SSI ฝันร้ายของ M&A ข้ามชาติ
บทเรียนอันปวดร้าวครั้งล่าสุดสำหรับตระกูลวิริยประไพกิจ เมื่อไม่สามารถทำให้เป้าหมายธุรกิจข้ามชาติอันเคยสวยหรูในการเข้าซื้อกิจการเมื่อปลายปี 2553 ในอังกฤษทำให้กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ได้ แต่กลับกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งจนยากที่จะประคองตัวต่อไปได้
บทเรียนอันปวดร้าวครั้งล่าสุดสำหรับตระกูลวิริยประไพกิจ เมื่อไม่สามารถทำให้เป้าหมายธุรกิจข้ามชาติอันเคยสวยหรูในการเข้าซื้อกิจการเมื่อปลายปี 2553 ในอังกฤษทำให้กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ได้ แต่กลับกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งจนยากที่จะประคองตัวต่อไปได้ เมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ และขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนยากที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทำให้เหลือทางเลือกอันน้อยนิด นั่นคือ การเพิ่มทุนเพื่อขายหุ้นเฉพาะเจาะจง เพื่อเปิดทางให้พันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุนด้วย โดยสัดส่วนของตระกูลนี้ จะต้องลดลงไปอย่างเลี่ยงไม่พ้น
คำถามคือ ทางเลือกนี้อาจจะทำให้บริษัทอยู่รอด แต่จะทำให้คนของตระกูล สูญเสียอำนาจในการบริหารกิจการไปหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ผู้นำคนปัจจุบันคือ วิน วิริยประไพกิจ จะต้องให้คำตอบสำคัญที่สุด
ภายใน 1 สัปดาห์ ข่าวร้ายของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ผู้ลิตเหล็กรายใหญ่สุดของไทย เกิดขึ้น 2 ข่าวไล่เลี่ยกัน ข่าวแรก ธนาคารเจ้าหนี้ระยะยาวรายเล็กที่สุดคือ ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCOกล่าวว่า ธนาคารเตรียมตั้งสำรองพิเศษในช่วงไตรมาส 3/58 กรณีปล่อยสินเชื่อให้กับ SSI ในวงเงินสินเชื่อ 4,000 ล้านบาทเพิ่มเติม หลังจากที่ผ่านมาธนาคารได้มีการตั้งสำรองฯไปแล้วบางส่วน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ข่าวที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เมื่อ SSI แจ้งให้ทราบทั้งในไทยและอังกฤษว่า โรงงานผลิตเหล็กแท่งแบน (slap) ที่โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ เมืองทีไซด์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ คือในนามบริษัท หยุดผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวที่ของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด (SSI UK) อันเป็นบริษัทย่อยที่ SSI ถือหุ้นทั้งหมด 100% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการหารือกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย เช่น รัฐบาลอังกฤษ คู่ค้า และสหภาพแรงงาน ในการให้ความร่วมมือลดต้นทุนการผลิตและหยุดผลขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก
โดยการตัดสินใจหยุดผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวของธุรกิจโรงถลุงเหล็กในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก เพราะรายได้จากการขายเหล็กของ SSI UK ให้บริษัทอื่น (ไม่นับที่ขายให้แม่ในไทยบางส่วน) คิดเป็นร้อยละ 52 ของยอดขายรวมของกลุ่มบริษัทในงวด 6 เดือนปี 2558) อย่างไรก็ตาม จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ยังมีวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนสำรองอยู่ และสามารถจัดซื้อวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนราคาถูกในตลาดได้
การตัดสินใจหยุดการผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทให้ดีขึ้น ตามที่บริษัทฯ ได้ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558
การปิดโรงงาน สะท้อนถึงความล้มเหลวของการซื้อกิจการในต่างประเทศของ SSI อันถือเป็นก้าวใหญ่มากของบริษัทฯ เพราะการตัดสินใจทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อกิจการโรงงานถลุงเหล็กต้นน้ำ TCP ในอังกฤษที่ทีไซด์ ทางตอนเหนือของอังกฤษเมื่อต้นปี 2554 ต่อมาจากกลุ่มทาทาสตีลของอินเดีย ถือว่าได้มีการพิจารณารอบคอบแล้วในขณะนั้น ว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะกับยุทธศาสตร์เชื่อมโยงธุรกิจเหล็กต้นน้ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ หาแหล่งผลิตเหล็กต้นน้ำเพื่อมาป้อนเป็นวัตถุดิบกับโรงงานรีดร้อนรีดเย็นของ SSI ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ที่สุดของประเทศ และของอาเซียน หลังจากที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนบางกลุ่มในพื้นที่จะก่อสร้างอาคารที่ประจวบคีรีขันธ์ จนมีท่าว่าจะไม่อาจตั้งเพิ่มเติมได้
