ปิดปากลดเหลื่อมล้ำทายท้าวิชามาร

“เรายังไม่พยายามค้นหาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในเมืองไทย .......ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ระหว่างคนที่นิยมประชาธิปไตยหรือไม่นิยมประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของความยากจน ความไม่ยุติธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำในสิทธิและโอกาส และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน และแม้แต่ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง”


“เรายังไม่พยายามค้นหาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในเมืองไทย …….ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ระหว่างคนที่นิยมประชาธิปไตยหรือไม่นิยมประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของความยากจน ความไม่ยุติธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำในสิทธิและโอกาส และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน และแม้แต่ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง”

อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ปาฐกถาเรื่อง New Normal ธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย มีบางประเด็นที่ผมเห็นด้วย บางประเด็นไม่เห็นด้วย กล่าวโดยสรุป อานันท์เข้าใจปัญหามากกว่ารัฐบาลทหาร แต่ก็เข้าไม่ถึงสาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกอยู่ดี

เมื่อวันอาทิตย์ นายกรัฐมนตรีเพิ่งเปิดงาน  “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดึงหอการค้า และภาคประชาสังคม นำโดยหมอประเวศ วะสี มาประกาศนำประเทศออกจากวิกฤติด้วยทฤษฎีสามเหลี่ยมใต้ภูเขา

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามอย่างจริงจังที่จะ “ลดความเหลื่อมล้ำ” แก้ปัญหาความยากจน ไม่ว่านโยบายระยะยาวหรือระยะสั้น อย่างการฟื้น “ประชานิยม” กองทุนหมู่บ้าน ตำบลละ 5 ล้านเพื่อแสดงให้เห็นว่า “รัฐประหารกินได้” ไม่ให้ประชาชนผู้ยากไร้ จน โง่ “ตกเป็นเหยื่อ” นักการเมืองชั่วอีกต่อไป

แต่ความพยายามทำให้เห็นว่า “รัฐประหารกินได้” สู้กับ “ประชาธิปไตยกินได้” มองข้ามหรือแกล้งๆ เมินเรื่องสำคัญ 2 ประการคือ หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจความยากจน แต่มีอีกหลายด้านอย่างที่อานันท์พูดและมากกว่าอานันท์พูด เช่นความไม่ยุติธรรมในสังคม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน

ความเหลื่อมล้ำไม่สามารถแก้ไขได้ภายใต้โครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โครงสร้างที่รัฐราชการเป็นใหญ่ กองทัพ ตุลาการ ฝ่ายความมั่นคง มีอำนาจเหนือประชาชน แน่ละ เราไม่ควรให้นักการเมืองจากเลือกตั้งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่อำนาจตรวจสอบถ่วงคานต้องกระจายไปอยู่ที่ประชาชน ต้องลดอำนาจรัฐ ลดขนาดรัฐ ไม่ใช่เป็นรัฐที่อุดมด้วยนายพลและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

สอง “รัฐประหารกินได้” เป็นความคิดที่ล้าหลังไป 9 ปี ไม่ทำเสียตั้งแต่ปี 49 ซึ่งโง่เขลาขนาดให้ระบบราชการเข้าไปไล่รื้อดูแลกองทุนหมู่บ้านและ SML ที่รัฐบาลไทยรักไทยมอบให้ชาวบ้านดูแลกันเอง

9 ปีผ่านไป ความขัดแย้งพัฒนาไปเกินความยากจนเหลื่อมล้ำ กลายเป็นความไม่พอใจต่อความอยุติธรรม ความลำเอียง 2 มาตรฐาน เกิดการต่อสู้ทางการเมืองที่มีลักษณะชนชั้น

คนจนคนชนบทจำนวนมากยกระดับจากคนที่เลือกพรรคการเมืองเพราะได้ประโยชน์ มาเป็นมวลชนที่มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่ถูกยุบถูกยึดอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม แต่เป็นอำนาจของพวกเขาที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง ถูกยุบถูกยึดถูกแย่งไป เมื่อไม่พอใจและลุกขึ้นทักท้วง ก็กลายเป็นพวกเขาที่ถูกกระทำ ถูกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน

ที่อานันท์พูดว่า “ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ระหว่างคนที่นิยมประชาธิปไตยหรือไม่นิยมประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของความยากจน” จึงผิดสิ้นเชิง วันนี้เป็นเรื่องการทวงสิทธิเท่าเทียม ความเสมอภาค และความยุติธรรม

ความพยายามแก้ปัญหาความยากจนลดเหลื่อมล้ำ จะแก้ความแตกแยกได้อย่างไร ในเมื่อคนฝ่ายหนึ่งติดคุกติดตะราง แต่แกนนำอีกข้างเคยนำม็อบไล่ตำรวจ เกือบสมัครเข้าตำรวจได้ นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ

อย่างไรก็ดี อานันท์พูดถูกที่ว่า “สังคมจะอยู่ไม่ได้ในอนาคตหากความสงบนั้นเกิดจากกฎหมายที่เข้มงวด มีมาตรการทำให้คนพูดไม่ออกหรือพูดไม่ได้” อานันท์ควรขยายคำพูดตัวเองให้สังคมตระหนักมากขึ้น

Back to top button