6 หุ้นรับสหรัฐฯ อัดงบ
มีประเด็นน่าสนใจหลังจาก “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดงบประมาณสหรัฐฯ ปี 2565 มูลค่า 6 ล้านล้านดอลลาร์
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
มีประเด็นน่าสนใจหลังจาก “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดงบประมาณสหรัฐฯ ปี 2565 มูลค่า 6 ล้านล้านดอลลาร์
รายละเอียดของแผนงบประมาณที่ว่านี้ จะเริ่มต้นเดือน ต.ค 2564
มีนโยบายหลักสองด้าน
1.สวัสดิการสำหรับครอบครัวชาวอเมริกัน (American Families Plan) วงเงิน 1.8 ล้านล้านเหรียญฯ
เงินส่วนนี้จะเน้นสนับสนุนการศึกษา ลดหย่อนภาษีสำหรับครอบครัวผู้มีบุตร แรงงาน และผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
2.กระตุ้นการจ้างงาน (American Job Plan) วงเงิน 2.3 ล้านล้านเหรียญฯ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน สร้างรายได้
และ 3. งบประมาณที่รัฐสภาอนุมัติให้เป็นรายปี (Discretionary Budget) วงเงิน 1.5 ล้านล้านเหรียญฯ
เงินส่วนนี้ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประมาณ 7.54 แสนล้านเหรียญฯ
ประกอบด้วย Cybersecurity, โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี, โครงการเพื่อยับยั้งจีนและรัสเซีย เน้นการ R&D เพื่อความมั่นคง, พัฒนาขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์ด้านต่าง ๆ และช่วยเหลือครอบครัวทหาร
ขณะเดียวกันก็ยืนยันแผนปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้สูง
หากดูในรายละเอียดจะพบประเด็นสำคัญ
คือ แผนงบประมาณฉบับใหม่นี้ มีหลายด้านเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากยุคของ “โดนัลด์ ทรัมป์”
นำโดย ด้านการศึกษา การค้า ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม (เพิ่มขึ้น +40.9%, +29.4%, +23.4% และ +21.6% ตามลำดับ)
ส่วนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ พบว่า อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 5.5% และ 4.1% ในปี 2564 และปี 2565
และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) อยู่ที่ระดับ 2.1% ในปี 2564-2565 และทรงตัวระดับต่ำกว่า 2.3% ต่อเนื่องในระยะ 10 ปี ข้างหน้า
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากแผนงบประมาณนี้ คือ
1.ตอกย้ำนโยบายที่มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ
2.การให้ความสำคัญของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
3.การให้ความสำคัญของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งอาจหมายถึงความตึงเครียดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับจีนและรัสเซีย
และ 4. ให้น้ำหนักกระตุ้นภาคแรงงานที่ยังฟื้นตัวช้า มากกว่า ความกังวลต่อเงินเฟ้อพุ่งแรงเกินไป จากนโยบายที่ยังเน้นการจ้างงาน และประมาณการเงินเฟ้อในระดับที่ควบคุมได้ในระยะยาว (อย่างไรก็ตามประมาณการเศรษฐกิจนี้ ทำเมื่อเดือน ก.พ. ก่อนที่จะเห็นตัวเลขเดือน เม.ย. +4.2%)
แผนงบประมาณนี้ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET มองว่า เป็นการตอกย้ำภาพเชิงบวกต่อ “หุ้นกลุ่มวัฏจักร” ในระยะยาว ที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง
มี 6 หุ้นที่น่าสนใจในมุมมองของ MBKET
เริ่มจาก KBANK แนวโน้มกำไรปี 2564-2565 น่าจะขยายตัว 8-11%
ปัจจัยจากต้นทุนสินเชื่อที่ต่ำกว่าคาดและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นในไตรมาส 1/2564
โดยคุณภาพสินทรัพย์น่าจะดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด ปัจจุบันซื้อขายที่ PBV ไม่แพงระดับ 0.63 เท่า
PTTEP แนวโน้มราคาก๊าซผ่านพ้นจุดต่ำสุด
ประเมินภาพในระยะยาวขยายตัวเฉลี่ย 3% CAGR ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว
และมีโอกาสการควบรวมกิจการเพิ่มเติมยังเปิดกว้างจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท
TOP ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดหนุน Demand การท่องเที่ยว เดินทาง เป็นบวกต่อน้ำมัน Jet ให้เข้าสู่จุดฟื้นตัว และส่วนต่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเด่น
IRPC ขณะที่แนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ น่าจะโดดเด่นต่อเนื่องในปี 2564 โดยเฉพาะธุรกิจ ABS ที่ได้แรงหนุนด้านอุปทาน กำลังการผลิตทั่วโลกลดลงประมาณ 10% ทั่วโลก
เช่นเดียวกับ PP ที่ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ยังทรงตัวในระดับสูง ตามภาวะอุปทานที่ตึงตัวในสหรัฐฯ และเอเชียเหนือ
EPG แนวโน้มกำไรปี 2563/2564 (งวดสิ้นสุด มี.ค. 2564) เติบโต 25% และปี 2564/2565 เติบโต 17% จากธุรกิจอุปกรณ์ชิ้นส่วนและตกแต่งรถยนต์ ที่เติบโตตามอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ
ธุรกิจฉนวนยางกันความร้อนและเย็น ดีต่อเนื่องจากตลาดสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
และสุดท้ายคือ WICE แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/2564 มีโอกาสทำสถิติใหม่ไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน
จากอุปสงค์ที่ยังแข็งแกร่ง และดีต่อเนื่องในระยะยาว
มีการคาด EPS ปี 2564 ขยายตัวระดับ 45.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่โครงสร้างของอัตรากำไรขั้นต้นที่จะยืนอยู่ในระดับสูง คาดในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 16%