รถไฟฟ้า (สีเขียว) ประชารัฐ.!
ข้อเขียนจากนักวิชาการ “เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) และประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ที่ออกมาสะท้อนมุมมองเรื่องของระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า หัวข้อ “ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว..ปังหรือพัง” ที่ยังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันอยู่ขณะนี้..!!
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
ข้อเขียนจากนักวิชาการ “เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) และประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ที่ออกมาสะท้อนมุมมองเรื่องของระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า หัวข้อ “ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว..ปังหรือพัง” ที่ยังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันอยู่ขณะนี้..!!
เนื้อหาข้อที่ว่า..มีการหยิบยกข้อดี-ข้อเสีย เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ทั้งรูปแบบรัฐดำเนินโครงการเอง และการให้สัมปทานเอกชนลงทุน ก่อนมาสรุปว่ารูปแบบที่ดีที่สุด คือ ภาครัฐควรลงทุนเองและใช้เครื่องมือทางการเงินการคลัง เพื่อคลายข้อจำกัดด้านเงินลงทุน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการ เพื่อให้ต้นทุนดำเนินงานต่ำสุด..
มาถึงกรณี “โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่ดร.แดน แนะนำว่า ให้รัฐบาลทบทวนการจะต่อขยายสัมปทานรถไฟ ฟ้าสายสีเขียวที่จะสิ้นสุดสัมปทานช่วงอีก 8-9 ปีข้างหน้าใหม่ โดยรอให้สัมปทานสิ้นสุดลง แล้วให้รัฐนำมาบริหารจัดการเอง เพราะทำให้กำหนดนโยบายรถไฟฟ้าได้เอง มีความยืดหยุ่นเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และนำเอาดอกผลกำไรที่ได้จากการเดินรถหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง มาชดเชยและปรับค่าโดยสารให้ถูกลงให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
โมเดลที่ว่านี้มันก็คือ “รถไฟฟ้าประชารัฐ” เป็นโมเดลเดียวกับที่เครือข่ายของผู้บริโภคเรียกร้องนั่นเอง..!?
เห็นแบบนี้นึกถึง “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์” ที่รูปแบบดูเหมือนละม้ายคล้ายโมเดล “รถไฟฟ้าของรัฐ” อย่างกับแกะก็ว่าได้.. โดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจียดเงินลงทุนที่เหลือจากโครงการรถไฟทางคู่ไปลงทุน 35,000 ล้านบาท จากนั้นตั้งบริษัทลูกบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ขึ้นมาบริหารจัดการเดินรถเองแบบเบ็ดเสร็จ
กำหนดค่าโดยสารได้ต่ำแค่ไหนก็ทำได้..ไม่ต้องแสวงหากำไร เพราะเป็นบริการของรัฐ ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบสนองความต้องการประชาชน…แล้ววันนี้สภาพ “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์” เป็นอย่างไร เชื่อว่าเรา ๆ ท่าน ๆ ต่างก็รู้กันเป็นอย่างดี
ล่าสุด “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและรฟท.” จับมัดห่อขายพ่วงไปกับ “โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน” ของกลุ่มซีพี.ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เพราะแบกรับภาระขาดทุนต่อไปไม่ไหวแล้ว..!!
กรณี “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่กลุ่มบีทีเอส (BTS) ที่ได้รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เห็นกำไรตลอดช่วงหลายปีมานี้ เชื่อว่า “ดร.แดน” น่าจะเห็นมาเต็มตา..รู้อยู่เต็มอกว่า..เอกชนต้องกระอักเลือด จนถึงขั้นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เรียกว่าทั้ง “เจ้าหนี้-ลูกหนี้เจ็บ” ต่างคนต่างเจ็บกันมาแล้ว
ไม่อยากนึกภาพเลยว่าอีก 10 ปีข้างหน้า หากแปรผันเป็น “รถไฟฟ้า (สีเขียว) ประชารัฐ” จริง ๆ สภาพคงไม่ต่างอะไรกับ “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์” อย่างที่เห็นเป็นแน่เชียว..!!