พาราสาวะถี

กลายเป็นเรื่องตลกและถลกให้เห็นถึงความขัดแย้งในทางความคิดและการบริหารงานระหว่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ต่อการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นับแต่ตั้งแต่การไล่ยึดอำนาจ รวบอำนาจที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทั้งหมดมาไว้ในมือตัวเอง จนกระทั่งมาถึงการแตะเบรกหัวทิ่มปมวอล์ก อิน ฉีดวัคซีน จน ภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทยต้องออกมาแซะและเรียกแขกให้ลิ่วล้อสอพลอในรัฐบาลและพรรคสืบทอดอำนาจดาหน้าโต้กลับทันควัน


อรชุน

กลายเป็นเรื่องตลกและถลกให้เห็นถึงความขัดแย้งในทางความคิดและการบริหารงานระหว่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ต่อการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นับแต่ตั้งแต่การไล่ยึดอำนาจ รวบอำนาจที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทั้งหมดมาไว้ในมือตัวเอง จนกระทั่งมาถึงการแตะเบรกหัวทิ่มปมวอล์ก อิน ฉีดวัคซีน จน ภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทยต้องออกมาแซะและเรียกแขกให้ลิ่วล้อสอพลอในรัฐบาลและพรรคสืบทอดอำนาจดาหน้าโต้กลับทันควัน

อย่างไรก็ตาม ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจส่ง อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาลแจกแจงปมปัญหาวอล์กอิน โดยเปลี่ยนใหม่ว่าเป็นวิธีการลงทะเบียน ณ จุดบริหาร หรือ On-site Registration โดยการอ้างว่าหากใช้วิธีการวอล์กอิน อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าทุกคนที่เดินทางไปจะได้ฉีดในวันนั้น จนอาจเกิดปัญหาตามมาได้ แต่การลงทะเบียน ณ จุดบริการหรือออนไซต์ จะมีระบบรองรับและแจ้งประชาชนเมื่อเดินทางไปลงทะเบียนว่า มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ ณ จุดบริการในวันนั้นหรือไม่

ต้องชมเชยว่าท่านผู้นำมีความคิดที่ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ห่วงใยต่อความรู้สึกของประชาชนที่จะไปวอล์กอินตามรูปแบบเดิม เกรงว่าจะเสียความรู้สึกหรือเกิดการโวยวายหากไม่ได้ฉีด ดังนั้น การเปลี่ยนมาใช้วิธีออนไซต์ หากพร้อมฉีดแต่วัคซีนไม่พอในวันนั้นก็สามารถทำการลงทะเบียนเพื่อนัดฉีดในวันอื่นได้ โดยไม่ต้องเสียเวลามารอฉีดอีกในวันต่อไป แต่สามารถมาฉีดได้ตามที่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันจะแตกต่างจากการวอล์กอินยังไง

ด้วยเหตุนี้ภราดร ที่แม้จะยอมรับว่าบรรดาบิ๊กของพรรคภูมิใจไทยสั่งให้หยุดวิจารณ์เรื่องนี้ด้วยการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยให้หาวิธีการเสนอรูปแบบอื่น แต่เจ้าตัวก็อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อกังขาแต่รูปแบบที่ท่านผู้นำได้โชว์วิสัยทัศน์ไม่ได้ว่า ระบบการทำงานแตกต่างกันตรงไหน เมื่อระบบวอล์กอินคือการเข้ารับวัคซีนที่จุดบริการโดยไม่ลงทะเบียนมาก่อน ซึ่งเหมือนกับออนไซด์ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือ หาวิธีบริหารจัดการให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นวอล์กอิน หรือวิธีการใดก็ตาม

สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ย้ำมาโดยตลอดก็คือ ผู้นำเผด็จการถนัดแต่การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งนั่นมันเหมาะกับรัฐบาลยึดอำนาจ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลผสม ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งสำคัญ ทว่าตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า ในการขับเคลื่อนแผนงานด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ท่านผู้นำเลือกที่จะไว้วางใจบรรดาขุนพลข้างกายเท่านั้น

