ยาขมชื่อ ขึ้นดอกเบี้ยพลวัต2015

มีคนเปรียบเปรยเอาไว้แหลมคมเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่า เสมือนหนึ่งการให้คนไข้กินยาขม หรือไม่ก็ให้สตรีอ้วนสวมสเตย์รัดหน้าท้องเล็กเกินขนาด


มีคนเปรียบเปรยเอาไว้แหลมคมเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่า เสมือนหนึ่งการให้คนไข้กินยาขม หรือไม่ก็ให้สตรีอ้วนสวมสเตย์รัดหน้าท้องเล็กเกินขนาด

โดยข้อเท็จจริง ดอกเบี้ยไม่ได้มีความหมายในตัวของมันเอง เพราะเป็นนามธรรมอย่างมาก แค่ตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดขึ้นมาแต่ละช่วงเวลา คือภาพสะท้อนความแข็งแรงทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องพูดง่ายๆ คือ อัตราดอกเบี้ยสัมพันธ์กับอนุกรมเวลา และสภาพแวดล้อมที่กำหนดขึ้นมาของตลาดเงินแต่ละช่วงเวลา  โดยตั้งอยู่บนรากฐานของช่องว่างระหว่างความต้องการกับการสนองตอบของสภาพคล่องของทุนในตลาด 

ดอกเบี้ยเป็นสัญลักษณ์ของทุน ที่โยงใยกับเวลาอย่างลึกซึ้ง คนที่มีความต้องการใช้เงินในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถหามาได้ จึงต้องกู้ยืมจากผู้ถือ เป็นการเอารายได้ในอนาคตของตนเองมาใช้ล่วงหน้า โดยมีต้นทุนคืออัตราดอกเบี้ย ยิ่งมีความต้องการสูงมากเท่าใด อัตราดอกเบี้ยจะยิ่งทวีคูณ

ในทางกลับกัน คนที่มีทุนหรือเงินออมสะสมไว้มากเป็นคนที่ไม่ใช้ทุนของตนในปัจจุบัน และต้องการหาประโยชน์ในอนาคต จึงปล่อยให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ โดยมีค่าตอบแทนของการให้คนอื่นเอาไปใช้ในรูปของอัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยของตลาด จึงเกิดขึ้นมาจากดุลยภาพของความต้องการ และการสนองตอบของทุน ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่สถาบันการเงินมีบทบาทร้อยรัดกลไกเข้าด้วยกัน ก็มีรายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยที่ซับซ้อน แม้จะยังคงสาระเดิมเอาไว้ นั่นคือดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของคนที่ขาดแคลน และเป็นค่าตอบแทนของผู้ออม

ในทางเศรษฐศาสตร์ ดอกเบี้ยถูกกำหนดจากความแตกต่างของการออม และการลงทุน โดยมีการบริโภคเป็นตัวถ่วง เมื่อใดที่การลงทุนสูงกว่าการออม ดอกเบี้ยจะวิ่งสูงขึ้น เพราะทุนขาดแคลน แต่หากเป็นตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยก็จะหดตัวลง

คำว่าการขึ้นดอกเบี้ยคือยาขมนั้น เอาเข้าจริงแล้วเป็นความเข้าใจฝ่ายเดียวของคนที่มีความต้องการสูงแต่ขาดแคลน ที่ต้องรับสภาพอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่คนที่การออมล้นเหลือ นี่คือขาขึ้นของผลตอบแทนที่พึงได้รับ

ช่วงเวลาอัตราดอกเบี้ยขาลง ความเข้าใจฝ่ายเดียวของคนที่ขาดแคลน ก็คือการผ่อนคลายของคนที่มีภาระหนี้ แต่ในมุมตรงข้าม มันคือผลตอบแทนที่ถดถอยของผู้มีเงินออม

ปัจจุบัน การขึ้นและลงของอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้เป็นแค่การชักเย่อทางผลประโยชน์ระหว่างคนที่ขาดแคลนกับคนที่มีเงินออมล้นเกินอย่างเดียว เพราะอัตราดอกเบี้ยกลายเป็นตัวกำหนดค่าเงินสกุลเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เนื่องจากการควบคุมการไหลเวียนของทุนข้ามประเทศแบบในอดีต เป็นกลไกที่พ้นยุคไปแล้ว

ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ธนาคารกลางไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องดูแลค่าเงินสกุลของประเทศไม่ให้แข็งเกิน หรืออ่อนเกิน จนกระทบต่อการค้าและการลงทุน

อัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่าชาติรอบข้าง จะทำให้เงินทุนไหลเข้าจากการทำแครี่เทรดของกองทุนเก็งกำไร จนกระทั่งเงินทุนไหลเข้าแรง ค่าเงินแข็งมากเกินขนาด ส่งผลเสียต่อดุลการค้าและการส่งออก แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะทำให้ทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนเกินไป ส่งผลเสียต่อการลงทุนภาคการผลิต ต่อตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของประเทศขนาดเล็ก

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดฯต้องเผชิญหน้ากับภารกิจที่ยากลำบากของโครงสร้างที่เรียกกันว่า ไตรภาวะของความเป็นไปไม่ได้ (impossibility trinity)ซึ่งหมายถึง การถ่วงดุลระหว่าง นโยบายทางการเงินที่เป็นอิสระ การไหลเข้าออกของทุน และการกำกับควบคุมปริมาณเงินให้เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์รอบด้านที่ไม่มีสูตรสำเร็จ

9 ปีที่ผ่านมา นับแต่แต่ก่อนวิกฤตซับไพรม์ เฟดฯได้มองเห็นสัญญาณถดถอยของเศรษฐกิจรุนแรงจึงลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เฟด ฟันด์ เรต) จนต่ำแค่ 0.25% มาถึงปัจจุบัน ด้วยเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้มีเงินออมได้รับความเสียหายอย่างหนักจากดอกเบี้ยต่ำของตลาดเงิน จนต้องเลี่ยงเข้าไปหาประโยชน์จากเงินออมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากตลาดทุนแทน แม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่า

ผลจากการที่นักลงทุนย้ายเงินออมไปยังตลาดทุน ไม่เพียงทำให้ดัชนีดาวโจนส์ และ S&P500 ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นขาขึ้นยาวไม่เคยหยุดพักจริงจัง 6 ปีเศษ นานที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์วอลล์สตรีท (จนกระทั่งเมื่อ 2 เดือนมานี้เองที่เริ่มโรยตัวลงมาเพราะข่าวขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯ) หากยังมีผลทำให้เม็ดเงินที่รั่วไหลจากมาตรการ QE ของเฟดฯเอง กระจายตัวไปตลาดเก็งกำไรทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ วิ่งขึ้นเป็นขาขึ้นยาวนานสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ

ในยามยากลำบาก ค่าดอลลาร์ของสหรัฐฯถูกเสียงค่อนแคะว่ามีมูลค่าสูงเกินจริงมากกว่า 25-30% แต่สถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนไปแล้วในเชิงยุทธศาสตร์ที่ค่าดอลลาร์ต้องแข็งด้วยแรงขับเคลื่อนของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ด้านหนึ่งทำให้ตลาดพันธบัตรกลายเป็นขาขึ้น และดอลลาร์จะไหลกลับสหรัฐฯ ทิ้งให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ ร่วงผล็อย พร้อมกับคำถามว่า การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯจะเข้มข้นแค่ไหน และอย่างไร

ข้อเท็จจริงที่กรรมการเฟดฯส่วนใหญ่ไม่ว่าสายเหยี่ยวหรือสายพิราบยอมรับคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่เคยทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ แต่การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ทำให้ฟองสบู่ตลาดหุ้นเกิดขึ้น และนำไปสู่ภาวะล่มสลายได้ง่ายกว่า หากการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีปัญหา ก็จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นมากเพราะผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย จะเข้ามากลบเกลื่อนปัญหาในภายหน้า ในขณะที่ปัญหาของชาติอื่นๆ นั้น ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของเฟดฯ เพราะเฟดฯคือธนาคารกลางปกป้องประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก

ยาขมของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯ จึงเป็นเส้นทางเศรษฐกิจขาขึ้นของสหรัฐฯที่ต้องเผชิญ แม้ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้นักเก็งกำไรจำนวนมากขาดทุนทมหาศาลก็ตาม

Back to top button