พาราสาวะถีอรชุน
เหินฟ้าไปแล้วเพื่อร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประเทศไทยจะได้โอกาส 10 นาที กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในหัวข้อ "การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาที่ยั่งยืน" คงจะได้นำเอาสุดยอดนโยบายที่เดินหน้าโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้งกองทุนหมู่บ้านและเติมเงินให้กับเอสเอ็มอีไปโชว์วิสัยทัศน์ (ฮา)
เหินฟ้าไปแล้วเพื่อร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประเทศไทยจะได้โอกาส 10 นาที กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในหัวข้อ “การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาที่ยั่งยืน” คงจะได้นำเอาสุดยอดนโยบายที่เดินหน้าโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้งกองทุนหมู่บ้านและเติมเงินให้กับเอสเอ็มอีไปโชว์วิสัยทัศน์ (ฮา)
ส่วนประเด็นที่ว่าจะมีนานาชาติถามถึงกระบวนการคืนประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือไม่นั้น คงยากที่จะหลีกเลี่ยง เพียงแต่ว่าจะตอบออกมาไม่ให้เสียหน้าหรือถูกใจต่างชาติมากน้อยขนาดไหน นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องคอยติดตาม แต่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขนาดนี้คงไม่ขี้ไก่ ไม่ทำให้บ้านเมืองขายหน้าแน่ แม้ท่านจะยอมรับในเรื่องที่มา ทว่าในฐานะผู้บริหารประเทศต้องทำให้ทุกอย่างทัดเทียมอารยประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างที่ผู้ใต้บังคับบัญชาท่านสื่อสารออกมาไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี เพราะวันก่อน พิศาล มาณวพัฒน์ ทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันร่อนจดหมายชี้แจงวอชิงตันโพสต์เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทย โดยยืนยันว่าเหตุที่คสช.ต้องออกมา เพราะมีความขัดแย้งแตกแยกและการคอร์รัปชั่นอย่างบ้าคลั่ง
ที่หลายคนติดใจคือคนไทยไม่ชื่นชอบการประท้วงบนท้องถนน คนที่เขาอ่านจดหมายของท่านทูตคงขำกลิ้ง ก็ไม่ใช่เพราะการเล่นเกมการเมืองข้างถนนหรอกหรือที่โบกมือดักกวักมือเรียกให้คณะรัฐประหารต้องออกมา ส่วนที่บอกว่าจะเลือกเชื่อใคร เนื่องจากวันเดียวกัน วิษณุ เครืองาม สาธยายขั้นตอนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉากๆ
มีวลีทองก็คือ ถึงแม้จะหยิบยกรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 มาปรับแก้ก็ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยอ้างว่าก็เพราะรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนั้นมีปัญหาจนเป็นต้นตอให้เกิดการรัฐประหาร อ้าว!หลงเข้าใจผิดคิดมาตั้งนานว่าเหตุที่นำไปสู่การยึดอำนาจสองครั้งติดในห้วงเวลาต่างกันไม่ถึง 8 ปีนั้น เกิดจากม็อบมีเส้นที่จงใจให้ประเทศเกิดวิกฤต
เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าปมใหญ่ที่ทำให้ทหารต้องออกมาคือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงต้องเขียนใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยซ่อนเผด็จการเหมือนฉบับดอกเตอร์ปื๊ดที่เพิ่งถูกคว่ำไป แม้ฉบับใหม่ยังไม่คลอดก็ได้ชื่อว่าเป็น “ฉบับพิสดาร” ที่ล่าสุด พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ถึงกับออกมาฉะเนติบริกร
โดยพิเชษฐระบุว่า ด้วยความที่เป็นนักกฎหมายใหญ่ เลยใช้คำว่าพิสดารมาออกสื่อ ในความหมายว่ารัฐธรรมนูญใหม่อาจออกมาอย่างละเอียด กว้างขวาง จนมีผลเปลี่ยนแปลงถึงพรรคการเมืองด้วย ตามวิสัยนักร่างรัฐธรรมนูญจอมพิสดารทั้งหลาย ซึ่งมักนิยมประชาธิปไตยแบบพิสดารคือชื่นชมเผด็จการ รังเกียจการเลือกตั้งและรอโอกาสส้มหล่นเข้าสภาโดยการลากตั้ง
