ทำนองเดียวกัน เคยมีผลการศึกษาอาการผิดปกติทางจิต ที่เคยเกิดกับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมากในปารีสมาแล้ว จนเป็นที่มาของศัพท์วิชาการทางแพทย์ว่าอาการ ปารีส ซินโดรม (ภาษาฝรั่งเศส : syndrome de Paris, ส่วนภาษาญี่ปุ่น : ปารี โชโกะกุน) เพื่ออธิบายอาการผิดหวังรุนแรงที่คนบางคนแสดง เมื่อไปเที่ยวหรือไปพักร้อนที่ปารีส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศส ซึ่งรู้สึกว่าเมืองนี้กว้างใหญ่ แต่ขาดคุณสมบัติของเมืองที่คาดหมาย ไม่เท่า “ศิลปะ” และ “ความงาม” ตามที่พรรณนาหรือคาดหวังไว้
กลุ่มอาการนี้มีลักษณะของอาการทางจิตเวชหลายอย่างเช่นภาวะประสาทหลอนเฉียบพลัน ภาพหลอนความรู้สึกของการ “เสียค่าโง่” (การรับรู้ว่าเป็นเหยื่อของอคติความโง่ของตนเอง และการเหยียดเชื้อชาติจากผู้อื่น) เกิดเป็นความวิตกกังวลและอื่น ๆ อาการทางจิตเช่นเวียนศีรษะ เหงื่อออกและอื่น ๆ เช่นอาเจียน
ภาวะนี้ถูกมองว่าเป็นอาการช็อกทางวัฒนธรรมขั้นรุนแรง ที่เกิดจากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น แล้วส่งผลกระทบต่อนักเดินทางชาวเอเชีย (จีน สิงคโปร์และเกาหลีใต้)
ดร.ฮิโรอากิ โอตะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่ทำงานที่โรงพยาบาลแซงเต – แอนน์ ในฝรั่งเศส เป็นผู้บัญญัติศัพท์ในช่วงทศวรรษที่ 1980
ต่อมา สำนักข่าวบีบีซี รายงานในปี 2549 ว่าปรากฏการณ์ระบาดทางจิตดังกล่าว ยังเกิดขึ้น จนถึงขั้นสถานทูตญี่ปุ่นในปารีส ถึงกับมี “สายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง” สำหรับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากภาวะช็อกทางวัฒนธรรมขั้นรุนแรง แต่ต่อมาด้วยเหตุผลอื่นใด ทางสถานทูตญี่ปุ่นได้แก้ข่าวว่าไม่มีสายด่วนดังกล่าวอยู่เลย
การแก้ข่าวดังกล่าวย้อนแย้งกับเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นในปารีส ก็ยอมรับในปีเดียวกันกับเดอะการ์เดียนว่า “มีผู้ป่วยประมาณ 20 รายต่อปีที่เกิดกลุ่มอาการนี้และเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว” และสถานทูตได้ส่งตัวกลับประเทศญี่ปุ่น
แม้ต่อมา ในปี 2554 สถานทูตญี่ปุ่นในปารีส ยังคงยืนกรานระบุแบบ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ว่า แม้สื่อจะรายงานไปในทางตรงกันข้าม แต่ก็ไม่ได้ส่งชาวญี่ปุ่นที่เป็นโรคปารีสซินโดรมกลับประเทศ
อาการปารีสซินโดรมนี้ หากนำมาใช้อธิบายกับตลาดหุ้น นักลงทุนประเภท “แมงเม่า”คงคุ้นเคยกันอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่เคยเป็น “พิมพ์นิยม”สามารถทำกำไรเติบโตสวยงาม ราคาหุ้นพุ่งกระฉูดกับการขายฝันของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ แล้ววันหนึ่งเรื่องเน่า ๆ ก็โผล่มา ทำให้กลายเป็นหุ้น “หมาเมิน”
กรณีหุ้น EARTH, IFEC, GL, AJA, EFORL และ ACAP เป็นต้นแบบที่ดีของปรากฏการณ์ปารีสซินโดรม ที่เกิดขึ้นมาแล้ว และอาจจะมีเพิ่มเติมได้อีก
แม้บางกรณี อาจจะไม่เข้าข่าย เพราะบางครั้งเกิดจากปัญหา Techno Disruption และการแข่งขันที่เข้มข้นเกินเช่นกรณีสายการบินพาณิชย์ แต่…ในบางบริษัท อาจจะเข้าข่ายได้ โดยเฉพาะ บริษัท การบินไทย หรือ THAI
เรื่องทำนองนี้ เป็นความรู้เชิงประสบการณ์ที่นักลงทุนระดับแมงเม่าจะต้องทำความเข้าใจ