‘อุโมงค์รถไฟ’ วิวัฒน์บริษัทรับเหมาไทย
ผ่านมากว่า 114 ปีกับพัฒนาการ “อุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่าน” จุดเริ่มต้นที่ “อุโมงค์ขุนตาน” ความยาวถึง 1,352.10 เมตร (หรือประมาณ 1.35 กิโลเมตร) ตั้งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ระหว่าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง กับ อ.แม่ทา จ.ลำพูน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2461 โดยการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม (ปัจจุบันคือการรถไฟแห่งประเทศไทย)
ผ่านมากว่า 114 ปีกับพัฒนาการ “อุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่าน” จุดเริ่มต้นที่ “อุโมงค์ขุนตาน” ความยาวถึง 1,352.10 เมตร (หรือประมาณ 1.35 กิโลเมตร) ตั้งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ระหว่าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง กับ อ.แม่ทา จ.ลำพูน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2461 โดยการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม (ปัจจุบันคือการรถไฟแห่งประเทศไทย)
การก่อสร้างขณะนั้น มีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ “มร.เอมิล ไอเซน โฮเฟอร์” ที่ได้เข้ารับราชการ “กรมรถไฟหลวง” เมื่อปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด ใช้เวลาสร้างยาวนาน 11 ปี ด้วย ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1.36 ล้านบาท
นั่นคือ “สารตั้งต้น” การศึกษางานด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค จนทำให้งานเจาะหรือก่อสร้างอุโมงค์และนำมาสู่ “บริษัท รับเหมาก่อสร้างเฉพาะทาง” ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีเพียงบริษัทเดียว นั่นคือบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT
จาก “อุโมงค์ทางรถไฟขุนตาน” แห่งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย..ก้าวมาสู่ “อุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่าน” ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ “อุโมงค์รถไฟมาบกะเบา” ด้วยความยาวกว่า 5.2 กิโลเมตร ภายใต้โครงการรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ)
พัฒนาการวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค ที่เปลี่ยนไประหว่าง “อุโมงค์รถไฟขุนตาน” กับ “อุโมงค์รถไฟมาบกะเบา” ไม่ใช่แค่เรื่องระยะทาง..หากแต่เป็นอุโมงค์ที่ถูกควบคุมและก่อสร้างโดยวิศวกร และบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทย ในนามกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ที (ระหว่างบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD) นั่นเอง
ล่าสุดอุโมงค์รถไฟมาบกะเบา ได้ดำเนินงานเจาะทะลุ (Breakthrough) บริเวณสถานีรถไฟมาบกะเบา ให้เชื่อมถึงกันทั้งสองด้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา..จุดหมายต่อไป คือ อุโมงค์มวกเหล็ก ระยะทาง 0.26 กิโลเมตร และอุโมงค์คลองขนานจิตร ระยะทาง 1.17 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่าง จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา
อีกหนึ่งโครงการ..ที่บ่งบอกถึงการยกระดับ “งานวิศวกรรมโยธา-ธรณี” ด้านงานอุโมงค์รถไฟของไทย คือโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ (เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ) โดยสัญญาที่ 1 (เด่นชัย-งาว) ระยะทาง 103 กิโลเมตร มีงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 7 กิโลเมตร ส่วนสัญญาที่ 2 (งาว-เชียงราย) ระยะทาง 132 กิโลเมตร มีงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 3 กิโลเมตรและสัญญา 3 (เชียงราย-เชียงของ) ระยะทาง 87 กิโลเมตร มีงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟระยะทาง 3 กิโลเมตร
หากมองจากภาพรวม..นี่เป็นอีกความท้าทายต่อวิวัฒน์อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และหากมองลึกไปถึงศักยภาพบริษัทรับเหมาก่อสร้างเฉพาะทางด้านอุโมงค์รถไฟไทย หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้น “บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT” เพราะรถไฟทางคู่ (เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ) ต่างล้วนมีงานอุโมงค์ถนัดมือ RT ทั้ง 3 สัญญา..ว่าแต่งานนี้ RT จะเลือกรับงานมากหรือน้อยเท่านั้นเอง..!?