การเข้าซื้อกิจการครั้งนั้น ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินในประเทศอย่างแข็งแรง โดยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ตัวแทนของ SSI ได้แก่ นายมารวย ผดุงสิทธิ์ ประธานกรรมการ และนายวิทย์ วิริยประไพกิจ ได้ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 23,900 ล้านบาท และสัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (18,000 ล้านบาท) กับผู้บริหาร 3 สถาบันการเงินประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทิสโก้ (TISCO) เพื่อใช้เป็นเงินทุนครั้งนั้น
ผลของการลงทุนครั้งนั้น นอกจากการก่อหนี้แล้ว ยังทำให้ SSI จำต้องเพิ่มทุนครั้งใหญ่ โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 5,240 ล้านหุ้น เพื่อระดมทุนประมาณ 6 พันล้านบาท แล้วยังกู้เงินจากสถาบันการเงินอีก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับการจัดหาเงินกู้ของบริษัท SSI UK ซึ่ง SSI ถือหุ้น 100% อีก 650 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ SSI UK มีเงินทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพียงพอในการทำธุรกิจ เพื่อใช้ซื้อสินทรัพย์โรงงานถลุงเหล็ก Teesside เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับปรุงการผลิตต่างๆ ภายใน 2 ปี
การตัดสินใจซื้อโรงงานถลุงเหล็ก TCP เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ถือว่าได้มาในราคาไม่แพง แต่ก็เป็นจังหวะเวลาที่ผิดพลาด เพราะธุรกิจของยุโรปเกิดวิกฤตระลอกใหม่ จนกระทั่งราคาเหล็กทั่วโลกต่ำลงต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงงานที่เข้าไปซื้อกิจการ ขาดทุนติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้บริษัทแม่มีปัญหาการเงินตามไปด้วย เนื่องจากปรากฏตัวเลขขาดทุนทุกไตรมาส ส่งผลให้เกิดภาระทางการเงินอันแสนสาหัสมาจนถึงปัจจุบัน
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI
งวดงบการเงิน | งบปี 54 | งบปี 55 | งบปี 56 | งบปี 57 | ไตรมาส2/58 |
ณ วันที่ | 31/12/2554 | 31/12/2555 | 31/12/2556 | 31/12/2557 | 30/6/2558 |
บัญชีทางการเงินที่สำคัญ | |||||
สินทรัพย์รวม | 86,363.66 | 88,519.93 | 84,726.19 | 77,293.27 | 73,321.88 |
หนี้สินรวม | 61,415.87 | 73,638.10 | 74,116.39 | 71,833.35 | 74,312.15 |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 24,095.76 | 13,991.37 | 9,793.73 | 4,659.93 | -1,776.59 |
มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว | 18,184.11 | 27,080.63 | 32,166.26 | 32,166.26 | 32,166.26 |
รายได้รวม | 53,306.41 | 61,911.27 | 66,143.02 | 66,082.47 | 22,921.11 |
กำไรสุทธิ | -980.77 | -15,902.84 | -7,052.53 | -4,903.03 | -6,261.82 |
กำไรต่อหุ้น (บาท) | -0.06 | -0.83 | -0.24 | -0.15 | -0.19 |
อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ | |||||
ROA(%) | 1.15 | -14.31 | -6.12 | -2.04 | -6.81 |
ROE(%) | -4.55 | -83.51 | -59.30 | -67.84 | -330.50 |
อัตรากำไรสุทธิ(%) | -1.84 | -25.69 | -10.66 | -7.42 | -27.32 |
(หน่วย: ล้านบาท)
ยอดหนี้รวมของ SSI ที่มีอยู่กับกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 รายเพื่อซื้อกิจการดังกล่าว มีมูลค่ารวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทยประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และธนาคารทิสโก้ประมาณ 4.4 พันล้านบาท ปรากฏกว่า SSI ไม่เคยชำระเงินต้นเลย ชำระแต่ดอกเบี้ยเท่านั้น
ผลพวงของการปิดโรงงานในอังกฤษ ทำให้ทางกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ให้เงินกู้แก่ SSI UK ซึ่งประกอบด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จึงตัดสินใจเรียกให้ SSI UK ชำระหนี้ที่มีอยู่ตามเงื่อนไขการกู้เงิน ซึ่งจากฐานะทางการเงินในปัจจุบันของ SSI UK ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ใหญ่ของ SSI UK จึงขอให้บริษัทฯ ร่วมรับผิดชอบในการชำระหนี้ดังกล่าว ในฐานะผู้ค้ำประกันของ SSI UK สำหรับหนี้จำนวนประมาณ 790ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท
