พาราสาวะถี

ต้องยอมรับความจริงกันว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติแล้วสำหรับการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีแค่หมอจากศิริราชที่เรียกร้องให้ล็อกดาวน์เมืองหลวงของประเทศเป็นเวลา 7 วัน ยังคงมีเสียงของบุคลากรทางด้านการแพทย์แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างหลากหลาย โดยขาเก่าเจ้าประจำที่ฝ่ายกุมอำนาจไม่ปลื้มในความเห็นเท่าไหร่ อย่าง นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เสนอความเห็นที่น่าสนใจ


ต้องยอมรับความจริงกันว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติแล้วสำหรับการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีแค่หมอจากศิริราชที่เรียกร้องให้ล็อกดาวน์เมืองหลวงของประเทศเป็นเวลา 7 วัน ยังคงมีเสียงของบุคลากรทางด้านการแพทย์แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างหลากหลาย โดยขาเก่าเจ้าประจำที่ฝ่ายกุมอำนาจไม่ปลื้มในความเห็นเท่าไหร่ อย่าง นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เสนอความเห็นที่น่าสนใจ

ทางออกประเทศมีทางเดียวคือ ต้องสามารถตรวจคัดกรองได้ทุกคนและทุก 7 วัน เมื่อตรวจพบมีการติดเชื้อเกิดขึ้นต้องแยกตัวออกทันที ดังนั้น จะไม่เหมือนการตรวจแบบตั้งรับหรือการตรวจเชิงรุกในบางกลุ่ม ซึ่งเมื่อตรวจเมื่อไหร่ก็เจอเมื่อนั้น แค่ไม่ได้ตรวจทุกคน ทำไมต้องทุก  7 วันเพราะถ้าตรวจวันนี้อาจได้รับเชื้อสามถึงสี่วันที่แล้วก็ตรวจไม่เจอ และในช่วงเวลาต่าง ๆ ทุกวันมีโอกาสได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ที่ทำอยู่ขณะนี้ไม่สามารถจำกัดขอบเขตของการระบาดได้

ข้อเสนอที่แนะนำนั้น หมอธีระวัฒน์ยืนยันว่า ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมมาตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยการดำเนินการในลักษณะนี้ แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายบริหารประเทศไม่ได้มองตรงจุดนั้น เป็นเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงมุ่งเน้นไปที่การให้ประชาชนการ์ดไม่ตก และเร่งระดมหาวัคซีนมาฉีด ทั้งที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินใจผิดมาตั้งแต่ต้น หรือล้มเหลวกันทั้งระบบ แต่ก็ยังจะดันทุรังเพื่อลบล้างความอับอาย

สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ คงเป็นอย่างที่ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา หัวหน้าภาคเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ระบายความอัดอั้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “เราไม่ควรเสียเวลา หรือใช้เวลานานกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ค่ะ ทำไมมาเตือนเรื่องการ์ดอย่าตก เพราะเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และควรทำอย่างยิ่ง และหลายคนเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อ หลายคนยังรอวัคซีนอย่างเดียว หากท่านระมัดระวังตัวดีอยู่แล้ว ทำต่อไปค่ะ และขอให้ปลอดภัยนะคะ”

ที่ต้องขีดเส้นใต้คือความเห็นที่ระบุว่า “อ่านให้จบก่อนตัดสินนะคะ นี่เป็นสถานการณ์จริง ๆ ที่เรากำลังเผชิญค่ะ ทำไมถึงไม่พูดถึง ไม่ด่ารัฐบาล บอกตรง ๆ เสียเวลาค่ะ ไม่เคยผิดหวังในรัฐบาล เพราะ “ไม่เคยหวัง” เหมือนที่ไม่เคยคาดหวังว่าปลาจะปีนต้นไม้ได้ หรือไก่จะดำน้ำเป็น สถานการณ์ที่เรามาถึงจุดนี้ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดค่ะ” แม้จะเป็นเสียงเล็ก ๆ แต่มีพลังอย่างยิ่ง เพราะนั่นย่อมเป็นภาพสะท้อนความอึดอัดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการต่อสู้กับโควิด-19 อีกแง่มุมหนึ่ง

ประการสำคัญสำหรับภาวะวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ในพื้นที่กทม.และอาจจะลามไปถึงปริมณฑลด้วยนั่นก็คือ เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงหรือผู้ป่วยวิกฤติ รุนแรง ที่หากเป็นไปอย่างที่หมอยุวเรศมคฐ์ว่า ก็น่าวิตกไม่น้อย เตียง ICU ล้นแล้ว เราเริ่มต้องเลือกว่าใครจะได้ไปต่อ ใครควรจะยุติ การ์ดอย่าตก การป้องกันสำคัญเสมอปาร์ตี้ สังสรรค์เบาได้ก็เบานะ” จุดนี้เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องออกมายืนยันให้หนักแน่นเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ

การป่าวร้องของ อนุทิน ชาญวีรกูล เจ้ากระทรวงคุณหมอที่บอกว่า “กระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ใครก็ตามไม่ควรจะใช้คำนี้” ควรช่วยกันคิดทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น หากจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องระดมระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ คำถามก็คือ หากต้องระดมเพื่อมารองรับวิกฤติในพื้นที่เมืองหลวง แล้วการดูแลผู้ป่วยจากทั่วประเทศจะทำอย่างไร เพราะในปัจจุบันนี้ผู้ป่วยทั่วไปก็ต้องยอมรับกันว่าถูกลดระดับในการดูแลเพื่อทุ่มเทสรรพกำลังสำหรับแก้วิกฤติโควิดกันไปในระดับหนึ่งแล้ว

แน่นอนว่า เวลานี้การระบาดกระจุกอยู่ที่กทม.และปริมณฑล และอีก 2-3 จังหวัด จึงไม่แปลกที่หมอหนูจะเรียกร้องว่าระบบสาธารณสุขอย่าดูที่จุดเดียว จะทำให้ตกใจได้ แต่ปุจฉาต่อมาคือ หากการระบาดมันกระจายตัวอีกระลอก ด้วยสายพันธุ์เดลต้าอินเดียที่ในแวดวงหวั่นกันอยู่เวลานี้ แล้วลามไปทั่วประเทศ ถามว่ามีระบบรองรับพร้อมอย่างที่หมอการเมืองพยายามตอกย้ำให้สังคมเชื่อหรือไม่ เพราะในการระบาดระลอกสามมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นบทพิสูจน์ในหลายเรื่องแล้วว่าที่เคยพูดกันไว้ก่อนหน้าหาได้เป็นจริงใหม่

ไม่ต่างกันกับกรณีที่ “พี่รอง” พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา สื่อสารแทนน้องรักที่เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นำรับทราบข้อเรียกร้องของสังคมที่ต้องการให้เป็นผู้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศโดยตรง แต่ต้องยอมรับกันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในต่างประเทศก็รุนแรงเหมือนกัน ทำให้ทั่วโลกต่างก็มีความต้องการวัคซีนที่รวดเร็ว และแต่ละบริษัทได้ทำพันธสัญญาไว้ ซึ่งทางรัฐบาลไทยเร่งและพยายามทุกวิธีทางเพื่อเจรจาให้ได้วัคซีนเพียงพอและรวดเร็ว แต่จะได้แค่ไหนต้องอยู่ที่บริษัทผู้ผลิตด้วย

เหมือนจะดีที่ช่วยปกป้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่มองอีกด้านเป็นการตอกย้ำความไร้วิสัยทัศน์และความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงต่อการบริหารจัดการวัคซีนของท่านผู้นำ เพราะจะมาเร่งเจรจาหาซื้อวัคซีนอะไรในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ เมื่อมีคนเรียกร้องและแนะนำมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังดันทุรังจะแทงม้าตัวเดียว อ้างเป็นวัคซีนหลัก สุดท้ายทำไปทำมาวัคซีนรองอย่างซิโนแวคก็กลายมาเป็นวัคซีนหลักในยามนี้ ท่ามกลางความกังขาอย่างหนักต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือกับการระบาดและการกลายพันธุ์ของโรค

อย่างที่บอก ขบวนการสืบทอดอำนาจได้วางกลไกทุกอย่างเอาไว้ โดยที่มั่นใจได้ว่าไม่มีองค์กรหรือใครหน้าไหนกล้าเข้ามาจัดการผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อที่ร่วมขบวนได้ ยิ่งขาใหญ่ในประเทศทั้งหลายได้สวาปามผลประโยชน์มหาศาล เลยไม่สนใจที่จะทักท้วงหรือร่วมเสนอทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เมื่อกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอ่อนยวบยาบ ชะตากรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศจึงตกอยู่ในภาวะจนกระจายยากไร้กันถ้วนหน้า มีแค่ไม่กี่พวกที่เสวยสุขกันบนความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ

Back to top button