BAY ทีเด็ดอยู่ที่ TIDLOR

ราคาหุ้นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นอย่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ในระยะหลายเดือนนี้วนเวียนย่ำอยู่แถว ๆ ระหว่าง 31.00-40.00 บาท เหตุเพราะผลกำไรย้อยตามลงจากผลพวงของโควิด-19 ทำให้ต้องช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และจำต้องช่วยเหลือตนเองด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวังท่ามกลางสภาวะการเติบโตของสินเชื่อต่ำมาก และปัญหา NPL ที่รบกวนในยามไม่ปกติ


พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล

ราคาหุ้นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นอย่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ในระยะหลายเดือนนี้วนเวียนย่ำอยู่แถว ๆ ระหว่าง 31.00-40.00 บาท เหตุเพราะผลกำไรย้อยตามลงจากผลพวงของโควิด-19 ทำให้ต้องช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และจำต้องช่วยเหลือตนเองด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวังท่ามกลางสภาวะการเติบโตของสินเชื่อต่ำมาก และปัญหา NPL ที่รบกวนในยามไม่ปกติ

แม้ว่า BAY จะมีผู้บริหารเป็นคนญี่ปุ่นที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่ม MUFG ที่ถนัดทางด้านวาณิชธนกิจมากกว่า แต่การที่ยังคงสามารถรักษาการเติบโตของสินทรัพย์และมาร์เก็ตแคปไว้ได้ต่อเนื่อง นับแต่เข้ามาเต็มตัวหลายปีก่อน แถมยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้สวยงามต่อเนื่องระดับหัวแถวของกลุ่ม ด้วยอัตราทำกำไรสุทธิที่สูงกว่าร้อยละ 20 ต่อเนื่องมาตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา

ในไตรมาสแรกของปีนี้กำไรสุทธิของ BAY เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนลดลงไปร้อยละ 7.5 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน จากการที่ สินเชื่อเพื่อรายย่อยลดลงร้อยละ1.0 จากการชำระคืนเงินสินเชื่อของลูกค้าตามปัจจัยด้านฤดูกาล และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่สำคัญรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 โดยหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้ารายย่อยตามฤดูกาล

นอกจากนั้นยังมีต้นทุนที่เลี่ยงยาก คือให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ลูกค้า เช่นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาการชำระคืน ทบทวนวงเงินกู้ เปลี่ยนประเภทหนี้ ยืดอายุหนี้) ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ “สินเชื่อฟื้นฟู” และ “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” แล้วแต่กรณี

ผลลัพธ์ของการช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าจะกระทบต่อการทำกำไรและรายได้มากน้อยแค่ไหน แต่การที่ในต้นไตรมาสสองที่ผ่านมา บริษัทในเครือของ BAY ทื่ถือหุ้นทางตรงมากถึงร้อยละ 30 คือเงินติดล้อหรือ TIDLOR นำหุ้นจำนวน 85 ล้านหุ้น เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อในราคาหุ้นละ 36.50 บาท (พาร์ 3.70 บาท) โดยจัดสรรให้คนละ 1,000 หุ้น ซึ่งมีประชาชนได้รับการจัดสรรจากระบบสุ่มคัดเลือกด้วยระบบคอมพิวเตอร์จำนวน 85,000 คน รวมแล้ว ได้เงินจากการระดมทุนไป 3.1 พันล้านบาท

หุ้นเข้าซื้อขายวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเปิดที่ราคา 53.50 บาท และถูกไล่ขึ้นไปสูงสุดที่ 55 บาท ก่อนจะถูกเทขาย ราคารูดลงมาต่ำสุดที่ 45.25 บาท และจะกระเตื้องขึ้นมาปิดที่ 45.75 บาท สูงกว่าราคาจอง 9 บาท หรือสูงกว่าจอง 25.34%

ราคาหุ้นและมาร์เก็ตแคปของ TIDLOR อาจจะไม่มีส่วนทำให้กำไรของ BAY เพิ่มขึ้น แต่จะไปสะท้อนที่บุ๊กแวลูและส่วนแบ่งจากเงินปันผลรับในอนาคต ซึ่งหากเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน อย่าง MTC หรือ SAWAD จะเห็นได้ชัดว่าจะต้องก้าวกระโดดอย่างแน่นอน

จุดเด่นที่เป็นอานิสงส์ของ TIDLOR ที่ส่งต่อมาให้ราคาหุ้นแม่อย่าง BAY นี้น่าจะเป็นเฉกเช่นเดียวกับที่ OR เกื้อหนุนให้กับ PTT ในไตรมาสแรกมาแล้ว

ราคาของ BAY ที่ตั้งเค้าจะทะยานแรงจากฐานยามนี้จึงน่าจับตายิ่งว่าจะไปถึงแนวต้านไหนระหว่าง 38.00-40.00 บาทกันดี (ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ผลกระทบของโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยหักกลบ)

หรือต้องรอจนสิ้นเดือนนี้เสียก่อน ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นก็คงหมดรอบกันไปแล้วทั้งหุ้นแม่และลูก

Back to top button