พาราสาวะถี

พิสูจน์กันอีกครั้งว่าคำพูดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นไม่เคยอยู่กับร่องกับรอย หรือจะบอกให้ชัดก็คือ เชื่อถือไม่ได้ วันศุกร์เพิ่งไปถามประชาชนที่มารับวัคซีนพระราชทานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า อยากให้ล็อกดาวน์กทม.หรือไม่ คำตอบของประชาชนคือไม่ ก่อนที่ท่านผู้นำจะตอกย้ำผ่านสื่อมวลชนที่มารอสัมภาษณ์ว่า “เจ็บแล้วจบไหม” ตามมาด้วยตั้งโต๊ะแถลงหลังเรียกประชุมด่วนคณะที่ปรึกษาชุดใหญ่ไม่มีล็อกดาวน์พร้อมเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊าก


พิสูจน์กันอีกครั้งว่าคำพูดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นไม่เคยอยู่กับร่องกับรอย หรือจะบอกให้ชัดก็คือ เชื่อถือไม่ได้ วันศุกร์เพิ่งไปถามประชาชนที่มารับวัคซีนพระราชทานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า อยากให้ล็อกดาวน์กทม.หรือไม่ คำตอบของประชาชนคือไม่ ก่อนที่ท่านผู้นำจะตอกย้ำผ่านสื่อมวลชนที่มารอสัมภาษณ์ว่า “เจ็บแล้วจบไหม” ตามมาด้วยตั้งโต๊ะแถลงหลังเรียกประชุมด่วนคณะที่ปรึกษาชุดใหญ่ไม่มีล็อกดาวน์พร้อมเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊าก

แต่วันนี้กทม.พร้อมอีก 9 จังหวัดถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีแดงเข้ม พร้อมด้วยมาตรการที่ฝ่ายกุมอำนาจอ้างว่ากึ่งล็อกดาวน์ จน อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย อดที่จะตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า “ประชาชนเจ็บมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่เคยจบ” การประกาศมีเพียงคำสั่งห้ามที่ไร้ข้อเสนอ ไร้แผนปฏิบัติการ ไร้แผนงาน ไร้ทิศทาง ไม่เจาะจง ไม่ล็อกเป้า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจควรเปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่นบ้าง อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งเพราะประเทศจะพังไปมากกว่านี้

แน่นอนว่า การประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันเมื่อสัปดาห์ก่อน ไม่ต้องให้สำนักโพลไหนไปถามประชาชน คนส่วนใหญ่ก็เชื่อกันอยู่แล้วว่าไม่สามารถทำได้ ยิ่งการตัดสินใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะแทบจะทุกเรื่องเห็นเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่า ช้ากว่าสถานการณ์จริงไปหลายก้าว หนนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้อเสนอว่าด้วยการล็อกดาวน์กทม. 7 วันจากหมอศิริราช เดิมทีก็รีบปฏิเสธกันไว้ก่อน แต่พอมองไปยังสถานการณ์ที่เผชิญก็หลีกหนีไม่พ้นที่ต้องดำเนินการ

ยังมีกรณีการชี้แนะเรื่องกระบวนการตรวจหาเชื้อที่ควรให้ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและอาจจำเป็นที่ต้องตรวจหาเชื้อทุก 7 วันในพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อคุมสถานการณ์ให้อยู่หมัด ซึ่งมาถึงนาทีนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทันเวลาหรือไม่ เพราะฟังเสียงเตือนมาจาก นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง

หย่อมสยอง (คลัสเตอร์) มีทั้งใหญ่ กลาง เล็ก ปัจจุบันกลายเป็นจุด ๆ คือแพร่ในครอบครัว ที่มีคนทำงานนอกบ้าน และคนติดเชื้อกระจัดกระจายทั่วไป ไม่รู้ใครเป็นใคร ไม่ว่าเป็นหย่อม ไม่ว่าเป็นจุด สยองทั้งสิ้น จังหวัดใดว่ารอด ระวัง มีเล็ดลอดไม่กี่คน จากจุด เป็นหย่อม เป็นจังหวัด มีท่อสอดหามีเตียงไม่ มีท่อ มีเตียง หามีเครื่องช่วยหายใจไม่ มีท่อ มีเตียง มีเครื่องช่วยหายใจ หามีคนรักษาไม่ จบ” นี่คือความจริงที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เคียงกับคำว่าระบบสาธารณสุขล้มเหลวที่ฝ่ายการเมืองยังไม่ตระหนัก

ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยโควิด-19 เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารต้องให้ความสำคัญ จะเห็นได้ว่าเวลานี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มพบบุคลากรติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพ ตามความเห็นของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็คือ ให้ได้อย่างน้อย 100,000 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าโดยด่วน เพราะถ้าปราการด่านสุดท้ายพังทลายเราจะพังทั้งประเทศ

ขณะที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ในอาการเมาหมัด รับมือสถานการณ์โควิดระบาดจนหัวหมุน ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีความเคลื่อนไหวที่ชวนให้ปวดหัวกันหนักซ้ำเติมเข้ามาอีก กับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา 13 ร่าง สุดท้ายผ่านความเห็นชอบเพียงร่างเดียวคือของ 3 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และการแสดงความเป็นห่วงว่า จะไปตกม้าตายเอาภายหลัง แม้จะเป็นการแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทว่าอาจจะไม่ครบถ้วนทั้งหมด

จนมีคนถาม ชวน หลีกภัย ร่างแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา มีการแก้ไขแค่ 2 มาตรา จากบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีถึง 8 มาตรา หมายความว่าอะไร คำตอบที่ได้จากจอมหลักการก็คือ ต้องถามเรื่องนี้จากผู้เสนอกฎหมาย สภามีหน้าที่ประชุมและลงมติเท่านั้น ฟากของแกนหลักที่เป็นผู้เสนอร่างอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ยืนยันแก้ในส่วนของหลักการแล้วหากกระทบต่อมาตราอื่นก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ถ้าไม่ขัดกับหลักการ

ฟังคำตอบแล้วยิ่งจะทำให้งงกันหนักเข้าไปอีก เพราะร่างที่เสนอขอแก้เพียงมาตรา 83 และ 91 ซึ่งไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่ได้แก้มาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 85 ที่บอกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้คนละหนึ่งคะแนน แต่ที่ขอแก้คือบัตรสองใบ หรือมาตรา 86 (1) และ (4) ที่กำหนดให้แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 350 เขต ผลที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือร่างที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบรับหลักการไปแล้ว จะขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตราอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญ

ครั้นจะมาขอแก้ไขมาตราอื่นที่เหลือคือ 84 ถึง 90 เพื่อนำไปเสริมก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้ญัตติที่ขอแก้ไขใหม่ขัดกับมาตรา 83 และ 91 ที่ยังมีผลบังคับใช้ ครั้นจะขอแก้มาตรา 83 และ 91 มาด้วยก็จะไปซ้ำกับญัตติเดิมที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบไปแล้ว จึงเกิดคำถามมาจาก วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคไทยสร้างไทย รัฐสภาจะรับผิดชอบกับประชาชนอย่างไร ต่อการลงมติให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขกฎหมายที่สำคัญที่สุดผิดพลาดขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สำหรับส.ส.ยังพอมีข้อแก้ตัวเพราะส.ส.โหวตรับทั้งร่างของพรรคสืบทอดอำนาจ และพรรคเพื่อไทย ที่ขอแก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยจึงไม่ทำให้เสียหายเพราะร่างของเพื่อไทยยังคงใช้ได้ แต่สำหรับส.ว.ที่ลงมติไม่รับทั้งร่างของพรรคแกนนำรัฐบาลและเพื่อไทย แต่กลับลงมติให้ร่างของ 3 พรรคร่วมรัฐบาลที่ขัดกับรัฐธรรมนูญไม่อาจแก้ตัวเป็นอย่างอื่นได้ จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าส.ว.ชุดนี้ไม่ได้มีดุลพินิจอะไรเป็นของตัวเอง แต่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำทุกอย่างตามใบสั่งของคนมีอำนาจ แม้สิ่งที่ทำลงไปจะขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผลจากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ จากผลของการไม่รับร่างแก้ไขของพรรคสืบทอดอำนาจ อาจจะอ้างได้ว่านี่เป็นการพิสูจน์ความเป็นอิสระของส.ว. แต่อีกด้านก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณตอกหน้าฝ่ายการเมืองฝั่งรัฐบาลรวมไปถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจว่า อย่าได้เหลิงหรือลุแก่อำนาจ จนกระทั่งกล้าที่จะแก้ไขเพื่อทำลายสิ่งที่ตัวเองสร้างมากับมือคือตีกันพรรคการเมืองเป้าหมายกลับคืนสู่อำนาจ แต่จุดใหญ่ที่รับไม่ได้คือการจะแก้รัฐธรรมนูญปราบโกงเพื่อเปิดทางให้โกงกันได้ง่าย ๆ นั่นเอง

Back to top button