พาราสาวะถีอรชุน
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจฉบับที่อยู่ในมือท่านผู้อ่านวันนี้ครบรอบ 21 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 ท่ามกลางภาวะการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงอึมครึม แต่นั่นคงไม่ใช่อุปสรรคของการนำเสนอเรื่องราวข่าวสารอันเป็นประโยชน์เพื่อตอบแทนความมีน้ำใจของทุกท่านที่ให้ความเมตตาต่อ“กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน”ฉบับนี้ด้วยดีเสมอมา
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจฉบับที่อยู่ในมือท่านผู้อ่านวันนี้ครบรอบ 21 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 ท่ามกลางภาวะการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงอึมครึม แต่นั่นคงไม่ใช่อุปสรรคของการนำเสนอเรื่องราวข่าวสารอันเป็นประโยชน์เพื่อตอบแทนความมีน้ำใจของทุกท่านที่ให้ความเมตตาต่อ“กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน”ฉบับนี้ด้วยดีเสมอมา
หน้าที่ของเราคือ นำเอาสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงมาบอกกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อ่าน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงขออนุญาตเปลืองพื้นที่พูดเรื่องตัวเองเท่านี้ก็แล้วกัน หันไปดูประเด็นข่าวสารการเมืองที่กำลังสาละวนอยู่กับการสรรหาตัวมานั่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ. และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท.
แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องสรรหาให้จบก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ด้วยเหตุผลจะได้มีคำตอบไปชี้แจงต่อนานาชาติซึ่งน่าจะมีคำถามเรื่องกระบวนการคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย หากมีรายชื่อองค์กรที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศไปบอกเขาก็น่าจะอุ่นใจมากกว่าความว่างเปล่า
ดังนั้น หลังจากวันวานได้มีการประชุมร่วมแม่น้ำ 3 สายคือ คสช. ครม.และสนช.แล้ว จึงมีความคืบหน้าว่าทั้งกรธ.และสปท.จะมีความชัดเจนภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันของคสช.และครม. และเป็นห้วงเวลา 1 วันก่อนที่บิ๊กตู่จะเหินฟ้าไปอเมริกา ถ้าจับอาการของท่านผู้นำจากบทสัมภาษณ์ล่าสุด น่าจะเห็นความเป็นไปได้ของการที่จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมใน 2 องคาพยพดังว่า
โดยที่ความเป็นไปได้ คงจะมีการเชื้อเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสปท.ในการกำหนดทิศทางการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดภาพเปิดกว้างสำหรับทุกฝ่าย นั่นหมายความว่าอาจจะรวมไปถึงกลุ่มการเมืองที่เวลานี้ทั้งนปช.และกปปส. ก็ดูเหมือนว่าจะมีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน โดยเฉพาะกลุ่มหลังที่เห็นผลหลังการรัฐประหารผ่านไปกว่า 1 ปีแล้วว่า สิ่งที่ลงทุนชัตดาวน์ประเทศกันนั้นคุ้มหรือไม่
ส่วนกรธ.โอกาสที่จะมีตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมน่าจะน้อยกว่า เนื่องจาก 21 เก้าอี้ที่รวมเอาตำแหน่งประธานไว้ด้วย บิ๊กตู่น่าจะเลือกใช้บริการคนที่คุยกันได้เท่านั้น เพราะหากยังต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เขียนอย่างไรก็คงจะให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายประชาธิปไตยได้ยาก
เว้นเสียแต่ว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียก่อน หากต้องการใส่เกียร์ถอยให้ผู้มีอำนาจมีทางลง ไม่ติดกับดักเหมือนกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด ภาระนี้คงตกไปอยู่ที่ วิษณุ เครืองาม ที่จะต้องเร่งร่างคำขอแก้ไขส่งให้สนช.พิจารณา หากกลัวเสียหน้าก็ยกเอาเรื่องประชามติมาเป็นตัวชูโรง ส่วนที่เหลือก็พ่วงแก้ไขมาตรา 35 ที่เป็นปัญหาไปในคราวเดียวกัน
