พาราสาวะถี
ประเด็นวัคซีนยังคงมีมุมให้พูดถึงต่อเนื่อง ล่าสุด เป็นกรณี นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการหนึ่งพูดถึงองค์การเภสัชกรรมหรืออภ.คิดค่าบริหารจัดการวัคซีนทางเลือกร้อยละ 10 เพิ่มเติมจากค่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ร้อนถึง นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการอภ.ต้องรีบออกมาปฏิเสธทันควัน ยืนยันไม่มีการหักค่าหัวคิวดังกล่าวล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่มีวันหากินบนความทุกข์ของประชาชน
อรชุน
ประเด็นวัคซีนยังคงมีมุมให้พูดถึงต่อเนื่อง ล่าสุด เป็นกรณี นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการหนึ่งพูดถึงองค์การเภสัชกรรมหรืออภ.คิดค่าบริหารจัดการวัคซีนทางเลือกร้อยละ 10 เพิ่มเติมจากค่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ร้อนถึง นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการอภ.ต้องรีบออกมาปฏิเสธทันควัน ยืนยันไม่มีการหักค่าหัวคิวดังกล่าวล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่มีวันหากินบนความทุกข์ของประชาชน
คงเป็นเรื่องที่ผู้เปิดเผยต้องไปทำความเข้าใจกับอภ.กันเอง เพราะประเด็นวัคซีนทางเลือกหรือการนำเข้าวัคซีนของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลภาคเอกชนนั้น เป็นสิ่งที่มีรายละเอียดปลีกย่อยกันอยู่พอสมควร แต่ไม่ว่าอย่างไร เงื่อนไขของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนก็คือ ขายให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานในสังกัดรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ เท่านั้น ด้วยเหตุผลไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว ซึ่งในประเทศไทยก็มีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ดำเนินการแทน
แต่ไม่ว่าจะเกิดเรื่องใดขึ้น คำถามที่ยังคงเป็นที่คาใจของคนส่วนใหญ่ก็คือ รัฐบาลบริหารจัดการเรื่องวัคซีนผิดพลาดใช่หรือไม่ คำตอบหลังการประชุมครม.วันวานของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคงอธิบายได้ดีที่สุดว่า ไม่รู้สึกรู้สาถึงเสียงวิจารณ์ดังกล่าว พร้อมประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ งานถนัดคือการสร้างภาพและขับเน้นตามรูปแบบรัฐราชการ ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เดินไปล่วงหน้าแล้วหลายก้าว ยิ่งวัคซีนที่ท่านผู้นำพยายามโฆษณาชวนเชื่อ กลับไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนแต่อย่างใด
เห็นได้จากตัวเลขของการเปิดให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมจนถึงเวลานี้เกือบจะครึ่งเดือนจากเป้าหมาย 16 ล้านรายเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค มีผู้ลงทะเบียนเพียงหลักล้านกว่าราย มากที่สุดคือในพื้นที่กทม. 5 แสนกว่าราย ตรงนี้ถึงเป็นภาวะจำยอมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่หนักหน่วงรุนแรงเวลานี้ เข้าใจได้ว่ามาถึงเวลานี้แล้วจะให้ไปหาวัคซีนที่ไหนมาเป็นทางเลือกหรือให้ประชาชนเลือกได้
มีเท่านี้และเลือกไม่ได้ก็ต้องใช้กันไปก่อน เมื่อโจทย์เป็นเช่นนั้น มันจึงอยู่ที่มาตรการประชาสัมพันธ์จะทำให้ประชาชนเชื่อถือเชื่อมั่นอย่างไร กรณีการให้ 3 คณบดีของสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศอย่าง ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาจักรีนฤบดินทร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ มากระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันฉีดวัคซีน ด้วยภาษาทางการแพทย์และใช้ต้นทุนของทั้งบุคคลทั้งสามและสามสถาบันถือว่าเป็นวิธีการที่ใช้ได้ แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
