สถานการณ์อันไม่คุ้นเคยพลวัต2015

คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดฯ 17 คน มีกระบวนทัศน์และข้อมูลไม่ต่างกันมากนักแต่การระงับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยอ้างสาเหตุจีนและตลาดหุ้นมีความผันผวน นอกจากฟังไม่ขึ้นแล้วก็ยังทำให้ตลาดปั่นป่วนมากกว่าเดิม


คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดฯ 17 คน มีกระบวนทัศน์และข้อมูลไม่ต่างกันมากนักแต่การระงับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยอ้างสาเหตุจีนและตลาดหุ้นมีความผันผวน นอกจากฟังไม่ขึ้นแล้วก็ยังทำให้ตลาดปั่นป่วนมากกว่าเดิม

ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่นี้เป็นเรื่องน่าเห็นใจเพราะคนที่นั่งในเฟดฯรู้ดีว่า..

สถานการณ์ยามนี้ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มไหนก็ไม่ปลอดภัยมากกว่าที่เคยตัดสินใจมา เพราะว่าข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามทฤษฎี โดยเฉพาะทฤษฎีที่นักการเงินชอบอ้างมายาวนานกว่า 40 ปีแล้วอย่างส่วนโค้งฟิลิปหรือ Phillip ‘ s Curve

ทฤษฎีดังกล่าวแสดงความสัมพันธ์แบบผกผันระหว่างเงินเฟ้อที่อิงกับดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค กับการว่างงาน ที่ตัดการว่างงานโดยสมัครใจออกไป

โดยทั่วไป ภาวะเงินเฟ้อเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ดัชนีราคาสินค้าโดยทั่วไป (General Price Level) หมายถึง ระดับราคาโดยเฉลี่ยของสินค้าและบริการประเภทต่างๆ มิได้หมายถึงราคาสินค้าทุกชนิด

ชนิดของเงินเฟ้อแบ่งเป็น

 – ภาวะเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ เกิดขึ้นเนื่องจากอุปสงค์รวมเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปทานรวมของสินค้าและบริการ

– ภาวะเงินเฟ้อด้านต้นทุน (Cost Push Inflation) เป็นภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจากทางด้านอุปทานหรือต้นทุน เกิดขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น

ในอดีตนายธนาคารกลางจะให้ความสำคัญสกัดเงินเฟ้อมาก โดยอ้างสาเหตุสารพัดมาอ้างแต่ในปัจจุบันนายธนาคารdลางไม่กลัวเงินเฟ้อเหมือนอดีต แต่กลัวเงินฝืดที่แก้ยากกว่า

ในมุมกลับ การว่างงานมีมาตรวัดแตกต่างกัน โดยเริ่มจากคำนิยามที่คลุมเครือ ว่าภาวะที่บุคคลในวัยแรงงานที่พร้อมจะทำงานแต่ไม่สามารถหางานทำได้ หรือเจ็บป่วย รองานใหม่ หางานที่เหมาะสมไม่ได้ บุคคลในวัยแรงงานจะพิจารณาผู้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ส่วนแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในวัยแรงงาน ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา นักบวช ผู้ที่เกษียณอายุ ผู้เจ็บป่วยพิการทางร่างกายและสติปัญญา และผู้ทำงานอยู่ในครัวเรือน ซึ่งขนาดของบุคคลในวัยแรงงานเล็กกว่าขนาดของประชากรของประเทศ

นิยามที่คลุมเครือทำให้มีปัญหา เพราะเงื่อนไขไม่ตรงกันของแต่ละการว่างงานที่มีถึง 5 แบบคือ

การว่างงานชั่วคราว (Frictional Unemployment) เป็นการว่างงานในระยะสั้น สาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของตลาดแรงงานในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูล การคมนาคม เป็นต้น

การว่างงานตามฤดูกาล (Seasonal Unemployment) เป็นการว่างงานที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลพบส่วนใหญ่ในภาคเกษตรกรรม ส่วนสาขาการผลิตอื่นๆ ที่เกิดการว่างงานประเภทนี้ เช่น ภาคก่อสร้าง เป็นต้น

