4 หุ้น ‘อิเล็กฯ-เกษตร’ ราคาพุ่ง! โชว์กำไร Q1/64 โดดเด่น

ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกช่วงต้นเดือนพ.ค. 64 จนถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าเกษตร


เส้นทางนักลงทุน

ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับขึ้นราว 43.05% และกลุ่มสินค้าเกษตร ปรับตัวขึ้นราว 4.26% หากเทียบกับดัชนี SET ที่ปรับตัวลง 0.71%

ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรมกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าการเกษตรปรับตัวขึ้น นับว่าสอดคล้องไปกับข้อมูลของนายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า เตรียมปรับเพิ่มเป้ากำไรหุ้นกลุ่มส่งออกปี 2564 ขึ้น หลังจากการแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 จากเดิมที่คาดว่ากำไรกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ที่ระดับ 13,226 ล้านบาท เติบโต 22% และกลุ่มเกษตร-อาหารจะอยู่ที่ระดับ 86,283 ล้านบาท เติบโต 42%

สืบเนื่องจากกลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากตัวเลขส่งออกของไทยที่ปรับขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะได้รับปัจจัยบวกจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ทยอยฟื้นตัวภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ และการทยอยเปิดประเทศในไตรมาส 2 ปี 2564

สะท้อนจากราคาหุ้นในกลุ่มที่ปรับขึ้นนำตลาดฯ ในช่วง 6 วันทำการแรกของเดือนพฤษภาคม ตัวอย่างเช่นราคาหุ้น ปรับตัวขึ้น 57.63%, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ปรับตัวขึ้น 8.15%, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ปรับตัวขึ้น 17.65%, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ปรับตัวขึ้น 4.76% และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ปรับตัวขึ้น 19.87%

โดยเห็นได้ชัดว่าส่วนหนึ่งของราคาหุ้นกลุ่มส่งออกปรับตัวขึ้นรับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่ปรับขึ้นนำตลาดหุ้นไทย เทียบกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศยังปรับขึ้นได้ไม่ดีนัก เพราะเผชิญกับแรงกดดันจากโควิด-19 ในประเทศ

ผนวกกับการตอบรับปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 2564 ที่ปรับขึ้น 8.47% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มูลค่า 24,222.45 ล้านดอลลาร์ ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดเอาไว้ โดยเฉพาะหุ้นถุงมือยาง ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่คาดว่าตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย. 2564 จะยังปรับขึ้นต่อเนื่อง

ประกอบกับ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกเป็นปัจจัยหนุนต่อผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรก สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 อีกด้วย อย่างเช่น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 503.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.48% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 424.82 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น การเติบโตของรายได้หลังการฟื้นตัวของตลาด จากการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ Product mix ทําให้อัตรากําไรขั้นต้นขยายตัว โดยรายจ่ายในการขายและบริหารค่อนข้างทรงตัว

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 308.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.57% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 211.96 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 29 อันเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับราคาขายถัวเฉลี่ยในประเทศไตรมาสแรกปี 2564 ก็สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ในไตรมาสแรกปี 2564 สัดส่วนปริมาณขายน้ำตาลในประเทศคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณขายทั้งหมด

นอกจากนี้ ต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง และที่สำคัญมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจาก 73 ล้านบาท เป็น 119 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากกำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (บริษัท บีบีจีไอ จำกัด)

บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 366.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 511.96% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 59.89 ล้านบาท เป็นผลมาจากยอดขายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในส่วนโรงงานยางแท่งแห่งที่ 2 ส่งผลให้มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน แยกตามผลิตภัณฑ์โรงงานแห่งที่ 1 และ 2

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,802.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.41% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,016.22 ล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยอัตรากำไรสุทธิต่อยอดขายไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 5.8% เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3.3% ในไตรมาส 1/2563

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของ KCE, KSL, NER และ TU เคลื่อนไหวสอดคล้องไปด้วยกันเมื่อดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกปรับตัวขึ้น ยอดส่งออกไทยเดือน มี.ค. 2564 ปรับขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 กำไรเติบโตเด่น ผลักดันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปตามความเป็นจริง!!!

Back to top button