หุ้นพลังงานไฮบริด

หลังจากข่าวร้ายเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในปีที่ผ่านมา ถล่มจนราคาน้ำมันดิบโลกร่วงลงไปทดสอบระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนหุ้นพลังงานย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน ต้องพึ่งพา “มือที่มองเห็น” ของกลุ่มชาติที่ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกทั้งหลาย ทั้งโอเปกและนอกโอเปก ทำการรักษาวินัยเคร่งครัด ลดกำลังการผลิตและส่งออกกันหลายระลอก


พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล

หลังจากข่าวร้ายเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในปีที่ผ่านมา ถล่มจนราคาน้ำมันดิบโลกร่วงลงไปทดสอบระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนหุ้นพลังงานย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน ต้องพึ่งพา “มือที่มองเห็น” ของกลุ่มชาติที่ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกทั้งหลาย ทั้งโอเปกและนอกโอเปก ทำการรักษาวินัยเคร่งครัด ลดกำลังการผลิตและส่งออกกันหลายระลอก

การดึงราคากลับมาให้มีเสถียรภาพเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ช่วยให้หุ้นพลังงานกลับมาสูงกว่าบุ๊กแวลูขึ้นมาทั่วหน้า แต่ก็ยังไปไหนไม่ได้ไกล เพราะอัตราความสามารถทำกำไรถดถอยลง

เหตุผลสำคัญมาจากการที่น้ำมันเริ่มมีสินค้าพลังงานคู่แข่งมากขึ้น เช่น พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะน้ำมันเพื่อการบริโภคในรถยนต์มีสัดส่วนลดลงชัดเจน เนื่องจากผู้ผลิตค่ายต่าง ๆ พากันหันไปผลิตรถยนต์ไฮบริด หรือ รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

วันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบของโลก ราคาขยับขึ้นสูงระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี เกือบจะทะลุแนวต้านราคาเหนือ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว วานนี้ก็ปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่บนเส้นทางขาขึ้น

คำถามคือ ขาขึ้นของราคาน้ำมันรอบนี้จะมากแค่ไหน แล้วจะสร้างวิกฤตระลอกใหม่ได้หรือไม่

คำตอบในข้อแรกคือ ขาขึ้นครั้งนี้ น่าจะมั่นคงและยั่งยืนพอสมควร เนื่องจากการเปิดตลาดเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 ในประเทศหลักของโลกอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น จะเร่งให้มีการลงทุนในภาคการผลิตและบริการในภาคเอกชนมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มเป็นขาขึ้นเช่นเดียวกับห่วงโซ่อื่น ๆ ทางเศรษฐกิจเช่นการจ้างงาน และการบริโภคสินค้าและบริการ

กลไกทางเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ขาขึ้นเช่นนี้ ส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมาก แต่เนื่องจากบทเรียนจากวิกฤตราคาน้ำมันหลายระลอก ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ขาขึ้นของราคาน้ำมันมีขีดจำกัด

มาตรการขจัดมลพิษที่เข้มงวดในเมืองใหญ่ทั่วโลก และการประหยัดพลังงาน (เช่นหลอดไฟ LED) หรือมาตรการจูงใจให้ผลิตพลังงานสะอาด จะแย่งชิงตลาดน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ธุรกิจพลังงาน  ด้านอื่น ๆ จะได้รับประโยชน์ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ นโยบายภาครัฐในการถ่วงดุลให้เกิดความเหมาะสม ทั้งด้านต้นทุน และการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน

สภาพตลาดพลังงานจากนี้ไปจึงเข้าข่าย “ตลาดกินแบ่ง” หรือ ลาดไฮบริด” ที่บริษัทในรูปโฮลดิ้งพลังงาน หรือ energy multiplex (มีฐานการผลิตที่ผสมผสานแบบไฮบริด มีทั้งพลังงานแบบจารีต และพลังงานทางเลือก ไม่เน้นหนักไปที่พลังงานรูปแบบเดียวมากเกินไป) จะได้รับประโยชน์สูงกว่า และมีความเสี่ยงต่ำกว่า

แนวทางของบริษัทพลังงานของไทยหลายรายเช่น BPP, CKP, EGCO, BCPG, GULF, RATCH, BGRIM รวมทั้ง ปตท.หรือ PTT ก็มุ่งไปเช่นนี้

เพียงแต่บนเส้นทางสู่ตลาดพลังงานไฮบริดนี้ การ “ทำได้” แตกต่างจาก “ได้ทำ” มากมาย เพราะเหตุผลเดียวว่า มีต้นทุนทางการเงินที่สูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการลงทุนที่ใช้เม็ดเงินสูงกว่าธุรกิจอื่น ๆ

เราจึงได้เห็น GUNKUL, SUPER, SPCG ที่ยังถูกตรึงกับธุรกิจเดิม ๆ จะมีที่แปลกออกไปคือ EA ที่พยายามปรับตัวสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังต้อรอลุ้นว่าจะไปได้ไกลแค่ไหนกับการโยกตัวข้ามจากธุรกิจ พลังงานที่มีลักษณะ B2B ไปสู่ตลาดแบบ B2C

ไม่ว่าบริษัทเหล่านี้จะสำเร็จ หรือล้มเหลว สิ่งที่แน่นอนก็คือ การระดมทุนเพื่อก้าวไปข้างหน้าในตลาดจะต้องเกิดขึ้นอีกหลายระลอก

ขออย่างเดียวว่าไม่มีบริษัทไหนซ้ำ “ลวงโลก” เหมือนกรณี IFEC ของคู่ขวัญ “หมอวิชัย–เสี่ยอ๋า” ละกัน

Back to top button