DELTA พระเอกหรือผู้ร้าย
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ ดัชนีปิดร่วงลง 7.08 จุด ปิด 1,571.85 จุด
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ ดัชนีปิดร่วงลง 7.08 จุด ปิด 1,571.85 จุด
มูลค่าการซื้อขายยังหนาแน่นกว่า 117,160 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่หุ้น DELTA บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
อย่างวานนี้ราคาปิด 558.00 บาท บวก 94.00 บาท เปลี่ยนแปลง +20.24% มูลค่าการซื้อขายกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 1 กว่า 9,545 ล้านบาท
หุ้น DELTA กลับมาวิ่งคึกคัก นับตั้งแต่ที่ตลาดหลักทรัพย์เลื่อนการใช้เกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่ออกไปนั่นแหละ
หลังจากผลการเฮียริ่งหรือสอบถามความเห็นจากบุคคลในวงการตลาดทุนออกมา
ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
จะว่าไปแล้ว เกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่นี้อาจจะถูกยกเลิกไปเลยก็ได้
เพราะเห็นว่าทางตลาดฯ เอง เหมือนจะไปทำกระดานที่เป็นดัชนีใหม่ขึ้นมา
กลับมาที่เดลต้าฯ กันต่อ
ในช่วง 5 วันทำการที่ผ่านมา ราคาหุ้นเดลต้าฯ วิ่งขึ้นจาก 315.00 บาท มาอยู่ที่ 558.00 บาทต่อหุ้น
หรือเปลี่ยนแปลงบวกกว่า 77.14% (ในช่วงเวลา 5 วัน)
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปฯ ของเดลต้าฯ ณ ราคาปิดเมื่อวันอังคารที่ 11 พ.ค. 2564 อยู่ที่ 578,785 ล้านบาท มากเป็นอันดัน 3 รองจาก PTT และ AOT
ส่วน ณ ราคาปิดวานนี้ (12 พ.ค.) ของเดลต้าฯ ที่ระดับ 558.00 บาท
ทำให้มาร์เก็ตแคปทะยานขึ้นมามีมูลค่ากว่า 696,046 ล้านบาท
ดูจากมาร์เก็ตแคปของเดลต้าฯ และดูจากราคาหุ้นเดลต้าฯ ที่วิ่งขึ้นมา 5 วันติดต่อกัน
มีผลบวกต่อดัชนีอย่างมาก
เช่น เมื่อวานนี้ เดลต้าฯ ปิดเปลี่ยนแปลงบวก 20.24%
มีส่วนช่วยดันดัชนีถึง 10.24 จุด
หากเมื่อวานนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้เดลต้าฯ เข้ามาช่วย
ดัชนีน่าจะปรับลงไปปิดลบ 17-18 จุด
ปรากฏการณ์ของเดลต้าฯ ที่ราคาวิ่งขึ้นต่อเนื่องทำให้นักวิเคราะห์เวลาวิเคราะห์การขึ้นลงของดัชนีฯ
บางคนก็อาจจะตัดการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเดลต้าฯ ออกไป
แต่นักวิเคราะห์บางคน หรือแม้กระทั่งนักลงทุนเอง ก็อาจจะมองว่า เดลต้าฯ ก็คือหุ้นตัวหนึ่งในกระดาน แม้ราคาบางวัน บางช่วงจะขึ้นลงผิดปกติไปบ้าง
และไม่เห็นว่าจะต้องตัดการเคลื่อนไหวราคาหุ้นเดลต้าฯ ออกไป
ล่าสุด สด ๆ ร้อน ๆ
ตลาดหลักทรัพย์ได้จับหุ้นเดลต้าฯ เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายหุ้นร้อน และจะต้องใช้เกณฑ์แคชบาลานซ์
และให้เริ่มมีผลวันนี้ (13 พ.ค. 2564 ไปจนถึง 2 มิ.ย. 2564) หรือประมาณ 3 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้หุ้นเดลต้าฯ ก็เคยถูกจับใช้เกณฑ์แคชบาลานซ์มาแล้ว
วันแรกที่เริ่มใช้เกณฑ์ ราคาอาจจะดูอ่อนแรงลงไปบ้าง
ทว่าหลังจากนั้น ก็กลับคึกคักเหมือนเดิม
นักลงทุนรายใหญ่ รายย่อย ต่างขน “เงินสด” มาเทรดกันสนุกสนาน
จะว่าไปแล้วเกณฑ์การใช้แคชบาลานซ์ เป้าหมายจริง ๆ คือ การลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุน
ปุจฉา…. แต่หากย้อนกลับไปถามนักลงทุนว่า รู้หรือไม่ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง และรู้หรือไม่ว่าหุ้นตัวไหนมีความเสี่ยงสูงและต่ำอย่างไร
วิสัชนา… นักลงทุนต่างทราบเรื่องความเสี่ยงทั้งนั้น
และทุกคนที่เข้าไปเล่นก็พร้อมที่จะเสี่ยง
หรืออาจจะมองหุ้นเดลต้าฯ ไปถึงกับขนาดว่า เป็นพระเอกที่เข้ามาช่วยกอบกู้ดัชนี หรือสร้างกำไรระยะสั้น
ส่วนในมุมมองของหน่วยงานกำกับ ก็อาจจะมองอีกอย่าง
เดลต้าฯ เสมือนเป็นผู้ร้ายของตลาดหุ้น ที่เข้ามาสร้างความผันผวนของดัชนี และล่อให้นักลงทุนเข้าไปติดกับดัก (ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานไปมาก) หรือต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง
เดลต้าฯ จะเป็นพระเอก หรือผู้ร้าย
ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้รับผลบวกหรือลบกับหุ้นเดลต้าฯ อย่างไรนั่นแหละ