เงินกู้สิ้นคิด
คงต้องพูดถึงมาตรการทางการคลังล่าสุดของรัฐบาลชุดนี้กันสักหน่อย ก่อนที่ “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้แล้ว”
พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล
คงต้องพูดถึงมาตรการทางการคลังล่าสุดของรัฐบาลชุดนี้กันสักหน่อย ก่อนที่ “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้แล้ว”
มติ ครม. เมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2564 เรื่องแผนออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 7 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นการกู้เงินนอกงบประมาณครั้งที่สองในรอบปี เนื่องจากพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีกรอบวงเงินกู้คงเหลือ 166,525 ล้านบาท …ไม่เพียงพอรับมือสถานการณ์ร้ายแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยอดผู้ป่วยพุ่งขึ้นล่าสุดวันละ 9
พันกว่าราย
หาก พ.ร.ก. ผ่านรัฐสภาฝักถั่ว (ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาอะไร เว้นแต่มีมหัศจรรย์เกิดขึ้น) จะเป็นสถิติใหม่ เป็นรัฐบาลที่ออก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉินนอกระบบงบประมาณ ถึงสองครั้งในปีงบประมาณเดียว เป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ไทย
เท่ดี แต่…สะท้อนความล้มเหลวอย่างถึงที่สุด
รัฐบาลนี้ออก พ.ร.ก.พิเศษกู้เงินแก้วิกฤตโควิดมาแล้วสองปีต่อเนื่อง (7 แสนล้าน+1 ล้านล้าน) รวม 1.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นวงเงินประมาณ 10% ของ GDP (ในกรณีจีดีพีไม่ติดลบ หรือ มากกว่านั้นในกรณีจีดีพีติดลบ)
ในการกู้เงินปี 2564 (ใช้จริงปี 2563) มีการนำเอาไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ก้อนแรก 7 แสนล้าน โดยอ้างว่าเป็น การกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ ส่วนก้อนใหม่ล่าสุดอีก 7 แสนล้านนี้จะเป็นตัวเลขรวม 1.4 ล้านล้านบาท
รวมสองปี การกู้ทั้งหมดของปีงบประมาณ 2564 และ 2565 รวมเกือบ 2.4 ล้านล้านบาท
การกู้ครั้งใหม่นี้มีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ คำตอบต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ 1. ความจำเป็น และ 2. เสถียรภาพทางการคลังรัฐบาล
ในข้อแรก ในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้รัฐบาลจำต้องกู้เพราะใกล้จะขาดสภาพคล่องแล้ว จากรายได้ภาครัฐที่หดหายไป (ภาษีและส่วนแบ่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจ) มากจากภาวะเศรษฐกิจ
การกู้เงินฉุกเฉินนั้นสะท้อนความประมาท ไม่รอบคอบ และลนลานมากกว่าอย่างอื่นใด
ในข้อสองภาระต่องบประมาณแม้ในทางเทคนิค ยังรับได้อยู่ (สัดส่วนงบดอกเบี้ยและงบคืนเงินต้นเทียบกับงบรายจ่ายโดยรวม) ที่สามารถหักกลบในภายหน้าได้ หากเศรษฐกิจในอนาคตฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจีดีพี (หักลบด้วยเงินเฟ้อ) ดีขึ้น แต่ถ้าจีดีพียังคงติดลบหรือเติบโตช้ามาก อาจจะทำให้การคลังล่มสลายได้ เพราะภาระหนี้รัฐบาลท่วมหัว
ที่ผ่านมา มาตรการทางการคลังอันโดดเด่นของรัฐบาลประยุทธ์คือ การจ่ายเงิน “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” ในหลากรูปแบบ (เราชนะ คนละครึ่ง ฯลฯ) ซึ่งมีเป้าหมายซื้อเวลา ยืดอายุทางการเมือง อันเป็นปัจจัยหนึ่งของประชานิยม แบบปีกขวาที่ผสมผสานการเมืองแบบอำนาจนิยมฝ่ายขวา เศษกับวาทศิลป์เรื่องชาตินิยม และรูปแบบประชานิยม ที่มุ่งเป้าการควบคุมระบอบประชาธิปไตยโดยชนชั้นสูง ด้วยมาตรการขยายรัฐสวัสดิการ แต่สำหรับ “ผู้ที่สมควร” เท่านั้น แล้วให้ความสำคัญกับการแสวงหาอำนาจด้วยศิลปะของผู้ปกครองมากกว่าอุดมการณ์
ส่วนความหมายและข้อเสียต่อเศรษฐกิจนั้นอยู่ตรงที่วัตถุประสงค์ ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งอาจไม่มีประโยชน์ต่อการเติบโตระยะยาวเทียบกับการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สร้างการจ้างงาน ความมั่งคั่งและการเติบโตอย่างแท้จริง
การกู้เงินสร้างมาตรการทางการคลังแบบสิ้นคิดนี้ เสมือนกับจับประชาชนเป็นตัวประกันเท่านั้น