แพะ กับโควิด-19
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ป่วย และเสียชีวิตพุ่งทะยานชนิด ”เอาไม่อยู่” นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา นอกจากทำให้เกิดความกังวลไปทั่วว่า การระบาดจะไม่จบสิ้นโดยง่าย
พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ป่วย และเสียชีวิตพุ่งทะยานชนิด “เอาไม่อยู่” นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา นอกจากทำให้เกิดความกังวลไปทั่วว่า การระบาดจะไม่จบสิ้นโดยง่าย
แม้ว่าทางรัฐบาลและหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงจะออกมาบอกว่ายังรับมือไหว และจะไม่มีการล็อกดาวน์ (ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบที่รุนแรง) แต่ยามนี้ความเป็นไปได้ ที่จะต้องนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ดูเหมือนรอเวลาประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง
ความหวาดกลัวที่แพร่กระจายไปของประชาชน กลายเป็นเรื่องปกติจนต้องคาดหวังในทางลบว่า ความเป็นไปได้ที่จะเห็นดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย ร่วงหลุดลงไปใต้ 1,500 จุด มีโอกาสสูงมาก
ล่าสุดวานนี้ในการแถลงข่าวของพญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ได้เปิดเผยข่าวร้ายเพิ่มเติมอีกว่า พบหญิงไทยอายุ 42 ปี ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ อาศัยอยู่ที่ประเทศปากีสถาน และเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 พร้อมกับลูกชาย 3 คน โดยแวะพักเครื่องที่ดูไบ เมื่อมาถึงประเทศไทย ได้แยกกักตัวหญิงรายนี้กับลูกชายวัย 4 ขวบ ที่ห้องหนึ่ง ส่วนลูกชายอีก 2 คน กักไว้อีกห้องหนึ่ง แล้วตรวจหาเชื้อ พบว่า แม่กับลูกวัย 4 ขวบ ติดเชื้อ ส่วนลูกอีก 2 คน ไม่ติดเชื้อ
หญิงรายนี้กับลูกชายวัย 4 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย B1 6.7.1 ซึ่งสายพันธุ์นี้มีการแพร่ระบาดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ขณะนี้เริ่มมีการแพร่ขยายไปยังปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล อังกฤษ เยอรมนี อเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และบาห์เรน แต่ที่สำคัญสายพันธุ์นี้ มีโอกาสกลายพันธุ์ซึ่งสามารถต้านทานวัคซีน “โคแวค” ที่เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน
ผลจากการแพร่ระบาดข้ามพรมแดนเข้ามาของโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่น่าสยดสยองเพราะในขณะที่อินเดียกำลังมีตัวเลขแพร่ระบาดรายวันเกินกว่าวันละ 2 แสนกว่าราย (ตัวเลขล่าสุดปาเข้าไปถึง 22,662,575 ล้านคน และจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว ทำสถิติใหม่ตลอดเวลา
ความน่าสะพรึงกลัวของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ได้นี้ ทำให้เกิดคำถามว่า วัคซีน “โคแวด” ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่รัฐบาลไทยให้การรับรองและกำลังจัดหาให้คนไทยไปฉีด โดยยอมรับความเสี่ยงเรื่อง “เลือดแข็งตัว” (เป็นอันตรายต่อคนเป็นโรคหัวใจอย่างร้ายแรง) จะป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
นี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึงวัคซีน “ซิโนแวค” จากจีนที่ไห้ผลต่ำกว่า
ประเด็นนี้ ทำให้เมื่อวานนี้ในการประชุมคณะทำงานอีกรายของรัฐบาลไทย คือที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข จึงกำชับให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสูงสุดเกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์
ทางด้าน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศชะลอการออกเอกสารเดินทาง หรือ COE ให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากอินเดียแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม จะชะลอการออกเอกสาร COE ให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียเพิ่มเติมหรือไม่ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการนำคนไทยในอินเดียกลับบ้าน อย่างเช่น เที่ยวบินพิเศษที่เดินทางมาถึงไทยวันที่ 8 พ.ค.2564 เวลา 16.40 น. เป็นคนไทยทั้งหมด 74 คน แบ่งเป็นชาย 54 คน หญิง 20 คน พักอาศัยอยู่ในหลายเมืองของอินเดีย เมื่อมาถึงประเทศไทย ได้เข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 38 คน และสถานกักกันทางเลือก 36 คน
