จริยธรรมประธานศาลทายท้าวิชามาร

มติคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่ให้ “ปลด” นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ฐานมีส่วนรู้เห็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองทำ “จดหมายน้อย” ฝากตำรวจ แม้ยังวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบ แต่ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง (จะไปออกรายการทีวีวิทยุแทน) เรื่องก็จบแล้ว คือท่านต้องพ้นตำแหน่งสถานเดียว


 มติคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่ให้ “ปลด” นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ฐานมีส่วนรู้เห็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองทำ “จดหมายน้อย” ฝากตำรวจ แม้ยังวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบ แต่ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง (จะไปออกรายการทีวีวิทยุแทน) เรื่องก็จบแล้ว คือท่านต้องพ้นตำแหน่งสถานเดียว

นักกฎหมาย “ขาม็อบ” กิตติศักดิ์ ปรกติ แย้ง ก.ศป.ว่าลงโทษโดยไม่ยึดตามคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งลงมติ 3-2 ไม่ผิด ทั้งยังย้อนว่าตอนตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรรมการเสียงข้างน้อยก็คัดค้านกรรมการที่ ก.พ. ส่งมา “อย่างไม่มีเหตุผล”

ที่จริงมีเหตุผลนะครับ เพราะคนที่ ก.พ.ส่งมาคือ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานศาลปกครองยังจ้างให้กินเงินเดือนที่ปรึกษา 60,000 บาท กรรมการคนอื่นจึงแย้งว่ามีประโยชน์ทับซ้อน

ปัจจุบัน ศาลปกครองจ้างที่ปรึกษา 11 คน ตั้งแต่ท่านอดีตประธาน อักขราทร จุฬารัตน ไปถึงคนที่เพิ่งพ้นตำแหน่งเช่นอดีตรองประธาน นายวิชัย ชื่นชมพูนท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ว่าใครจะได้เป็นบ้าง เพราะบางคนอย่างนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ อดีตรองประธานที่ก่อตั้งศาลปกครองมาด้วยกันกับท่านอักขราทร ก็ไม่ยักจ้าง

ซึ่งหลังจากปลดนายหัสวุฒิ รักษาการประธานก็จะเลิกจ้างที่ปรึกษาทั้งหมด

คำถามสำคัญคือ กรรมการสอบวินัยชี้ว่าไม่ผิด 3-2 แล้ว ก.ศป.มีอำนาจพลิกผลสอบหรือไม่ มีสิครับ หลักง่ายๆ อำนาจเป็นของใคร ในคดีวินัยข้าราชการมีตัวอย่างถมไป ที่อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการ ตั้งกรรมการสอบวินัยข้าราชการ แล้วกรรมการลงมติเอกฉันท์ไม่ผิด แต่อธิบดีดูรายละเอียดในสำนวนสอบสวนแล้วเห็นว่าผิด ลงโทษปลดออกไล่ออก ข้าราชการมาฟ้องศาลปกครอง ศาลก็เห็นว่าเป็นอำนาจอธิบดี เว้นแต่อธิบดีลงโทษโดยไม่มีพยานหลักฐาน

กรณีนี้ก็เป็นอำนาจ ก.ศป.เช่นกัน แต่ข้อที่โต้แย้งกันคือกิตติศักดิ์เห็นว่าต้องมีพยานหลักฐานมัดแน่นว่าประธานใช้เลขาธิการศาลปกครองไปทำจดหมายขอย้ายตำรวจ ขณะที่ ก.ศป.เห็นว่าแค่ “มีส่วนรู้เห็นเป็นใจและรับทราบ” ก็ผิดจริยธรรมตุลาการแล้ว โปรดสังเกต ก.ศป.ลงโทษปลดออกไม่ใช่ไล่ออก นายหัสวุฒิยังได้บำเหน็จบำนาญ ซึ่งถ้ามีพยานหลักฐานมัดคงไม่แค่ปลดออก แต่ไล่ออกแล้วต้องดำเนินคดีอาญาด้วย

นี่คือข้อที่กิตติศักดิ์เห็นว่าเหมือน “ลงมติไม่ไว้วางใจ” แต่ ก.ศป.เห็นว่าวินิจฉัยจากหลักฐานแวดล้อมก็เพียงพอ ที่จะตัดสินว่าสมควรเป็นตุลาการต่อไปหรือไม่ เทียบกับนักการเมืองนี่คือการ “ถอดถอน” จากตำแหน่ง ซึ่งนักการเมืองหนักกว่าด้วยเพราะแค่ “ลงมติไม่ไว้วางใจ” โดยสภาที่คณะรัฐประหารตั้งก็ถูกตัดสิทธิ 5 ปี

เรื่องที่ตั้งแง่กันว่าเป็น “การเมือง” ในศาล ก็เหลวไหลนะครับเพราะมติ 7-0 ที่ชี้ผิด 3 เสียงในนั้นคือ นายกู้เกียรติ สุนทรบุระ ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีเลือกมา นายอุดม รัฐอมฤต, นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ สนช.เลือกมา

นักกฎหมายถ้าไม่มีมาตรฐานก็สับสน กับนักการเมืองทำอย่างไรก็ได้ แต่กับศาลเรียกร้องให้หาหลักฐานแน่นหนาเสียก่อน ไม่แยกแยะว่าการลงโทษมีหลายระดับคือ จริยธรรมต่อการดำรงตำแหน่ง ความผิดวินัยร้ายแรง หรือความผิดที่มีโทษทางอาญาด้วยซึ่งในเรื่องจริยธรรม ตุลาการต้องถูกเรียกร้องสูงกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ

 

                                                                                                                ใบตองแห้ง

Back to top button