สบช่องเก็บแบงก์
วานนี้หุ้นธนาคารพาณิชย์พากันร่วงแบบเหมาเข่งหรือยกกลุ่ม
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
วานนี้หุ้นธนาคารพาณิชย์พากันร่วงแบบเหมาเข่งหรือยกกลุ่ม
นำโดยแบงก์ขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ลงค่อนข้างหนัก คือ BBL KBANK และ SCB ส่วน กรุงไทย หรือ KTB ปรับลงไม่แรงนัก
ปัจจัยหลัก ๆ มาจาก 2 ประเด็น
เริ่มจากคณะรัฐมนตรีได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ไปประสานกับธนาคารต่าง ๆ เพื่อขอขยายเวลามาตรการพักหนี้ออกไปอีก หรือเป็นสิ้นปี 2564
และอีกเรื่องที่น่าจะสำคัญสุด คือ การเลื่อนใช้เกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.)
เริ่มจากเรื่องแรก
เท่าที่ได้ดูงบการเงินของธนาคารพาณิชย์สิ้นสุด ณ ไตรมาส 1/2564
และสอบถามจากนักวิเคราะห์
ส่วนใหญ่ยังมองว่า แบงก์ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรมากนักจากโควิด-19 ระลอกใหม่
ทุกคนต่างมองว่า “นายแบงก์” ต่างมีประสบการณ์จากโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในปี 2563 กันแล้ว
ทีมบริหารความเสี่ยงของแบงก์ต่างประเมินความเสี่ยงที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น หรืออาจจะเป็นความเสี่ยงที่อยู่นอกเหนือคาดการณ์ไว้หมดแล้ว
ดังนั้น เราจึงเห็นแบงก์ เช่น KBANK BBL SCB และ KTB
ทั้งหมดนี้ต่างตั้งสำรองระดับสูง (มาก) ในปี 2563
ผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ที่ออกมา แล้วมีกำไรมากกว่าที่นักวิเคราะห์ นักลงทุนคาดกันไว้
นั่นก็มาจากปีก่อนหน้าแบงก์ต่าง ๆ ได้ตั้งสำรองระดับสูงมาก
ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ ทุกแบงก์มีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองลดลง ส่งผลกำไรเพิ่มขึ้นกันเกือบถ้วนหน้า
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงประมาณการผลประกอบการของหุ้นแบงก์ปีนี้ไว้เช่นเดิม
คือ ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น หรือปรับลดคาดการณ์ลงอย่างมีนัยสำคัญ
เช่น นักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า โควิด-19 ระลอกใหม่กดดันผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 2/2564 บ้าง แต่ภาพรวมทั้งปี 2564 ยังฟื้นตัวดี
กำไรไตรมาส 2/2564 อาจจะอ่อนตัวลงบ้าง กับการระบาดของโควิด-19 และส่งผลให้ธนาคารอาจจะปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ (ECL) ขึ้นบ้างเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์
แม้จะคาดว่าคุณภาพหนี้อาจไม่แย่ลงรุนแรงเหมือนเช่นในปี 2563
ทว่าในด้าน “รายได้ค่าธรรมเนียม” ที่เป็นปัจจัยบวกที่โดดเด่นในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากได้ปัจจัยหนุนจากตลาดทุนที่ปรับตัวขึ้น จึงคาดว่าไตรมาส 2 จะโดดเด่นน้อยลงตามภาวะตลาดที่ชะลอตัว
ทรีนีตี้ ยังระบุอีกว่า การตั้งสำรอง “ส่วนเกิน” ที่ธนาคารต่าง ๆ ได้สะสมมาค่อนข้างมากในปี 2563 ทำให้คาดว่าภาพรวมปี 2564 ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองจะลดลง และดันกำไรทั้งกลุ่มเติบโต 19%
มาถึงอีกประเด็นที่กดดันหุ้นแบงก์วานนี้
คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งผลการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) การปรับเกณฑ์การคำนวณดัชนีด้วยวิธี Free Float Adjusted Market Cap
เรื่องนี้ ตลท. ให้เหตุผลว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมากต่อเกณฑ์ปรับน้ำหนัก SET50-100 ใหม่
ทำให้ตลาดฯ เลือกชะลอการใช้ออกไปก่อน
หากจำกันได้
ในช่วงของการเตรียมใช้เกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่นั้น
โบรกฯ หลายค่ายต่างดีดลูกคิดคำนวณหาหุ้นว่ามีหุ้นตัวไหนได้หรือเสียจากการปรับเกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่
ผลด้านบวกที่ออกมาคือ กลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ นำโดย BBL SCB และ KBANK
เพราะกองทุนต่าง ๆ น่าจะมีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นแบงก์ต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้น จึงเข้ามาเก็งกำไรกันสนุกสนาน
ทว่า เมื่อตลท.เลื่อนออกไป (หรืออาจจะยกเลิกไปเลย)
ทำให้เป็นช่องในการขายทำกำไร หรือปรับลดความเสี่ยงกันออกมาจ้าละหวั่นเมื่อวานนี้
เราจึงเห็นหุ้นแบงก์ที่เป็นเป้าหมายเชิงบวกต่อเกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่ ราคาต่างดิ่งพสุธากันหมด
ส่วนตัวอื่น มีปรับลงบ้างไปตามภาวะตลาด
นั่นแสดงให้เห็นว่า หุ้นแบงก์ที่ลงวานนี้ น่าจะมาจากปัจจัยเรื่องเลื่อนใช้เกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่เป็นหลัก และประเด็นเรื่องขยายพักหนี้ออกไป เป็นประเด็นรองลงมา
การเลื่อนใช้เกณฑ์ฟรีโฟลต ไม่ได้กระทบหรือเกี่ยวกับพื้นฐานของหุ้นแบงก์
จึงน่าจะเป็นจังหวะเหมาะช่วงที่ราคาลงแรง
เข้าไปทยอยสะสมได้