เหมือนอย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกต แม้กระทั่ง ทักษิณ ชินวัตร ที่พูดผ่านคลับเฮาส์ล่าสุด ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องมองกรณีโควิด-19 เป็นการต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ใช่ศัตรูที่เป็นคู่อริทางการทหารและเป็นภัยกับความมั่นคงตามแนวชายแดน  เมื่อกำหนดเป้าหมายพลาด มันย่อมนำมาซึ่งการวางยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาผิดพลาดตามมาด้วย ดังเช่นกรณีของวัคซีนโควิดที่ฟันธงได้เลยว่าผิดพลาดทั้งการวางแผนและการบริหารจัดการทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ความบาดหมางระหว่างพรรคสืบทอดอำนาจกับพรรคภูมิใจไทยนั้น เห็นบาดแผลกันมาตั้งแต่คราวอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถูกหักหน้าจากส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ยังไม่นับรวมกับถูกหักดิบในแง่ของอำนาจการบริหารงานภายในกระทรวงสาธารณสุขต่อการขับเคลื่อนการแก้ไขโควิด-19 แม้เสี่ยหนูจะออเซาะ ออดอ้อนมาตลอดว่าไม่ได้รู้สึกถูกรวบอำนาจ แต่ลึก ๆ ในใจและเบื้องหลังของวงสนทนาทั้งที่พรรคและที่จังหวัดบุรีรัมย์นั้น หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เพียงแต่ว่าด้วยสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จึงต้องยอมทนอยู่กันในสภาพนี้ต่อไปรอจังหวะเพลี่ยงพล้ำของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมาถึงก่อน คนของพรรคการเมืองนี้ที่มียี้ห้อยร้อยยี่สิบคอยบัญชาเกม จะได้ถอนแค้นอย่างสาแก่ใจ ไม่ต่างจากพรรคคู่หูอย่างประชาธิปัตย์ก็รอสบโอกาสในการเอาคืนอยู่เหมือนกัน รอเพียงแค่บรรดากองเชียร์ทั้งหลายที่เริ่มจะกลายเป็นกองแช่งรัฐบาลสืบทอดอำนาจให้เพิ่มจำนวนมากกว่านี้ก่อน จะเป็นจังหวะที่ทั้งสองพรรคได้ตัดสินใจง่ายขึ้น

เวลานี้ที่คนกันเองต่างเฝ้าจับตาก็คือ ช่วงเวลาที่จะมีการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่แน่นอนว่าฝ่ายค้านต่างจองกฐินอภิปรายกันดุเดือด น้อง ๆ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งนั่นเป็นท่วงทำนองปกติของพรรคฝ่ายค้านอยู่แล้ว ที่จะกะพริบตาไม่ได้คงเป็นการอภิปรายของส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสองพรรค มีหลายคนที่วางตัวเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล หากหยิบจับเอาประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับการขับเคลื่อนของรัฐบาลมาโฟกัสแล้วเข้าเป้า ได้รับเสียงหนุนจากกองเชียร์นอกสภา ก็อาจเป็นปัญหาสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวาระเรื่องพ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท ที่ครม.แอบประชุมกันเป็นวาระลับ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องนำมาถกกันในสภาด้วย ที่ได้ยินเวลานี้คือการทักท้วงจากฝ่ายตรงข้ามที่มองว่า เงินกู้รอบใหม่ต้องไม่เป็นการตีเช็คเปล่าเหมือนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทรอบที่แล้ว ที่รัฐบาลนำไปใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ประชาชน และธุรกิจที่เดือดร้อนไม่ได้รับการช่วยเหลือ และมีข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสเป็นอย่างมาก หากคนในรัฐบาลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมแล้วร่วมวงตั้งปุจฉาด้วยมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่

อย่างน้อยก็ได้เห็นแล้วว่า มีสองงานในสภาที่พวกในพรรครัฐบาลจะได้จังหวะเอาคืน ปมเงินกู้ถ้านำไปผูกกับงบปกติปี 2565 ปุจฉาตัวโตอย่างที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตั้งเป็นข้อสงสัยชวนให้คิดกันต่อ งบกระทรวงกลาโหมที่มีสูงถึง 203,282 ล้าน ทั้งที่ศัตรูของคนไทยคือเชื้อโรคตัวเล็ก ๆที่ใช้อาวุธสงครามไปเข่นฆ่าไม่ได้ ถ้าตัดมาเพื่อทุ่มซื้อวัคซีนคุณภาพดีและใช้ในการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีก จับจุดกันให้ได้ดักคอกันจนไปไม่เป็น ถ้าไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกันไม่ได้ ก็อาจต้องแลกด้วยการรัฐประหารเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่เพราะยังไงเสียฉบับที่มีอยู่มันก็ถูกออกแบบเพื่อการฉีกไม่ใช่การแก้อยู่แล้ว

Back to top button