ความเข้มงวดดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุสำคัญที่รัฐบาลไทยยังคงนำชีวิตคนไทยไปสู่หลุมดำของความเสี่ยงที่ต้นเหตุของปัญหา นั่นคือ การกระจายวัคซีน “โคแวค” และ “ซิโนแวค” ที่ล่าช้า สะท้อนถึงความละเลยไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนอย่างไม่สมควรให้อภัยเลย
ยอดผู้รับการฉีดวัคซีนทั้ง “โคแวค” และ “ซิโนแวค” ในประเทศที่ต่ำกว่า 3 แสนคน เทียบกับ จำนวนประชากร 70 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 1 สะท้อนถึงความรับผิดชอบในการกระจายวัคซีนที่ต่ำมาก เทียบกับค่าเฉลี่ยของการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่มีไปแล้วจำนวนทั้งหมดที่แจกจ่าย 167.493 ล้านโดส มีคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว 34.127 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนของประชากร 2.5%
ท่ามกลางความล่าช้าของการกระจายวัคซีนในประเทศ มีเสียงเรียกร้องทั้งจากภาคเอกชนและประชาชนที่ต้องการให้เร่งนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศเข้ามาเร่งกระจายให้ ประชาชนโดยยอมเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่ก็ยังไม่มีความหวังเพราะขั้นตอน “เรดเทป” ของประเทศไทยที่ต้องให้คณะกรรมการ อย.รับรองเสียก่อน
จนถึงขณะนี้ อย. ยังไม่มีคำตอบว่าจะประชุมพิจารณาวัคซีนนอกเหนือจาก “โคแวค” และ “ซิโนแวค” เมื่อใด และจะอนุมัติหรือไม่
คนไทยจึงถูกรัฐบาล “จับเป็นตัวประกัน” ในฐานะ “แพะ” ที่ไม่สามารถจะบ่นว่าใครได้ เพราะซัพพลายเออร์ที่จะทำการผลิตวัคซีน “โคแวค” ให้กระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังคงเงียบกริบ ไร้ข่าวคราวเกี่ยวกับความคืบหน้า
หากย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 27 พฤศจิกายน ปีก่อน มีการแถลงข่าวใหญ่โตที่ให้ความหวังน่าปลื้มปิติแก่ประชาชนไทย นำโดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ให้เข้าร่วมดำเนินการบรรจุและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19
วันนั้นมีพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่ทำเนียบรัฐบาลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานความร่วมมือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยรัฐบาลคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ในปี 2564
พลเอกประยุทธ์ย้ำวันนั้นว่า ถ้าวัคซีนผลิตได้สำเร็จ ประเทศไทยพร้อมรับมาดำเนินการทันที และนอกจากแจกจ่ายในประเทศแล้วยังจะทำให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้ประชากรในภูมิภาคอาเซียนเข้าถึงด้วย
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ให้ความเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯ สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนกว่า 2 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดส ให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคน ได้ภายในกลางปี 2564
มติ ครม. ดังกล่าวระบุว่าสัญญาจองและจัดซื้อนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปี 2564 และจะลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท
ความคาดหวังและปลิ้มปิติดังกล่าว ไม่รู้ว่า ยามนี้ล่องลอยอยู่ที่ใด เพราะในยามที่อัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพิ่มทวีขึ้นนั้น กลับไร้ข่าวคราวจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีฐานะเป็น “นักแสวงค่าเช่าส่วนเกิน” หรือ economic rent seeker ตัวจริงเสียงจริงจากโควิด-19 ยามนี้
วังเวงยิ่งนักกับ บทรำพึงข้างป่าช้า