MRT-สีเขียว ความเหมือนที่ต่าง.!
ปมดราม่าค่าโดยสาร 25 บาท เกิดขึ้นอีกครั้ง..! เมื่อ 198 องค์กรผู้บริโภคออกโรงล่ารายชื่อคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
สำนักข่าวรัชดา
ปมดราม่าค่าโดยสาร 25 บาท เกิดขึ้นอีกครั้ง..! เมื่อ 198 องค์กรผู้บริโภคออกโรงล่ารายชื่อคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
“การกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทตลอดสายแพงเกินไป สร้างภาระต่อผู้บริโภค”
สำทับด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ระบุว่า อัตราค่าโดยสาร MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ค่าโดยสารต่ำกว่า “สายสีเขียว” ประมาณ 20%
ทำให้กทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร) ในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตอบโต้กลับว่า หากสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสิ้นสุดลงปี 2572 และโครงการได้โอนกลับมาเป็นของรัฐแล้ว ถึงเวลานั้นรัฐบาลหรือกทม.จะกำหนดค่าโดยสารอย่างไรก็ย่อมทำได้
“จะเอาถึงขั้นจัดเก็บค่าโดยสารแค่ 10-15 บาท หรือ 15-25 บาทตลอดสาย สามารถกำหนดได้ทั้งสิ้น”
แต่ปัญหามันจะไปรอดหรือไม่..กทม.จะเอาเงินจากไหนไปจ่ายค่าก่อสร้าง ค่าจ้างบริหารเดินรถและค่าซ่อมบำรุง..อย่าลืมนะว่าแม้สัมปทาน “สายสีเขียว” จะสิ้นสุดลงปี 2572 แต่กทม.มีสัญญาจ้าง BTS เดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (อ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการและพหลโยธิน-คูคต) ต่อไปอีก 12-13 ปี (สิ้นสุดปี 2585)
หากรัฐบาลหรือกทม.หักดิบไม่ต่อสัญญาจ้างบริหารกับ BTS เพื่อให้สิ้นสุดพร้อมกันปี 2572 ซะเลย ย่อมทำได้ แต่เกิดปัญหาฟ้องร้องกันตามมาแน่นอน..!!!
ส่วนแนวคิดเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่..หนีไม่พ้นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ว่า “อัตราค่าโดยสารที่จัดเก็บควรเป็นเท่าใด” หรืออัตราค่าโดยสารสูงสุด 25 บาทตลอดสาย ตามที่ 198 องค์กรผู้บริโภคเรียกร้อง..จะทำให้โครงการไปรอดหรือไม่..!?
ดูเหมือน “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยระยะทาง 28 กิโลเมตร วันนี้จัดเก็บค่าโดยสารเพียง 15-35 บาท ถือว่าต่ำกว่าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว
แต่ดู “แอร์พอร์ตลิงค์” สิ..มีสภาพเป็นอย่างไร น่าจะเป็นที่ประจักษ์กันดี นับแต่เปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน แอร์พอร์ตลิงค์ขาดทุนอย่างหนัก
ถึงขั้นไม่มีเงินจัดซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนตามรอบกำหนด จนถึงขั้นต้องถอดอะไหล่อีกคันมาสลับสับเปลี่ยนเพื่อให้ขบวนรถพอจะวิ่งได้
จนสุดท้ายต้องแถมพ่วงไปกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ในเครือซี.พี. เพราะร.ฟ.ท.ไม่สามารถจะแบกรับภาระได้
กลับมา “ดราม่า 25 บาท” ที่กล่าวอ้างกันว่า เมื่อเป็นโครงการของรัฐ ย่อมกำหนดค่าโดยสารต่ำได้..แต่ทำไมสายสีน้ำเงิน ที่รฟม.ให้สัมปทานกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และสายสีม่วง ที่รฟม.ว่าจ้าง BEM บริหารจัดการและซ่อมบำรุง (O&M)
แต่เก็บค่าโดยสารไว้สูงสุด 44 บาท ทั้งที่รัฐบาลลงทุนค่าก่อสร้างให้หมด..เอกชนเพียงแค่ซื้อรถมาวิ่งให้บริการเท่านั้น ทำไมรฟม.ไม่ลดค่าโดยสารเหลือ 10-25 บาท ให้เป็นตัวอย่างซะเลยล่ะ..!??
ต่างจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ BTS เอกชนต้องแบกภาระลงทุนเอง และหากขยายสัมปทาน 30 ปี ก็ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กทม.อีกกว่า 200,000 ล้านบาทด้วย
เอาเถอะ ตัวเลขเท่าไหร่..มันพูดกันไปได้หมด..!! แต่อย่าลืมว่า “สายสีน้ำเงิน-สีม่วง” กับ “สายสีเขียว” เป็นรถไฟฟ้าเหมือนกันก็จริง..แต่ที่มามันแตกต่างกันนะ..
เชื่อว่าหลายคนก็รู้..แต่เลือกที่จะไม่พูดก็เท่านั้นเอง..!!
…อิ อิ อิ…