Digital Banking จุดหักเหธนาคารพาณิชย์
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่เห็นชัดเจนนั่นคือ Digital Transformation หรือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ ทั้งในรูปแบบ Digitization เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบ Analog (งานทำมือในกระดาษ) ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและใช้เป็นข้อมูลวิเคราะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และรูปแบบ Digitalization เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดธุรกิจ สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มขึ้น
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่เห็นชัดเจนนั่นคือ Digital Transformation หรือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ ทั้งในรูปแบบ Digitization เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบ Analog (งานทำมือในกระดาษ) ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและใช้เป็นข้อมูลวิเคราะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และรูปแบบ Digitalization เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดธุรกิจ สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มขึ้น
ทว่าการก้าวเข้าสู่ความเป็น Digital ของธนาคารพาณิชย์ไทย ถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เมื่อธนาคารกลางหลายประเทศของภูมิภาคเอเชีย เริ่มออกเกณฑ์เพื่อให้ใบอนุญาต Digital Bank (Digital-Only Banking License) นั่นหมายถึงธนาคารพาณิชย์ที่สามารถทำธุรกิจการเงินได้โดยไม่ต้องมีสาขาแต่อย่างใด
โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน ด้วยเปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่น ๆ สามารถเข้ามาแข่งขันได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินลดต้นทุนการดำเนินงานจากสาขาลง นำไปสู่เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) จากสถาบันการเงินภายใต้เงื่อนไขที่ดีกว่าเดิมยิ่งขึ้น
สำหรับข้อแตกต่างระหว่างธนาคารพาณิชย์กับ Digital Bank เริ่มตั้งแต่การมีสาขากับไม่มีสาขา, การยืนยันตัวจากจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า ผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่และใช้เอกสารประกอบการพิจารณา มาสู่การยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อาจไม่ต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม) ส่วนช่องทางการทำธุรกรรม จากเดิมผ่านสาขาและอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบ Internet Banking หรือ Mobile Banking มาสู่การทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด
โดยกลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ลูกค้าให้บริการได้ทุกกลุ่ม ทั้งรายย่อยรายใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ แต่ลูกค้า Digital Bank จะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของใบอนุญาตที่ได้รับเท่านั้น
ผลกระทบจากการเกิดขึ้นของ Digital Banking ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปิดสาขาลงหลายแห่ง และนำมาซึ่งการลดจำนวนพนักงาน (ทำให้คนต้องหางานทำใหม่) พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เนื่องจากการใช้จ่ายสะดวกสบายง่ายขึ้น ส่งผลให้การตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วมากเกินไป อาจมีแนวโน้มการใช้จ่ายเกินตัว จนก่อให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลลดน้อยลง จากพฤติกรรมมนุษย์ ที่สื่อสารกับเทคโนโลยีมากขึ้น จนทำให้ธนาคารอาจไม่ใช่สถาบันการเงินสำคัญสำหรับเศรษฐกิจก็เป็นได้
ส่วนการเกิดขึ้นของ Digital Banking ในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เริ่มทยอยให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจลักษณะดังกล่าว อาทิ จีน จำนวน 4 ราย ฮ่องกง จำนวน 8 ราย ไต้หวัน จำนวน 3 ราย สิงคโปร์ จำนวน 4 ราย และมาเลเซีย จำนวน 5 ราย ส่วนไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ยังไม่มีการออกใบอนุญาต Digital Bank แต่มีการให้บริการแบบ Digital only Bank บางส่วนของธนาคารพาณิชย์เดิมในประเทศเท่านั้น
ถือว่า Digital Bank กลายเป็นเมกะเทรนด์ ที่นำไปสู่จุดเปลี่ยนนวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน และสร้างระบบนิเวศและทำลายกำแพงการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น แต่นั่นเป็นโจทย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกแบบเงื่อนไขหลักเกณฑ์ Digital Bank ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ที่สำคัญการกำกับดูแล Digital Bank เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันรุนแรงจนเกินไป อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเงินในประเทศในอนาคตได้เช่นกัน.!!