‘ทหารไทย’ ถึง ‘ทหารไทยธนชาต’

ที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB วันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงชื่อ “ธนาคารทหารไทย” เป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต” หลังควบรวมกิจการ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การปรับเปลี่ยน “ภาพลักษณ์แบรนด์” (Rebranding) ภายใต้ชื่อทางการค้าว่าทีเอ็มบีธนชาต (TMB Thanachart) และเปลี่ยนชื่อหุ้นจาก TMB เป็น TTB เพื่อสื่อความถึงการรวมพลัง 2 ธนาคารเป็นหนึ่งเดียว โดยอักษร T ตัวแรกคือ TMB (ทหารไทย) และ T ตัวที่สองคือ Thanachart (ธนชาต) ส่วนอักษร B มาจาก Bank (ธนาคาร) นั่นเอง


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

การควบรวมกิจการดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก.! ของธนาคารทั้ง 2 แห่ง โดยธนาคารธนชาต มีการควบรวมกิจการกับ ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) เมื่อช่วงปี 2554  หลังจาก SCIB เปิดดำเนินการมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2584 และมีการควบรวมกับธนาคารศรีนคร ช่วงปี 2545 ที่ผ่านมา ขณะที่ “ธนาคารทหารไทย” มีการควบรวมกิจการกับ 2 สถาบันการเงินของไทย มาแล้วเมื่อปี 2547

“ธนาคารทหารไทย” ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 เปิดดำเนินการเมื่อปี 2500 ที่ถนนราชดำเนิน เริ่มแรกมีพนักงานแค่ 26 คน เงินทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท มีเป้าหมายหลักคือการบริการด้านธุรกรรมการเงินให้กับหน่วยงานทหารและข้าราชการโดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และโชติ คุณะเกษม เป็นผู้จัดการคนแรกของธนาคาร

โดยปี 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้ธนาคารทหารไทย จำกัด เป็นธนาคารพาณิชย์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้มีการเพิ่มทุนครั้งแรกจากจำนวน 10 ล้านบาท เป็นจำนวน 100 ล้านบาทและเพื่อเป็นการขยายช่องทางการระดมทุน ธนาคารได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 23 ธ.ค.2526

จนมาปี 2540 เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ (ต้มยำกุ้ง) ถือเป็นยุคตกต่ำของสถาบันการเงินถึงขีดสุด ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารทหารไทย ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน ทำให้ต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่ม เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการทำให้ธนาคารทหารไทยถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง

นั่นคือการควบรวมกิจการระหว่าง “ธนาคารทหารไทย-ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT)” และใช้ชื่อ “ธนาคารทหารไทย” เช่นเดิม มีผลตามกฎหมายตั้งแต่ 1 ก.ย.2547 เป็นต้นมา การรวมกิจการดังกล่าว ส่งผลให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจรูปแบบธนาคารครบวงจร (Universal Banking) รวมทั้งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลายยิ่งขึ้น ถัดจากนั้นปี 2548 มีการเปลี่ยนภาพลักษณ์ธนาคารใหม่ โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า TMB (Bank Public Company Limited) จากเดิม “Thai Military Bank” (ที่สื่อความหมายว่าธนาคารของทหาร)

ช่วงปี 2550 TMB มีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ING Bank N.V. จำนวน 25,000 ล้านหุ้น ขณะที่กองทัพบก ไม่ได้เพิ่มเงินลงทุนตาม จึงทำให้กองทัพบก มีสัดส่วนถือหุ้น TMB เพียงแค่ 1% โดยผู้ที่ถือหุ้นรายใหญ่สุดคือกระทรวงการคลัง 25% และ ING Bank N.V. 25% แม้ว่าผู้ถือหุ้นหลักจะไม่ใช่กองทัพบก แต่ยังคงใช้ชื่อ “ธนาคารทหารไทย” เช่นเดิม ด้วยความเกรงใจ “กองทัพบก” หรือรักษาความเป็น “รากเง้าธนาคารทหาร” นั่นเอง

จุดที่น่าสนใจคือความเป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต” ครั้งนี้ แตกต่างจากการควบรวมกิจการของธนาคารไทย เมื่อปี 2547 เนื่องด้วยครั้งนั้นเป็นการควบรวมกิจการเพื่อ “หนีตาย” ทั้ง “ดีบีเอสไทยทนุ-IFCT” และกระทั้งตัว “ทหารไทย” เอง.! แต่ครั้งนี้เป็นการควบรวมกิจการเพื่อ “ต่อเติมเสริมความแข็งแกร่ง” ระหว่างฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งของ TMB และความเจนจัดเรื่อง สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) และลีสซิ่ง (Leasing) ของธนาคารธนชาต..!!

การเป็น ONE Team ครั้งนี้จะก่อให้เกิด Financial Well-being ตามเป้าหมายหรือไม่ หลังผ่านพ้นเดือนกรกฎาคมนี้..คงจะได้รู้กัน..!?

Back to top button