ปล้นบริษัทมหาชนขี่พายุ ทะลุฟ้า

เมื่อฉบับวันศุกร์ที่แล้ว ผมเขียนถึง“ซุปเปอร์ (บอร์ด) เพ้อเจ้อ” ที่จะมีการนำเอาบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เป็นมหาชน และบริษัทมหาชนที่เป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 12 แห่ง มาจัดตั้งเป็นซุปเปอร์ โฮลดิ้ง


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

เมื่อฉบับวันศุกร์ที่แล้ว ผมเขียนถึง“ซุปเปอร์ (บอร์ด) เพ้อเจ้อ” ที่จะมีการนำเอาบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เป็นมหาชน และบริษัทมหาชนที่เป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 12 แห่ง มาจัดตั้งเป็นซุปเปอร์ โฮลดิ้ง

ใช้ชื่อว่า “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ”

เกิดเสียงสะท้อน อันเป็นปฏิกิริยาจากบทความขึ้นมาพอสมควร ความเห็นสนับสนุนก็มีอยู่บ้าง แต่เสียงคัดค้านมีมากกว่า

กลัวจะเป็นรายการเผาบ้าน เพื่อฆ่าหนูตัวเดียว(อีกแล้ว)

วันนี้ ก็จะขอขยับเขียนถึงอีกสักดอก เป็นข้อคิดมาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่ถ่ายทอดมายังผม ฟังดูแล้ว ก็น่าหนักใจอยู่ไม่น้อยว่า…

มันจะเป็นการปล้นกลางแดดบริษัทมหาชนเอา

12 บริษัท ที่จะนำมาจัดตั้งเป็นซุปเปอร์ โฮลดิ้งในชั้นแรก เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯล้วน

อันประกอบไปด้วย ปตท., ปตท.สผ., พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ไทย ออยล์, ไออาร์พีซี, บางจากปิโตรเลียม, บริษัทผลิตไฟฟ้า, ผลิตไฟฟ้าราชบุรี, ธนาคารกรุงไทย, การบินไทย, อสมท  และบริษัทท่าอากาศยานไทย

พิจารณาดูดีๆ นะครับ ใน 12 บริษัทดังกล่าว แยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และกลุ่มที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ

เกณฑ์กำหนดว่า บริษัทใดเป็นรัฐวิสาหกิจ ยึดเอาเกณฑ์ว่า กระทรวงการคลังถือหุ้นกว่า 50%

หากมีกระทรวงการคลังถือหุ้นไม่ถึง 50% หรือไม่มีกระทรวงคลังถือหุ้นอยู่เลย ก็ไม่ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ

แม้จะเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่สามารถจะเหมารวมว่าเป็นรัฐวิสาหกิจได้

กรณีตัวอย่างก็คือ ในกลุ่มของปตท. คงมีเพียงปตท.เท่านั้น ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินกว่า 50%

ส่วนบริษัทลูกที่ปตท.ถือหุ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนเท่าใด ถือเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หาได้เป็นรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใดไม่

รัฐบาลหรือกระทรวงการคลัง ไม่สามารถจะใช้อำนาจบีบบังคับให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใดได้

 บริษัทลูกในกลุ่มปตท. ที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ได้แก่ ปตท.สผ., พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ไทย ออยล์, ไออาร์พีซี และบางจากปิโตรเลียม

เช่นเดียวกับบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งยังคงฐานะรัฐวิสาหกิจ อันได้แก่ .ผลิตไฟฟ้า และบ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ก็ถือเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวแล้วครับ

ไม่ใช่เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลจะบีบบังคับให้เอาไปรวมหรือไปขึ้นสังกัดใหม่กับใครต่อใครตามใจปรารถนาได้

สำหรับธนาคารกรุงไทย, การบินไทย, อสมท  และบริษัทท่าอากาศยานไทย ก็ตามนั้น คือมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลสามารถจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้

แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า แม้จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ยังมีอีกฐานะหนึ่งก็คือ บริษัทจดทะเบียน ซึ่งอยู่ภายใต้พ.ร.บ.บริษัทมหาชน และพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

ซึ่งการจะทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างมีนัยสำคัญ ก็ต้องใช้มติของผู้ถือหุ้น อันมีทั้งตัวแทนรัฐบาล กองทุนทั้งไทยและเทศ และผู้ถือหุ้นรายย่อย

ยิ่งบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจที่เป็นเอกชน รัฐบาลไม่มีอำนาจบังคับโดยเด็ดขาด ที่จะกวาดต้อนบริษัทเหล่านี้ เข้ามาอยู่ในซุปเปอร์ โฮลดิ้ง ที่จะจัดตั้งขึ้นมา

อยู่ๆ จะไปบีบบังคับให้โอนเข้ามารวมตัวกัน คงไม่ได้ ต้องทำการเปิดประชุมผู้ถือหุ้น และคิดหรือว่า ผู้ถือหุ้นทั้งหลายจะยอม

หากยังขืนดึงดันจะเอามาควบรวมให้ได้ ทั้งที่ไม่มีอำนาจโดยชอบ ก็ต้องเรียกว่าเป็นการปล้นชิงสิทธิและทรัพย์มหาชนกันดื้อๆ

ความข้อนี้ บรรดากูรูทั้งหลาย ที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือจะออกกฎหมายและจัดตั้งซุปเปอร์ โฮลดิ้ง อาทิ บรรยง พงษ์พานิช, วีรไทย สันติประภพ, รพี สุจริตกุล และ กุลิศ สมบัติศิริ น่าจะรู้อยู่แก่ใจดี

ดำริ “ซุปเปอร์ โฮลดิ้ง” คือ รายการ “ปล้นกลางแดด”ชัดๆ

Back to top button