พาราสาวะถี

ประเดิมวันแรกกันไปเรียบร้อยสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรถกร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตามสูตรผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจใช้เวลาชั่วโมงครึ่งในการแจกแจงความจำเป็นของการจัดงบแบบขาดดุลจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท แต่ที่ให้สัมภาษณ์แบบอารมณ์เสียคงเป็นการจับผิดของฝ่ายค้านที่พบว่ามีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข แล้วงบของกระทรวงกลาโหมได้มากกว่าทั้งที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ไม่ใช่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่กองทัพต้องเผชิญ


อรชุน

ประเดิมวันแรกกันไปเรียบร้อยสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรถกร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตามสูตรผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจใช้เวลาชั่วโมงครึ่งในการแจกแจงความจำเป็นของการจัดงบแบบขาดดุลจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท แต่ที่ให้สัมภาษณ์แบบอารมณ์เสียคงเป็นการจับผิดของฝ่ายค้านที่พบว่ามีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข แล้วงบของกระทรวงกลาโหมได้มากกว่าทั้งที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ไม่ใช่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่กองทัพต้องเผชิญ

แต่การอ้างของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็เป็นไปแบบข้าง ๆ คู ๆ ตามสไตล์ถนัด ตีมึนเข้าไว้จับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็จบกันไป เรื่องงบประจำที่เป็นเรื่องเงินเดือนค่าตอบแทนของบุคลากรคงไม่มีใครติดใจ แต่ที่จะไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเรือดำน้ำจากจีนเข้าใจได้ว่าเป็นงบประมาณผูกพัน แต่ด้วยสถานการณ์ที่ทุกประเทศต้องประสบพบเจออยู่เวลานี้ มันสามารถที่จะเจรจาขอความเห็นใจและความจริงก็น่าจะได้ข้อสรุปก่อนที่จะจัดทำงบประมาณเสียด้วยซ้ำไป

รู้อยู่แล้วว่าดันทุรังไปก็ตกเป็นขี้ปาก ส่วนที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอ้างว่า งบฯ กระทรวงสาธารณสุขจะลดลงก็เป็นการลดในส่วนของกระทรวง แต่ยังมีงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. และงบกองทุนอื่น ๆ รวมกันมากกว่างบกระทรวงกลาโหมแน่นอน เป็นคำแก้ตัวที่มักง่ายเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นผู้นำที่ไม่มีความรับผิดชอบ เพราะงบที่นำมามัดรวมกันนั้น เมื่อไปแยกภารกิจที่ต้องนำไปใช้แล้ว มันไม่ได้ตอบโจทย์ต่อความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนที่กำลังสู้กับโควิดอยู่ในเวลานี้

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายค้านจะตั้งคำถามต่อการปรับลดงบฯ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี อันจะส่งผลกระทบต่อการลดงบด้านสุขภาพคนไทยลดลงถ้วนหน้า ตลอดจนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิดที่ล้วนแต่ถูกตัดงบประมาณ เช่น กรมควบคุมโรคถูกตัดงบประมาณ 480 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วลดลงร้อยละ 12 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถูกตัดงบมากถึงร้อยละ 10 เหลืองบน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้งบประมาณเพียง 22 ล้านบาท

เป็นการจี้จุดที่เป็นปัญหาของรัฐบาลในเวลานี้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะความเป็นจริงเวลานี้เรื่องวัคซีนโควิด-19 มีเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลนี้ไม่ได้ทำนั่นก็คือ พูดความจริงกับประชาชน กรณีวัคซีนแอสตร้าเซเนกา ถามว่าติดขัดปัญหาอยู่ตรงไหน ที่ประกาศปูพรมฉีดกัน 7 มิถุนายนนี้ ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนยี่ห้อดังว่า จะกล่าวหาว่าเป็นความล้มเหลวผิดพลาดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะได้หรือไม่ และจะต้องแสดงความรับผิดชอบกันอย่างไร

จะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม อย่าลืมเป็นอันขาดว่าแอสตร้าเซเนกาคือวัคซีนหลักของประเทศ ดังนั้น การที่ประกาศปูพรมฉีดวัคซีนย่อมมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่า ต้องเป็นวัคซีนยี่ห้อนี้เท่านั้นที่จะถูกนำมาเป็นตัวหลักในการฉีด แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่า กำลังจะนำเอาวัคซีนที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกคือซิโนแวค มาเป็นตัวชูโรงหรือพระเอกในการปูพรมครั้งนี้เสียอย่างนั้น มันหมายความว่าอย่างไร เช่นนี้จะไม่ให้มองเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนกันได้อย่างไร

จากที่ต้องไปจัดหามาเป็นวัคซีนเสริมที่อ้างว่าเจรจายากเย็นแสนเข็ญแต่กลับจะกลายมาเป็นวัคซีนหลัก ย่อมเป็นเรื่องไม่ปกติอย่างแน่นอน ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานลักษณะเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้ อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดไม่ได้ที่ต้องออกมากระทุ้งอีกดอก รัฐบาลล้มเหลวทั้งในการควบคุมป้องกันไม่ให้ภัยโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศไทย และยังล้มเหลวในการจัดหาและจัดการวัคซีน-19 มาฉีดให้แก่ประชาชนทั้งประเทศอย่างสิ้นเชิง

การจัดหาจัดการวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนรัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาฉีดให้แก่ประชาชนทุกคนหรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดฟรี โดยรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2564 ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ได้เข้ามาตั้งแต่มกราคม 2563 แล้ว ถ้าประชากรประเทศไทยมีประมาณ 65 ล้านคน และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศอีก 5 ล้านคน รัฐบาลต้องขวนขวายเตรียมการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพเชื่อถือได้มาฉีดให้แก่ประชาชนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคนหรือ 100 ล้านโดสฟรี

แน่นอนว่า การจัดหามาฉีดฟรีดังกล่าวต้องเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2564 คือเดือนมกราคมและให้เสร็จสิ้นไม่เกินเดือนมิถุนายน แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลเริ่มฉีดให้แบบกระปิดกระปอยในเดือนมีนาคม และมีข่าวตลอดมาว่าจะเริ่มมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศล็อตแรกออกมาได้ในวันที่ 7 มิถุนายน ประมาณ 6 ล้านโดส และเดือนต่อไปอีกเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส จนถึงธันวาคมจะได้ทั้งหมด 60 ล้านโดส ซึ่งจำนวนวัคซีนทั้งหมดดังกล่าวที่รัฐบาลเตรียมการจัดหาไว้ก็ยังไม่เพียงพอ และล่าช้ากว่าความต้องการมาก

กรณีนี้ นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้า การระบาดครั้งที่ 3 มาเร็วและแรงทุกประเทศจึงเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรร้อยละ 70 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่รัฐบาลไทยบอกตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า จะให้วัคซีนบางยี่ห้อเข้ามาผลิตในไทย ซึ่งจะได้รับวัคซีนในเดือนมิถุนายน 64 ภาคเอกชนก็ตกใจว่ารอนานขนาดนั้นไม่ไหว โดยเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนเดือนธันวาคมปีที่แล้วหรืออย่างช้าคือมกราคมปีนี้ เหมือนประเทศอิสราเอล

เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเกือบร้อยละ 15 ของจีดีพีถ้าฉีดวัคซีนเดือนมกราคมถึงสิงหาคมปีนี้ ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 จะทันช่วงไฮซีซั่น แต่ถ้าเลยเดือนสิงหาคมไปแล้วจะอยู่กันลำบาก เพราะเริ่มฉีดวัคซีนสายไป และยังฉีดไม่ทั่วถึง นี่คือวิสัยทัศน์ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่มี ไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่หมอบุญบอกก็คือ การระบาดทั้ง 3 รอบมีคนของรัฐบาลเกี่ยวข้องทั้งนั้น จากความหย่อนยานทางการรักษา ทางกฎหมาย และการควบคุม ทำให้คนทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อน เสียชีวิต บ้างต้องไปนอนโรงพยาบาล และทำมาหากินกันอย่างยากลำบาก ถ้าเป็นรัฐบาลต่างประเทศลาออกไปนานแล้ว

Back to top button