การว่างงาน เนื่องจากโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Structural Unemployment) การว่างงานประเภทนี้เกิดจากการที่แรงงานไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ เช่น เทคโนโลยีการผลิต การย้ายแหล่งอุตสาหกรรม เป็นต้น

การว่างงานเนื่องจากวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Unemployment) เป็นการว่างงานที่เกิดจากเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งสินค้าขายไม่ออก ผู้ผลิตต้องลดการผลิตและการจ้างงานตามมา

การว่างงานแฝง (Disguised Unemployment) เกิดจากการที่มีจำนวนแรงงานเกินความจำเป็น ส่วนใหญ่พบในภาคเกษตรกรรม บุคคลที่ว่างงานแฝงจะทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment)

โดยทฤษฎี การว่างงานจะสวนทางกับเงินเฟ้อเสมอ เมื่อใดที่การว่างงานเพิ่มขึ้นเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง เมื่อใดการว่างงานลดลง เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เฟดฯและนายธนาคารทั้งโลกที่ไม่เพี้ยนจะจำได้แม่นยำและทำเป็นสูตรสำเร็จต่อๆ กันมา จนอาจจะลืมไปแล้วว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ พูดสั้นๆ การว่างงานคือตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อแต่ตัวเงินเฟ้อไม่ได้ขับเคลื่อนการว่างงาน

ทฤษฎี Phillip ‘ s Curve ระบุว่า เมื่อการว่างงานลดลงเงินเฟ้อต้องสูงขึ้นการขึ้นดอกเบี้ยสกัดขาขึ้นเงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งสมควร แต่ทฤษฎีไม่เคยบอกว่าถ้าการว่างงานลดลงแล้วเงินเฟ้อลดลงมากกว่าการว่างงาน ควรจะทำอย่างไร และก็ไม่มีทฤษฎีอื่นๆ บอกเอาไว้เสียด้วย

เมื่อขาดทฤษฎีชี้นำเพราะการว่างงานลดลงมากๆ ในสหรัฐฯยามนี้ เกินระดับจ้างงานเต็มที่ (ว่างงานติดลบ) แต่เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้า 2.0% อย่างมาก และอีกนานกว่าจะถึงจุดนั้น ทำให้ความพยายามจะดันทุรังขึ้นดอกเบี้ย อาจจะกลายเป็นตราบาปในภายหลัง เพราะทฤษฎีไม่สามารถทำงานได้ การตัดสินใจที่ขาดทฤษฎีกลายเป็นขาดตรรกะที่สุ่มเสี่ยง 

สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนเช่นนี้ทำให้การไม่ลงมือกระทำของเฟดฯเป็นเรื่องเข้าใจได้แต่เมื่อเกิดผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนาขึ้นการอ่านความผันผวนไม่แน่นอนของตลาดเงินและตลาดทุนทำให้เฟดฯต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซื้อเวลาแก้ปัญหาต่อไปพลางๆ เพื่อลดความแปรปรวนของตลาดชั่วคราว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ทำให้มีความยากลำบากเพราะใช้วิธีการคิดในกรอบเดิมไม่ได้ เฉกเช่นนิทานเรื่องปมกอร์เดี้ยน ในตำนานกรีกโบราณ ซึ่งไม่มีใครไขปมได้เลย จนกระทั่งท้ายที่สุด คนเถื่อนอย่างอเล็กซานเดอร์ใช้ดาบฟันปมดังกล่าวขาดสะบั้น โดยไม่ต้องแก้

เจเน็ต เยลเลน และเทคโนแครตในคณะกรรมการเฟดฯจะสามารถทำแบบอเล็กซานเดอร์มหาราชได้หรือไม่ เป็นโจทย์ที่หาคำตอบยากทีเดียว

ระหว่างที่รอคำตอบของโจทย์ตลาดเงินและตลาดทุนก็คงต้องผันผวนไปเรื่อยๆ

 

Back to top button