การเสื่อมถอยของฐานะการเงินของ SSI ที่เกิดจากการซื้อกิจการที่ผิดพลาดในอังกฤษ ได้มีการพยายามปลดภาระทางการเงินออกไปหลายวิธีการ นับแต่
– การเจรจากับกลุ่มสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เปลี่ยนสถานะวงเงินกู้จากเงินกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวอายุ 3 ปี แบบทยอยชำระคืนเงินต้น เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้สภาพคล่องดีขึ้นอย่างชัดเจน
– ปรับเงื่อนไขการดำเนินการกับ SSI UK จากการที่เป็นลูกหนี้/ผู้ผลิตวัตถุดิบล่วงหน้า ให้กลายเป็นบริษัทในเครือกระชับมากขึ้น ผ่านข้อตกลงเปลี่ยนค่าสินค้าเหล็กแท่งแบนล่วงหน้าที่บริษัทจ่ายให้แก่ SSI UK จำนวน 125 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนใน SSI UK เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางโครงสร้างเงินทุนของบริษัท
– การลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนโดยซื้อคืนหุ้นกู้แปลงสภาพคงค้างของบริษัทจำนวนประมาณ 2,097 ล้านบาท และชำระคืนเงินกู้ยืมด้อยสิทธิพร้อมดอกเบี้ยจำนวนไม่เกิน 33 ล้านเหรียญสหรัฐ และการเพิ่มทุนโดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพื่อระดมทุนจำนวนไม่เกิน 413 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับผู้ถือหุ้นพันธมิตรใหม่และเซ็นสัญญา VANOMET AG ผู้ค้าเหล็กโลกรายใหญ่ร่วมลงทุนวงเงินไม่เกิน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปแบบของการให้วงเงินกู้ระยะสั้นสำหรับ SSI UK จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
และวงเงินกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SSI UK จำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่อย่างหลังนี้ VANOMETAG ซึ่งเป็นผู้ค้าเหล็กและมีความชำนาญด้านเหล็กรายสำคัญของโลกสามารถเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัททั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนที่เหลือขายผู้ถือหุ้นเดิม และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ส่งผลหนี้สินต่อทุนลดเหลือ 1.6 เท่า จาก 3.1 เท่า ถือเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของธุรกิจที่มีวัฏจักรขาขึ้นและลงยาวนานกว่าธุรกิจอื่นอย่างมาก
– เข้าสู่การเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้สถาบันการเงินระยะสั้นและระยะยาวจำนวน 8 ราย เพื่อขอยืดเวลาจ่ายหนี้จากระยะสั้นเป็นหนี้ที่มีระยะยาวกว่าที่กำหนด โดยยอมเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งแม้จะทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้นอีกมาก แต่ก็แก้ปัญหาสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง สภาพคล่องของบริษัทฯดีขึ้นชัดเจน เพราะบริษัทฯสามารถที่จะทำการผลิตเหล็กต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ SSI UK จะลดลงจาก 3.1 เท่าเหลือ 1.3 เท่า และ SSI มี D/E ลดลงจาก 3.1 เท่าเหลือ 1.6 เท่า
เมื่อสิ้นงวดไตรมาส 2 ของปีนี้ งบการเงินของ SSI ระบุว่า บริษัทฯมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ เข้าข่ายที่จะถูกเพิกถอน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขอให้บริษัทฯชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 1,777 ล้านบาทและผู้สอบบัญชีของบริษัทฯได้ระบุว่า กลุ่มบริษัทฯมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 52,765 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมจำนวน 33,953 ล้านบาท จำเป็นต้องหาทางเพิ่มทุน แต่การเจรจากับนักลงทุนที่ให้ความสนใจในธุรกิจของบริษัทฯเพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 16,000 ล้านหุ้นที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว แต่ไม่มีผล
เหตุผลเบื้องหลังคือ การหาพันธมิตรหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่เข้ามา ค่อนข้างลำบากเนื่องด้วย SSI ยังมีหนี้สินสุทธิที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย (Net Debt) ก้อนใหญ่ 5.27 หมื่นล้านบาท และเกือบทั้งหมดจะถึงกำหนดชำระเงินภายใน 1 ปี
เหลือทางเลือกเดียวที่จำต้องเกิดขึ้นคือ การเจรจากับธนาคารเพื่อแปลงหนี้สินเป็นทุนซึ่งก็ไม่ง่ายเช่นกัน