เรื่องของพรีเซ็นเตอร์หรือเซเลบที่มีต้นทุนทางสังคมของแต่ละกลุ่ม มีความจำเป็นที่จะต้องขอแรงให้ช่วยมาฉีดเพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งในกรณีนี้ต่อให้มีค่าตอบแทนมหาศาลก็ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นจะมีใครกล้ามาหรือไม่ ดังนั้น เมื่อภาพในลักษณะเช่นนี้ไม่เกิด มีเพียงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ รัฐมนตรีและข้าราชการทั้งหลายมาเป็นตัวชูโรง ความร่วมมือที่อยากได้จึงเกิดน้อย อย่าลืมเป็นอันขาด ยุคโซเชียลมีเดียนั้นประชาชนแทบทุกคนสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญได้
กรณีทัวร์ไปฉีดวัคซีนต่างประเทศ ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่นั่นก็เป็นทางเลือกของคนมีเงิน และยิ่งไปเพิ่มภาพของความเหลื่อมล้ำหนักเข้าไปอีก ไม่แน่ใจว่ากับความเคลื่อนไหวอีกด้านที่เกิดขึ้นเวลานี้คือ มีการไปติดต่อกับบรรดาคนมีฐานะทั้งหลายในกทม.และปริมณฑลว่า มีวัคซีนของโมเดอร์นามาให้ฉีดโดยคิดค่าบริการแล้วแต่สถานพยาบาลที่คนมีเงินพร้อมจ่าย ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงก็จะเกิดเป็นคำถามตัวโตตามมาอีกว่า เอกชนเจรจาซื้อมาได้ แล้วทำไมภาครัฐถึงไม่มีปัญญาเจรจาหาซื้อมาเป็นทางเลือกให้ประชาชน
หรือวัคซีนอันเป็นที่ยอมรับในวงกว้างจะต้องตกเป็นของผู้มีฐานะเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึง หรือรัฐบาลไม่สามารถจัดหามาฉีดฟรีให้คนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ดังนั้น ปัญหาความร่วมมือในการฉีดวัคซีนของประชาชน จึงไม่ใช่มีแค่ว่ามั่นใจต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลได้แสดงความจริงใจและพยายามสร้างทางเลือก เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกมากขนาดไหน แค่วัคซีนมี 2 ยี่ห้อยังเลือกไม่ได้ เช่นนี้จะให้ยอมรับกระบวนการบริหารจัดการของฝ่ายกุมอำนาจได้อย่างไร
เอาแต่เรียกร้องทำตัวเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศกำลังเผชิญคือวิกฤติ ขอให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือร่วมใจ ยุติความขัดแย้งไว้เพื่อพาบ้านเมืองไปข้างหน้า ทว่าคนก็ถามหาความรับผิดชอบหรือสำเหนียกของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อการแต่งตั้งผู้ที่มีประวัติด่างพร้อยเข้ามาร่วมรัฐบาล ไม่คิดจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นแบบอย่างบ้างเลยหรือ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของการยึดเอาผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นที่ตั้งมากกว่าต้องการการยอมรับจากประชาชนเหมือนกัน
เอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าปราบโกงหรือแม้แต่ตัวบทกฎหมายที่ทำคลอดมาโดยองคาพยพของเผด็จการสืบทอดอำนาจ ผ่านการพิสูจน์มาหลายครั้งหลายหนแล้วว่ามันเป็นเพียงแค่วาทกรรมสร้างภาพให้ดูดี หาได้นำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงได้ไม่ มิติทางการเมืองที่ว่าด้วยนักการเมืองและพรรคการเมืองผ่านกระบวนการดูดและแจกกล้วยงูเห่าเป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดที่สุด บรรดาคนดีทั้งหลายที่อ้างเรื่องปฏิรูปจนนำไปสู่การยึดอำนาจของคสช.น่าจะช่วยกันออกมาตอบหน่อยว่ายอมรับกับสิ่งที่เป็นไปแบบนี้ได้หรือ
อีกด้านคงจะคาดหวังกับคนเหล่านั้นได้ยาก เพราะความมืดบอดจากอคติที่มีอยู่ในตัว ถึงขนาดยอมรับหัวขบวนของม็อบนกหวีดเรียกรัฐประหารเวลานั้นว่าเป็นคนดีที่สุดในประเทศแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นอีก ความจริงก็น่าจะซึมซับกันมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว กับสิ่งที่ถูกเรียกว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่สุดท้ายกลายเป็นตุลาการวิบัติ ขนาดองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ความหวังของสังคมยังเป็นเสียแบบนี้ อย่างอื่นที่เหลือก็คงหวังอะไรไม่ได้อีกแล้ว