เห็นอย่างนี้เลยไม่รู้ว่า มีการแอบไปส่องกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เนปาลมาหรือเปล่า เพราะวันก่อนที่นั่นเพิ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการระบุให้ประเทศเป็น “รัฐฆราวาส” หรือรัฐที่เป็นอิสระจากความเชื่อทางศาสนา โดยมีการแบ่งเขตปกครองออกเป็น 7 รัฐ แต่ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนาก็วิจารณ์ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่รับฟังวิธีการแบ่งรัฐของพวกเขา
ทั้งนี้พรรครัฐบาลของเนปาลระบุว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยสามารถมีการเพิ่มบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่มีการเรียกร้องได้ ก็หวังว่าคงจะไม่เหมือนบางประเทศที่บอกว่ารับฟังและพร้อมจะแก้ไข สุดท้าย ทุกอย่างเป็นไปตามหวยล็อกจนต้องสั่งคว่ำกันแบบคนยกร่างเสียอารมณ์กันเป็นแถว
ที่น่าชื่นชมสำหรับเนปาล คงเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติหลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 2549 ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์ของเนปาลกับรัฐบาลเนปาลในสมัยนั้น ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์ยอมวางอาวุธตามข้อตกลงสันติภาพเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนปีเดียวกันและได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองหลังจากนั้น
ขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในบ้านเรายังไม่รู้ว่าจะออกมาพิสดารพันลึกขนาดไหน ที่แน่ๆ ถ้าจะต้องให้ทุกพรรคไปจดทะเบียนกันใหม่ ประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกกต.บอกไว้ว่า จะต้องใช้เวลานานและเปลืองงบประมาณมากขึ้น ซึ่งสูตร 20 เดือนนั้นต้องบวกเพิ่มไปอีก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีแนวคิดเช่นนี้
เพราะความจริงปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองยังคงอยู่ รวมทั้งกกต.ก็ไม่ได้ถูกยุบหายไปไหน ดังนั้น หากใครมีแนวคิดที่จะตั้งพรรคการเมืองก็สามารถไปจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่กันได้ กกต.จะได้มีเวลาในการตรวจสอบและดำเนินการต่างๆ ที่ต้องอาศัยเวลา ไม่จำเป็นต้องรอดูว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่หรือกฎหมายประกอบจะออกมาเป็นอย่างไร
เว้นเสียแต่ว่าจะมีวาระซ่อนเร้น เขียนกันแบบไม่ให้เพื่อไทยได้ผุดได้เกิด บอนไซประชาธิปัตย์ไปในตัวด้วย เพื่อหวังที่จะตั้งพรรคในการสืบทอดอำนาจแต่จะต้องทำให้เนียนกว่าในอดีตนั่นก็อีกเรื่อง มาถึงในยุคนี้ มีตัวอย่างให้เห็นจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด ก็ไม่รู้จะดันทุรังกันแบบไหน แต่กล้าลุยขนาดนี้ คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงทักท้วงใดๆ
เช่นเดียวกับกรณีของการชง จิตภัสร์ กฤดากร ให้เป็นผู้หมวดสังกัดตำรวจ 191 เห็นท่าทีของผบ.ตร.ที่ยอมพลิกลิ้นอีกกระทอกก็บอกได้แล้วว่า งานนี้ไม่ธรรมดา รวมทั้งกระบวนการหมกเม็ดปกปิดเพื่อทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้น้องตั๊นได้เป็นตำรวจ ที่เที่ยวกล่าวหาว่านักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว ใช้อำนาจเบ่งบารมีนั้น เลิกพูดได้แล้วเพราะประชาชนเขารู้สึกละอายใจแทน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีพวกสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่าอย่างหนากว่านักการเมืองเสียอีก