KKP ที่ราคาต่ำเท่าบุ๊ก

ราคาหุ้นในกระดานของธนาคารที่มีธุรกิจมีมาร์จิ้นสูงทางด้านวาณิชธนกิจ อย่างธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ร่วงชนิดอีกามาเป็นฝูงใหญ่ต่อเนื่องนานกว่าสัปดาห์ มาสู่จุดราคาต่ำสุดรอบ 2 เดือน ที่ระดับต่ำกว่า 55.00 บาท หมิ่นเหม่จะต่ำกว่าบุ๊กแวลูชนิด “ปริ่ม” สวนทางนักวิเคราะห์ที่ปรับราคาเหมาะสมระดับ 68.50 บาท และปรับแนะนำเป็น “ซื้อ” โดยมีมุมมองว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาสสองหรืองวดกลางปีจะเป็นบวกไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน


พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล

ราคาหุ้นในกระดานของธนาคารที่มีธุรกิจมีมาร์จิ้นสูงทางด้านวาณิชธนกิจ อย่างธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ร่วงชนิดอีกามาเป็นฝูงใหญ่ต่อเนื่องนานกว่าสัปดาห์ มาสู่จุดราคาต่ำสุดรอบ 2 เดือน ที่ระดับต่ำกว่า 55.00 บาท หมิ่นเหม่จะต่ำกว่าบุ๊กแวลูชนิด “ปริ่ม” สวนทางนักวิเคราะห์ที่ปรับราคาเหมาะสมระดับ 68.50 บาท และปรับแนะนำเป็น ซื้อ โดยมีมุมมองว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาสสองหรืองวดกลางปีจะเป็นบวกไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน

อย่าเพิ่งด่วนสรุปสั้น ๆ ว่า เพราะใครบางคนที่เอ่ยชื่อไม่ได้ นอนพะงาบ ๆ เพราะโควิด-19 เลย

การตีกรอบให้อยู่ที่คำถามว่าระหว่างอารมณ์ “คุณตลาด” กับคำชี้แนะของยาจกทำตัวกร่างใครจะถูกต้องกว่ากันก็จะมีคุณค่ากว่า

การร่วงของราคาหุ้น KKP เกือบ 10% เกิดขึ้นหลังจากมีการจ่ายปันผลไปแล้ว และงบไตรมาสแรกก็ออกมาแล้ว ที่ดีเกินคาด เพราะกำไรระดับ EBITDA ค่อนข้างดี แต่กำไรสุทธิลดลงจากตัวเลขการตั้งสำรอง ซึ่งไม่น่าจะใหญ่โตอะไรน่าตกใจ ยิ่งหากจะเอาเรื่องความหวาดวิตกว่า NPL จะเพิ่มขึ้น หากว่า สินเชื่อทยอยออกจากมาตรการอาจจะมีคุณภาพต่ำลง ยิ่งเกินไป เหมือนยังไม่เห็นน้ำ รีบตัดกระบอกรอ

KKP ในฐานะของการเป็นธนาคารพาณิชย์ อาจจะมีขนาดเล็ก แต่การมีส่วนผสมของธุรกิจหลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจที่ขึ้นชื่อไม่แพ้ใครในตลาดนี้ เป็นจุดเด่นที่ทำให้มีขีดความสามารถทำกำไรได้ดีกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ดังจะเห็นได้จาก อัตราส่วนกำไรสุทธิที่ค่อนข้างสูงกว่า 30% มาต่อเนื่องทุกปี และมีกำไรสะสมสูงมากถึงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 60% ของส่วนผู้ถือหุ้น) เป็นการตอกย้ำว่าแรงกดดันให้โตรวดเร็ว ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ปัจจุบันสัดส่วน Ratio ของ KKP อยู่ที่ 3.2% จากปี 2563 ที่เคยมีที่ระดับ 2.9% เพิ่มขึ้นหลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ในรอบแรก ซึ่งมีจำนวน NPL เพิ่มขึ้นราว 1 พันล้านบาท ขณะที่ Coverage Ratio อยู่ที่ 163.3% ซึ่งโดยรวมอยู่ระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง

ที่สำคัญ โอกาสสำหรับการสร้างรายได้ใหม่ ยังคงเปิดไฟเขียวให้เสมอ เพราะแนวโน้มฟื้นตัวทั้งรายไตรมาสและเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากปัจจัยสามด้านยังมีอีกเพียบ เนื่องจาก

1) แนวโน้มการตั้งสำรองลดลง เนื่องจากการตั้งสำรองเผื่อล่วงหน้าในช่วงก่อนปีนี้ ค่อนข้างสูง

2) รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิทยอยฟื้นตัวด้วยต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

3) แนวโน้มค่าธรรมเนียมที่ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณการซื้อขายในตลาดทุน

KKP รายงานกำไรสุทธิไตรมาสแรก 1,463 ล้านบาท ลดลง 1.4% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน YoY ใกล้เคียงกับประมาณการนักวิเคราะห์ โดยที่ปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของกำไร 32.0% ก่อนหักภาษี ถือว่าเป็นหุ้นที่มีความแข็งแกร่งเกินค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคาร

นักวิเคราะห์ยังมองว่าสินเชื่อในการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่สองจากธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะเป็นผลบวกต่อ KKP เพราะสัดส่วนการให้สินเชื่อที่เติบโตลดลง อาจจะส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตในอัตราเร่งของ NPL ลดทอนลงไปจะทำให้อัตราส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

มุมมองดังกล่าว เป็นที่มาของ ฉันทามติของนักวิเคราะห์ มีการปรับเพิ่มเป้าหมายราคา คาดเดาว่าสิ้นปีนี้ ราคาเป้าหมายจะขึ้นไปที่ 68.50 บาทต่อหุ้น อิง P/BV ที่ระดับ 1.19 เท่า (ค่าเฉลี่ย P/BV 5 ปี ย้อนหลัง –0.5 S.D.) อัพไซด์ที่ 12.8% และปรับคำแนะนำเป็น ซื้อ” จากแนวโน้มบวกของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากต้นทุนทางเครดิต และรายได้ค่าธรรมเนียม

มุมมองร่วมของนักวิเคราะห์ สวนทางกับแรงขายช่วงนี้ของนักลงทุนรายใหญ่ จนร่วงหนักผิดปกติ จนอาจจะส่งผลให้ราคาต่ำกว่าบุ๊กแวลู ทำให้มีคำถามที่น่าสนใจว่า มีการ “ทุบราคา เก็บหุ้น” หรือไม่

น่าสนใจตรงนี้แหละว่า ราคา KKP จะต่ำเตี้ยไปได้อีกนานแค่ไหน

Back to top button