โลกที่เป็นไปได้
ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย ในท้ายไตรมาสสอง ยังต้องรอลุ้นกันหนักในสองวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายนว่า จะสามารถรักษาแนวรับจิตวิทยาเหนือ 1,600 จุดได้หรือไม่ หากรวมความหวังว่าจะมีการทำวินโดว์ เดรสซิ่ง ตามสูตรของบรรดากองทุนต่าง ๆ ให้พอร์ตดูดี
ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย ในท้ายไตรมาสสอง ยังต้องรอลุ้นกันหนักในสองวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายนว่า จะสามารถรักษาแนวรับจิตวิทยาเหนือ 1,600 จุดได้หรือไม่ หากรวมความหวังว่าจะมีการทำวินโดว์ เดรสซิ่ง ตามสูตรของบรรดากองทุนต่าง ๆ ให้พอร์ตดูดี
แม้ความหวังจะมีให้เห็น แต่ก็ยังคงมีคนไม่แน่ใจ เพราะดังที่ทราบกันดีว่า ข้อเท็จจริงของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและหลักทรัพย์สำคัญในตลาดยามนี้ หากไม่มีกำไรพิเศษมาช่วย น่าจะถดถอยลงมากพอสมควร
สาเหตุเบื้องหลังก็เข้าใจได้ง่ายมาก เพราะการระบาดที่เอาไม่อยู่ของโควิด-19 ระลอกล่าสุด รวมทั้งความล่าช้าของการจัดหาวัคซีนที่ขาดประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่ำลงจนถึงขั้นเกือบจะทนไม่ไหวแล้ว
มุมมองเชิงบวกของนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ว่าดัชนีสิ้นปีนี้จะทะลุ 1,700 จุดไปได้ จึงชักมีอาการเรรวนขึ้นมา
แม้ว่าทิศทางของตลาดพลังงาน ตลาดหุ้น ตลาดอัตราดอกเบี้ย และสินค้าบริโภคในภาพรวมมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น เพราะการเปิดตลาดครั้งใหม่ของชาติหลักอย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและ อียู จะทำให้เศรษฐกิจมีมุมมองเชิงบวกชัดเจน แต่บางประเทศเช่นอินเดีย บราซิล ยังไม่ดีขึ้น รวมทั้งตลาดในประเทศ ที่ยังคงถูกรบกวนจากการแพร่ระบาดที่เลวร้ายลง ยังผลให้ความหวังเชิงบวกถูกรบกวนไม่น้อย
ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีราคาต่ำกว่าบุ๊กแวลู ยังคงถูกคาดหมายว่า ในไตรมาสที่สองจะย่ำแย่ต่อไป จากปัญหาลูกค้าที่ขาดความสามารถชำระหนี้สินได้ อาจจะทำให้ตัวเลข NPL ไม่ลดลง หรือเพิ่มขึ้น หุ้นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังมีรายได้ถดถอยลงไปอีก และหุ้นบริการค้าปลีก ท่องเที่ยว โรงแรม และสายการบิน อาจจะขาดทุนหนักกว่าเดิม….ล้วนรบกวนขาขึ้นของราคา และดัชนีตลาดมากทีเดียว
ในสถานการณ์เช่นนี้การลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ อาจจะไม่ถึงกับเป็นวิกฤตเลวร้ายสุด เหมือนปีที่ผ่านมา แต่การมองโลกสวยเกินสมควรก็เข้าข่าย “ประมาทเกินสมควร” ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี และไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
ในเวลาเช่นนี้ การเพ่งพินิจเพื่อทบทวนปรัชญาเก่าแก่แบบสุนิยมที่ว่าด้วย “โลกที่เป็นไปได้ดีที่สุด” ของนักคิดเยอรมันหรือ The Best of All Possible World ซึ่งในมุมของนักคิดที่เชื่อมั่นทางด้านวิทยาศาสตร์เคยโจมตีมาแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่เพ้อเจ้อหรือ ฝันกลางวันในฤดูฝน…แต่มีไว้ปลอบโยนให้ใจสงบได้บ้าง
ความคิดที่สอนให้คนมองโลกในแง่ดีโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือ ลัทธิสุทรรศนิยมของไลบ์นิซ นักปราชญ์ชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 17 ที่เชื่อว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานมาเป็นไปด้วยดี”
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไลบ์นิซถือว่าเป็นคู่ปรับของไอแซคนิวตัน ได้เขียนบทความทางปรัชญาชื่อดัง Essays of Theodicy on the Goodness of God, the Freedom of Man and the Origin of Evil เพื่อตอบโจทย์ที่ตกค้างและถกเถียงทางคริสตจักรว่า ทำไมการดำรงอยู่ของสิ่งชั่วร้ายจึงแพร่กระจายทั่วจักรวาล
ไลบ์นิซเริ่มด้วยคำถามปริศนาว่า ถ้าพระเจ้า (คริสต์) ทรงเป็น “ที่สุดของความรอบรู้แห่งจักรวาล” เหตุใดความอยุติธรรม และทุกข์เทวษจึงดำรงอยู่
จากคำถามดังกล่าวไลบ์นิซสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ว่า
1) พระเจ้าทรงออกแบบจักรวาลไว้หลายรูปแบบไม่จำกัด
2) ในบรรดาจักรวาลทั้งหมด มีจักรวาลเดียวเท่านั้นที่ดำรงอยู่จริง (แต่อาจจะมีหลายโลก และหลากมิติ)
3) จักรวาลที่พระเจ้าทรงเลือกให้ดำรงอยู่ มีเหตุผลในตัวเอง
4) พระเจ้าทรงมีความดีสมบูรณ์ยิ่งยวด
5) ดังนั้นจักรวาลที่พระผู้ทรงความดีสมบูรณ์ยิ่งยวดเลือก จึงมีแต่สิ่งดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือโลกที่เป็นไปได้ดีที่สุด
บทสรุปแบบ “สีข้างเข้าถู” ของไลบ์นิซเกิดผิดที่ผิดเวลาอย่างยิ่ง เพราะความเฟื่องฟูของการค้นพบความรู้ “วิทยาศาสตร์” ใหม่ ๆ ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลก ทำให้ข้อเสนอถูกวิพากษ์ ยับเยิน
วอลแตร์นักปราชญ์ฝีปากคมจัด ลงมือชำแหละ “ไลบ์นิซ” จนละเอียดเป็นผุยผงในนิยายเสียดสี “ก็องดีด” อันลือลั่น ซึ่งไม่เพียงแค่วิพากษ์ไลบ์นิซเท่านั้น ยังมุ่งเลยไปโจมตีสถาบันศาสนา โจมตีความคิดที่งมงายและพิธีกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเสียดสีคณะพระคาธอลิกที่แสวงหาความร่ำรวยและอำนาจอย่างไร้คุณธรรมและจริยธรรม และชี้ให้เห็นว่าไม่มีระบบความคิดทางปรัชญาหรือศาสนาใด ๆ ที่จะขจัดความเลวร้ายเหล่านี้ไปจากมนุษย์ได้
แม้จะถูกวิพากษ์เสียหาย แต่ความเชื่อในปรัชญาของไลบ์นิซยังคงกระพันมาถึงวันนี้ได้ ถือว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน
นักลงทุนในตลาดหุ้นยามนี้ สามารถจะเป็นได้ทั้งสาวกของไลบ์นิซ และวอลแตร์ได้เลย
แล้วคอยดูผลลัพธ์ว่าใครจะถูกหรือ ผิด