PTTEP กับแผน Expand & Execute
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณได้ทันตามกำหนด โดยการติดตั้งแท่นผลิตดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดปริมาณผลิตก๊าซฯ ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทันทีหลังหมดสัญญาในเดือนเมษายน 2565
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณได้ทันตามกำหนด โดยการติดตั้งแท่นผลิตดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดปริมาณผลิตก๊าซฯ ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทันทีหลังหมดสัญญาในเดือนเมษายน 2565
ปมเหตุหลักมาจากกระทรวงพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่สามารถหาข้อสรุปกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานเดิมว่าด้วยเรื่องค่ารื้อถอนแท่นขุดเจาะมูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 48,000 ล้านบาท)
สำหรับแผนการลงทุน PTTEP ช่วง 5 ปี (2564-2568) มูลค่ากว่า 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 732,000 ล้านบาท) วางเป้าปริมาณขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% สู่ระดับ 462,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2568
โดยปี 2564 ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์การดำเนินการ (Execute) และกลยุทธ์การขยายธุรกิจ (Expand) เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นรายจ่ายจากการลงทุน (Capex) จำนวน 2,558 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และรายจ่ายดำเนินงาน (Opex) จำนวน 1,608 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสาระสำคัญแผนการลงทุนนั่นคือ…
– การรักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลักที่สําคัญ ได้แก่ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการในมาเลเซียและโครงการซอติก้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมการดำเนินการโครงการ จี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ จี 2/61 (แหล่งบงกช) ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน 1,943 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
– การเพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต ที่มุ่งเน้นและผลักดัน 2 โครงการหลักที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิกแอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผนและเร่งการพัฒนา โครงการมาเลเซีย ซาราวักเอสเค 410 บี ที่ประสบความสำเร็จในการเจาะสำรวจ เพื่อให้สามารถเข้า สู่ขั้นตอนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) โดยบริษัท ได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนส่วนนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 493 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
– การเร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากร (Contingent Resources) เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวโดยจัดสรรรายจ่ายลงทุน 152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซียและเม็กซิโก
จากแผนการลงทุน PTTEP ครั้งนี้ จุดที่น่าสนใจอยู่ตรงกลยุทธ์การขยายธุรกิจ (Expand) ที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Coming-home) พร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพร่วมพันธมิตร (Strategic Allianc) และลงทุนธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน
ตามมาด้วยกลยุทธ์การดำเนินการ (Execute) นั่นคือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังการผลิตจากโครงการหลัก การควบคุมต้นทุนการผลิต ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเปลี่ยนผ่านโครงการบงกชและเอราวัณ
ความสำเร็จจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ Expand คือการชนะการประมูลและการเข้าซื้อกิจการพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศไทย ประเทศมาเลเซียและตะวันออกกลาง เพื่อต่อยอดสู่กลยุทธ์ Execute โครงการหลักต่าง ๆ เพื่อรักษาปริมาณการผลิต รวมทั้งสำรวจเพื่อค้นหาปิโตรเลียมเพิ่มเติม เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว
แต่ปัญหาการเข้าพื้นที่ “แหล่งเอราวัณ” ไม่ได้ ทำให้ PTTEP ต้องปรับกลยุทธ์จากการขยายธุรกิจ (Expand) มาสู่กลยุทธ์การดำเนินการ (Execute) เพื่อให้สอดคล้องกับดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติ ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดปริมาณผลิตก๊าซฯ ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วงเดือน เม.ย. 2565
ทั้งที่ต้นเหตุปัญหา “แหล่งเอราวัณ” อยู่ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่กำกับโดยกระทรวงพลังงาน กับ “เชฟรอน” ที่ไม่บรรลุข้อตกลงเรื่องการรื้อถอนกันได้ก็ตาม..