Flash Group จุดประกายสตาร์ตอัพไทย
หนึ่งในเป้าหมายหลักของ “ธุรกิจสตาร์ตอัพ” คือการก้าวสู่ความเป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) และนั่นเป็นแรงจูงใจให้สตาร์ตอัพต่าง ๆ ต้องมีการพัฒนาตัวเอง เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัพก้าวเข้าสู่ระดับ Unicorn แล้วมากกว่า 500 บริษัททั่วโลกและมีบริษัทที่ตั้งในอาเซียนอยู่ 9 บริษัท
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
หนึ่งในเป้าหมายหลักของ “ธุรกิจสตาร์ตอัพ” คือการก้าวสู่ความเป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) และนั่นเป็นแรงจูงใจให้สตาร์ตอัพต่าง ๆ ต้องมีการพัฒนาตัวเอง เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัพก้าวเข้าสู่ระดับ Unicorn แล้วมากกว่า 500 บริษัททั่วโลกและมีบริษัทที่ตั้งในอาเซียนอยู่ 9 บริษัท
โดย Unicorn หมายถึงธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่ต่ำกว่า 31,000 ล้านบาท) สตาร์ตอัพที่มีชื่อเสียงใน Sillicon Valley ประเทศสหรัฐฯ อย่าง Uber, Airbnb หรือ Snapchat และปัจจุบันมีสตาร์ตอัพจากจีน อย่าง Xiaomi หรือ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันรายใหญ่ของจีน ที่ถือว่าก้าวข้ามความเป็น Unicorn มาแล้ว
สำหรับระดับชั้น “สตาร์ตอัพ” มีอยู่ 5 ระดับ เริ่มต้นจากระดับ My Little Pony (มายลิตเติ้ลโพนี่) คือ สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระดับ Centaur (เซนทอร์) คือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระดับ Unicorn (ยูนิคอร์น) คือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระดับ Decacorn (เดเคคอร์น) คือ สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระดับ Hectocorn (เฮกโตคอร์น) คือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยภูมิภาคเอเชีย สตาร์ตอัพระดับ Unicorn ที่มีบทบาทโลดแล่นทั่วโลก อย่างสตาร์ตอัพจากจีน อาทิ ByteDance บริษัทแม่ของแอปพลิเคชันยอดฮิตคือ TikTok ส่วนอินเดียมีมากถึง 5 แห่ง อาทิ Flipkart, Ola Cabs และ Paytm ส่วนเกาหลีใต้ มีจำนวนถึง 12 แห่ง ส่วนแถบอาเซียน สตาร์ตอัพ ที่เป็น Unicorn มักอยู่ในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีคือ Grab บริการขนส่งอาหารและพัสดุ และ Gojek แพลตฟอร์มเรียกรถและ E-Commerce แบบครบวงจร
สำหรับ “สตาร์ตอัพสัญชาติไทย” ที่ก้าวสู่ระดับ Unicorn เป็นรายแรกคือธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการ E-commerce สัญชาติไทยแบบครบวงจร หนึ่งในนั้นคือ Flash Express ที่ก่อตั้งโดย “คมสันต์ ลี” หลังจากล่าสุดปิดดีลใหญ่จากการระดมทุนโดยมีกลุ่ม Buer Capital Limited และ SCB 10X ร่วมทุน ตามด้วยผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP, บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือกรุงศรีกรุ๊ป
ทำให้กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) สามารถระดมทุนได้สูงถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท โดยเม็ดเงินลงทุนจะถูกกระจายสู่หลากหลายส่วน ทั้งด้านการบริหารและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ครอบคลุมถึงการลงทุนด้านแพลตฟอร์ม eCommerce ที่มีเป้าหมายตอบโจทย์และสร้างความแตกต่างให้แก่ตลาด รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขาย ขยายบริการและสร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ
การก้าวสู่ Unicorn ของ Flash Group ครั้งนี้ ถือเป็นอัตราเร่งให้สตาร์ตอัพ ต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพื่อจูงใจให้เกิดการระดมทุนมากขึ้น โดยไต่เต้าจากระดับ My Little Pony สู่ระดับ Centaur เพื่อก้าวสู่ระดับ Unicorn ดังเช่นที่ Flash Group ประสบความสำเร็จมาแล้ว
และเชื่อว่า..ประเทศไทยมีสตาร์ตอัพ..ที่เป็นช้างเผือกรอเงินทุนมาคล้องหลายแห่งเลยทีเดียว..!!