บรรยากาศแห่งความหวังพลวัต2015

ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยจากการสำรวจล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่าลดต่ำลงสู่จุดต่ำสุดในรอบปี แต่ความรู้สึกจากผลสำรวจดังกล่าว จะไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนมากนัก


ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยจากการสำรวจล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่าลดต่ำลงสู่จุดต่ำสุดในรอบปี แต่ความรู้สึกจากผลสำรวจดังกล่าว จะไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนมากนัก

ว่าไปแล้วอารมณ์ดังกล่าว เป็นอารมณ์ตกค้างจากสถานการณ์ดาหน้าที่เป็นผลพวงจากการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของทีมงานเศรษฐกิจรัฐบาลชุดที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันอย่างมากว่าเกาไม่ถูกที่คัน เพราะในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่กลับใช้แนวทางตั้งรับ แทนที่จะเป็นเชิงรุก

มาตรการเชิงรุกที่ทีมงานเศรษฐกิจชุดใหม่ภายใต้การนำของรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์กันค่อนข้างเยอะว่าลอกเลียนนโยบายของทักษิณและพรรคไทยรักไทยมาใช้โดยไม่เสียลิขสิทธิ์ แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่ามาตรการที่นำมาใช้ ถือว่าเดินทางถูกทาง เพราะเริ่มต้นด้วยกระบวนทัศน์ที่จะใช้มาตรการเชิงรุกในการรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา คนไทยเราได้เห็นชุดของมาตรการที่ทยอยกันออกมาทุกสัปดาห์ และเกือบทั้งหมด ถือว่าตรงเป้ากับปัญหาทั้งสิ้น เช่น การอัดฉีดเศรษฐกิจรากหญ้า (ภายใต้ชื่อใหม่) การกระตุ้นความคึกคักของ SME การส่งเสริมธุรกิจยุทธศาสตร์ 8 ชนิดด้วย ระบบคลัสเตอริ่ง และล่าสุดกำลังจะออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

แม้ว่านายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ภายในสองสัปดาห์ มาตรการที่สมบูรณ์จะออกมา แต่เป็นมาตรการในระยะสั้น แต่ยังไม่แน่นอนว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะปัญหาที่แท้จริงของตลาดอสังหาฯยามนี้ คือ ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกระทรวงการคลังจะแก้ไข โดยให้ ธอส.ไปหามาตรการเพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะทำให้ ธอส. ก็จะมีความเสี่ยงหนี้เสียเพิ่มขึ้น

เพียงคำพูดเท่านี้ก็เพียงพอที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความหวังขึ้นมาให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนี้ ให้เตรียมแผนธุรกิจที่เหมาะสมรองรับ ไม่ว่ามาตรการที่ออกมา จะสามารถกระตุ้นให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางรายได้ประโยชน์ บางรายเสียประโยชน์ และบางรายไม่ได้อะไรเลยก็ตาม เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงเป้าอย่างมาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนกลับมาคึกคักด้วยแผนธุรกิจใหม่ และกำลังซื้อที่จะตามมา

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจที่ส่งผลสะเทือนต่อคนหลายกลุ่มอย่างมาก และในยามที่สังคมเมืองกำลังขยายตัว การกระตุ้นธุรกิจนี้ คือการสร้างความหวังใหม่ที่มีนัยสำคัญ รัฐบาลที่มีสติปัญญาย่อมเข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยาก มีแต่รัฐบาลที่โง่เง่าเท่านั้น ไม่ใส่ใจกระตุ้นธุรกิจนี้ เพราะการทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เป็นการคืนความสุขที่สำคัญยิ่ง นอกเหนือจากการทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า

หากจะว่าไปแล้ว กรอบของการกระตุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงต้นเดือน ต.ค.  ซึ่งมาตรการที่มีการเสนอ น่าที่จะคล้ายกับมาตรการที่เคยบังคับใช้เดิมๆ ในอดีต รวมทั้งในช่วงปี 2551-2553 แต่อาจจะแตกต่างในรายละเอียดบ้าง

ข้อดีคือ มาตรการนี้ นอกจากช่วยเหลือให้ประชาชนที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยมีกำลังซื้อมากขึ้น ยังมีผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสังหาริมทรัพย์ มีการบันทึกยอดขาย  รายได้ กำไรสุทธิ และราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้น (สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาด) อย่างมีนัยสำคัญ 

การคาดเดาล่วงหน้าว่าใครจะได้รับประโยชน์มากกว่ากันเป็นเรื่องปกติบนหน้าสื่อ หรือสังคมออนไลน์ แต่ที่สำคัญมากกว่าข่าวดังกล่าวอยู่ที่ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ นับแต่การจ้างงาน การก่อสร้าง หรือการตกแต่ง รวมทั้งธุรกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ด้วย

ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับกันคือ ดัชนีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนในเขตเมืองใหญ่โดยเฉพาะกทม.ปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน และต่ำกว่าช่วงเวลาที่ออกมาตรการครั้งก่อนหน้านี้ในอดีต  จากการประเมินระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำ และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์

มาตรการที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงเป็นมาตรการที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ตรงจุดและไม่สร้างหนี้เสียเพิ่มขึ้นให้กับระบบ ซึ่งหากพิจารณาแล้ว การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมทั้งการปล่อยเงินกู้ในระดับที่เหมาะสมให้ผู้มีรายได้น้อย จะเป็นมาตรการที่ได้ผลสูงสุด

ผลข้างเคียงของมาตรการแน่นอนว่า จะต้องตกอยู่กับ ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์แง่การระบายสินค้าเหลือขาย และสินค้าใหม่ ได้มากขึ้น เพียงแต่อันแรกไม่มีผลต่อการจ้างงาน และส่วนหลังมีผลต่อการจ้างงาน เท่านั้นเอง

มาตรการภาษีที่มักจะถือเป็นมาตรการสำคัญ และใช้ซ้ำซาก ได้แก่ การลดภาษีธุรกิจเฉพาะจากระดับปกติ  3.3% มีคำถามว่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ยามนี้หรือไม่ เพราะเป็นการช่วยผู้ประกอบการโดยตรงฝ่ายเดียว โดยที่ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ ส่งผลบวกต่อผู้บริโภคต่ำมาก

จากข้อมูลที่มีการสำรวจ พบว่า ที่อยู่อาศัยเหลือขายในเขตกทม.และปริมณฑลปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วน คอนโดมิเนียม  ต่อ บ้านแนวราบ เท่ากับ 65 : 35 โดยปีนี้ จำนวนของหน่วยคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้าง มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยมีมูลค่ามูลค่าตลาดเท่ากับ 2.7 แสนล้านบาท

ที่แน่นอนคือไม่ว่ามาตรการที่ออกมานี้ จะดีหรือบกพร่อง แต่ก็ถือเป็นการสนองตอบและสร้างความหวังใหม่ให้กับเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างดี ไม่ให้เศรษฐกิจจมปลักกับความรู้สึกห่อเกี่ยวแบบผลสำรวจความเชื่อมั่นของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

พ้นจากจุดต่ำสุด แล้วเดินหน้าต่อเป็นเศรษฐกิจขาขึ้นเสียที  

Back to top button