ความห่วงใยว่าการยกร่างใหม่จะสูญเปล่านั้น ส่งเสียงดังมาจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ออกแถลงการณ์เชิญชวนประชาชนเสนอรายชื่อบุคคลที่ควรทำหน้าที่“สภาร่างรัฐธรรมนูญในฝัน”โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการของมหาวิทยาลัยได้อธิบายว่า คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้ใช้งบประมาณไปอย่างผิดๆ รวมไปถึงสปช.ด้วย เวลานี้กำลังผลาญงบประมาณของประชาชนโดยไม่ชอบธรรม
เห็นได้จากผลงานใน 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญถูกตีตกไป เรื่องทั้งหมดนี้ทำให้พวกเราต้องจ่ายเงินให้กับกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่มีอะไรรับประกันผลเลยว่าเงินของพวกเราจะได้รับผลอะไรตอบแทน ในทัศนะของตนนี่คือการคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง เป็นการคอร์รัปชั่นผ่านทางงบประมาณด้วยนโยบายการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องอันตรายที่สังคมต้องให้ความระมัดระวัง
ดังนั้น ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อเห็นรายชื่อที่เสนอมาแล้ว รู้สึกหดหู่ คือเรากำลังได้รายชื่อคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว และไม่ทำให้สังคมไทยเดินไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น คิดว่าสังคมไทยนั้นน่าหดหู่มากตรงที่เราไม่รู้ว่าจะเอาใครอีกแล้ว จนต้องไปเอาคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญกลับมา เราต้องการคนชนิดนี้กลับมาเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าจริงหรือ
อยากให้ทุกคนได้คิดถึงอนาคตข้างหน้า แล้วนึกถึงคนที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีกว่า เราจะต้องเต็มไปด้วยความหวังและความฝัน พอเห็นรายชื่อก็เหมือนกับว่าเดินถอยหลังไป 20-30 ปีก่อน ขณะที่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก็เป็นคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ได้แสดงทัศนะอย่างน่าสนใจ
อาจารย์อรรถจักร์มองว่า ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญที่สปช.ตีตกไปแล้ว ทำให้อำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญตกไปอยู่ในกำมือของบิ๊กตู่และ 21 อรหันต์ การร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปอยู่อำนาจของคนเพียงหยิบมือเดียว เป็นอันตรายต่อสังคมไทย เราจึงอยากจะกระตุกเตือนต่อสังคมไทยว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญควรจะมีคนอย่าง วรเจตน์ ภาคีรัตน์
การกระตุกเตือนต่อสังคมไทยในประเด็นนี้จะส่งผลต่อมาคือ คนในสังคมจะต้องตามดู การตามดูของคนในสังคมจะทำให้กลุ่ม 21 อรหันต์ไม่สามารถปกปิด แอบร่างรัฐธรรมนูญเองได้ ตนกังวลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้หากร่างเสร็จแล้วจะไม่มีทางไปต่อ หากร่างเสร็จแล้ว มันจะเป็นการบีบให้ประชาชนยอมรับร่างนี้ไปอย่างเสียมิได้
เพราะไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร หรือไม่งั้นเราจะต้องเสนอไปว่าถ้าลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะร่างกันนี้ จะต้องมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้ เช่น ปี 2540 อันนี้คือความหวังที่จะกระตุกเตือนต่อสังคมไทยว่าต้องระมัดระวังและตระหนักอย่างไร ข้อกังวลตรงนี้หลายฝ่ายน่าจะเห็นสอดคล้องต้องกัน
หากลากเวลาให้ยืดเยื้อออกไปเกรงว่า ประชาชนจะเกิดความเบื่อหน่าย เข้าทำนองทำให้เซ็งแล้วปกครอง ทำให้ประชาชนไม่คิดที่จะทำอะไร โดยอาจารย์อรรถจักร์คิดว่ากระบวนการนี้น่ากลัวยิ่ง ยิ่งรัฐบาลชุดนี้บอกให้รออีก 180 วัน เชื่อว่าคนไทยจำนวนหนึ่งก็จะรอเวลาอีก 6 เดือนโดยที่ไม่ทำอะไร ความนิ่งเฉยเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจได้ใจ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครและฝ่ายใดออกมากระตุ้นประชาชนให้อยู่ภาวะตื่นตัวตลอดเวลา