2 หุ้นสินเชื่อมอเตอร์ไซค์

นับตั้งแต่ประกาศงบการเงินไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นมา  หุ้นสินเชื่อมอเตอร์ไซค์อย่างบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK และบริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL มีการซื้อขายที่คึกคักอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลหลักมาจากอัตรากำไรสุทธิที่ดีขึ้นมาก แม้กำไรปกติจะลดลง


นับตั้งแต่ประกาศงบการเงินไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นมา  หุ้นสินเชื่อมอเตอร์ไซค์อย่างบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK และบริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL มีการซื้อขายที่คึกคักอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลหลักมาจากอัตรากำไรสุทธิที่ดีขึ้นมาก แม้กำไรปกติจะลดลง

ผลประกอบการ TK ไตรมาสแรกปีนี้ มีรายได้รวม 538.7 ล้านบาท ลดลง 27.3% จากสาเหตุนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์จากผลของโควิด-19 โดยที่มีลูกหนี้เช่าซื้อรวม 4,249.4 ล้านบาท ลดลง 7.4% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 และมีลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 3,775.4 ล้านบาท ลดลง 6.9% แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ โดยกำไรสุทธิรวม 97.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จาก 94 ล้านบาท ทั้งนี้เกิดจากการมีแหล่งรายได้อื่นเข้ามาเสริม จำนวน 151.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน เป็นผลมาจากการบริหารจัดการ ตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามหนี้ค้างชำระ ติดตามลูกหนี้ให้ชำระค่างวดอย่างสม่ำเสมอ

ส่วน ECL แตกต่างออกไป เพราะกำไรสุทธิในไตรมาสแรกปีนี้ กระโดดขึ้นอย่างมาก สอดรับกับสไตล์การทำธุรกิจที่เชิงรุกมากกว่า โดยมีกำไร  56 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนมากถึง 108% และกำไรมากกว่าระยะเดียวกันปีก่อนมากถึง 401% กำไรที่โตเด่นอย่างมากของบริษัทนี้ ทำให้เกิดมุมมองแตกออกเป็นสองด้านจากนักวิเคราะห์ ที่มองว่าให้ซื้อเพราะอัตรากำไรสุทธิที่มากกว่า 30% ถือว่าดีที่สุดในรอบ 5 ปี กับมุมมองตรงกันข้ามที่ว่า กำไรที่กระโดดขึ้นมาก เกิดจากทางเทคนิคของการกลับสำรองหนี้ราว 32 ล้านบาท เพราะการเรียกเก็บหนี้ดีขึ้น แต่ไตรมาสถัด ๆ ไปอาจจะทำให้กำไรสุทธิลดลงได้ เพราะการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นอาจอ่อนตัว โดยอ้างว่า กำไรปกติก่อนการกลับสำรองอ่อนตัวลงมาก ถึง 46% ของระยะเดียวกันปีก่อน อาจจะกดดันให้อัตรากำไรสุทธิต่ำลง

เสียงที่ต่างกัน ทำให้คำชี้แนะของนักวิเคราะห์ไม่ไปทิศทางเดียวกัน โดยมีทั้งแนะให้ซื้อที่ราคาเป้าหมายเหนือ 2.50 บาท เพราะว่าเชื่อมั่นในความสามารถติดตามหนี้ของบริษัทนี้ กับ แนะให้ขายเพราะราคาปัจจุบันเหนือ 2.00 บาท ถือว่าเต็มมูลค่าแล้ว

มุมมองที่ต่างกันชนิดสุดขั้วของนักวิเคราะห์ ขาทุบ กับ ขาโลกสวย คงต้องพิสูจน์ในงบการเงินไตรมาสสองเป็นหลัก

ทางด้านผู้บริหารของ TK ได้พยายามพลิกสถานการณ์ ด้วยการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้จากการดำเนินธุรกิจในประเทศ ล่าสุด นำร่องนำเสนอประกัน “โควิด-19 ซูเปอร์ ชีลด์” ให้กับลูกค้า แล้วเตรียมตั้งบริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล และพร้อมขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศทันทีที่ สถานการณ์เอื้ออำนวย แม้แผนการเดิมคือ การซื้อกิจการ MFIL ในเมียนมาจะชะลอตัวลง แต่การรุกเข้าไปใน สปป.ลาวและกัมพูชา ยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ ผู้บริหารของ TK คาดหมายว่า สิ้นปี 2564 สัดส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของ TK จะเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง หากเริ่มมีการกระจายและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศ ที่จะช่วยให้สถานการณ์การระบาดลดลง และมั่นใจว่าจะยังคงเดินหน้าไปได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เงื่อนพิเศษใช้สิทธิ์ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวของสภาวิชาชีพบัญชี ของประเทศไทย ทำให้สำรองลูกหนี้ ณ ไตรมาส 1/2564 มีจำนวน 530.8 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 8.5% ที่ 130.4% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2563 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 561.7 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 118.3% โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 0.24 เท่า ลดลงจาก 0.37 เท่าเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 อีกทั้งยังมีเงินสดอีก 1,607 ล้านบาท

TK ได้เตรียมแผนธุรกิจสำหรับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยังคงยืดเยื้อ หรือสถานการณ์ที่พลิกกลับมาดีแบบเร็วกว่าที่คาดการณ์ ด้วยแผนรุกและแผนตั้งรับ ด้วยโครงการให้ความช่วยเหลือลูกค้าในหลายรูปแบบเมื่อถึงเวลา หรือแผนด้านการเงินเพื่อความพร้อมทางทุนและบุคลากรในการขยายบริการธุรกิจเช่าซื้อ รวมทั้งธุรกิจใหม่

1 ในแผนธุรกิจของ TK ที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการติดตามลูกค้าได้ดี ต่อการพัฒนาโปรแกรมต่อยอดพัฒนา Line Official @TKPLUS ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และบิ๊กไบค์ ครบวงจร จบทุกเรื่อง..บนแอปฯ เดียว ทั้งบริการยื่นขอสินเชื่อได้ทุกอาชีพด้วยตัวเอง บริการชำระค่างวดออนไลน์ทันใจผ่านโมบายแบงก์กิ้งด้วยปลายนิ้ว หรือโหลดคิวอาร์โค้ด ขานรับพฤติกรรมผู้บริโภควิถีใหม่ที่เลือกการจับจ่ายบนสมาร์ตโฟน

โมเดลธุรกิจของผู้บริหารบริษัทสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ทั้งสองราย ยังคงต้องลุ้นว่าในระยะยาวแล้ว ระหว่างการทวงหนี้ที่เก่งกาจขึ้นของ ECL เทียบกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อ ที่ระมัดระวังมากขึ้นแบบ TK อย่างไหนจะให้ประโยชน์มากกว่ากัน

Back to top button