สถานการณ์ดำเนินมาถึงขั้นที่ไม่มีทางเลือกอื่น บรรดาเจ้าหนี้ 3 รายจึงรวมตัวกันจัดการรับมือกับทางเลือกสุดท้าย ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายออกไป โดยวิธีการเจรจาเพื่อหาทางปรับโครงสร้างทางการเงินเป็นกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด โดยยอดหนี้รวมของ SSI ที่มีอยู่กับกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 ราย มีมูลค่ารวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทยประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และธนาคารทิสโก้ประมาณ 4.4 พันล้านบาท โดยแต่ละธนาคารได้ทำการกันสำรองเงินสินเชื่อที่ให้แก่ SSI จนครบถ้วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้แล้ว
คำแถลงการณ์ที่ระบุว่า SSI และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ดำเนินการร่วมกันในการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพต่อไป โดยคำนึงถึงการรักษามูลค่าทางธุรกิจของบริษัทฯ และการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าของบริษัทฯ จึงเป็นแค่ “น้ำยาดับกลิ่น” ธรรมดาเท่านั้น
ในส่วนของเจ้าหนี้ ตัวแทนของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่าหนี้รวมกันกว่า 22,000 ล้านบาทดังกล่าว แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ เงินกู้ที่ให้แก่บริษัทย่อยในประเทศอังกฤษนั้น จะมีการตั้งสำรองฯเต็มจำนวน โดยอยู่บนสมมุติฐานว่าหลักประกันที่มีอยู่จะถูกตีมูลค่าเป็นศูนย์ ในขณะที่ SSI ในฐานะบริษัทแม่ในประเทศไทยจะถูกตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนถึงการลดลงในมูลค่าหลักประกันที่มีอยู่เนื่องจากบริษัทฯเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯหรือตัดหนี้สูญของ SSI และบริษัทในเครือจะมีจำนวนรวมกันประมาณ 10,000 ล้านบาทถึง 11,000 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้มีการดำเนินการเพื่อที่จะให้รับรู้กำไรที่เกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในพอร์ตการลงทุนของธนาคาร โดยจะมีการบันทึกรับรู้กำไรจากการลงทุนเมื่อมีการขายหลักทรัพย์เกิดขึ้น สำหรับกำไรจากการลงทุนดังกล่าวในไตรมาสนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7-8 พันล้านบาท ซึ่งจะสามารถลดผลกระทบที่มีต่อกำไรสุทธิของธนาคาร อันเนื่องมาจากการตั้งสำรองฯในกรณีของ SSI ได้ในระดับหนึ่ง
ด้านธนาคารกรุงไทย นายวรภัค ธันยวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า แรงกดดันจากปัญหาหนี้ SSI ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองฯเพิ่มมากขึ้น โดยในไตรมาส 3/58 ธนาคารเตรียมตั้งสำรองฯเพิ่มอีก 9,000 ล้านบาทสำหรับหนี้ทั้งหมดของ SSI หรือเป็นการตั้งสำรองหนี้ทั้ง 100% หลังจากในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันธนาคารตั้งสำรองฯในส่วนดังกล่าวไปแล้ว 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.31 หมื่นล้านบาท และสิ่งที่ส่งผลอย่างหนึ่งคือ ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPLs) ในไตรมาส 3 นี้จะเพิ่มเป็น 3.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.96%
ส่วนนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) มีหนี้รวมของทั้งกลุ่ม SSI ประมาณ 4.4 พันล้านบาท แบ่งเป็น SSI จำนวน 821 ล้านบาท และ SSI UK จำนวน 100 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3,570 ล้านบาท
ผลกระทบในทางลบที่บรรดาเจ้าหนี้ธนาคารได้รับจากกรณีของ SSI นี้ นักวิเคราะห์ของ บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ ระบุว่า กรณี SSI UK ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะทำให้ทั้ง 3 ธนาคารเจ้าหนี้ ต้องกันสำรองฯเพิ่ม 1.86 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรของกลุ่มทิสโก้ปีนี้ มากที่สุดถึง 32% ธนาคารกรุงไทย 22% และ ธนาคารไทยพาณิชย์ 13% ตามลำดับ
ไม่ว่ากรณีนี้จะลงเอยเร็วหรือช้า เจ็บปวดมากหรือน้อย หรือ มีความเสียหายเป็นตัวเลขเท่าใด แต่ผลพวงของปัญหาที่เกิดขึ้น ถือเป็นกรณีศึกษาของการลงทุนข้ามชาติครั้งใหญ่ของ SSI ที่เคยถูกมองว่าเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของบริษัทไทย และเป็นโอกาสในการปล่อยสินเชื่อโครงการมหึมาของธนาคารพาณิชย์ไทยในเกมครอบงำกิจการระหว่างประเทศ ที่กลับกลายเป็นภาระมากกว่าความรุ่งโรจน์ ไม่ว่าเจตนาของการกระทำจะสวยหรูเพียงใด
ตำนานครั้งนี้ จึงเป็นมากกว่าฝันร้ายกลางฤดูฝน