แนวรบใหม่ของจีนและสหรัฐ

ในการฉลองครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้ประกาศว่า “ความฝันในอวกาศ” ของจีนคือ ต้องแซงหน้าทุกชาติและกลายเป็นมหาอำนาจทางอวกาศภายในปี 2588 การประกาศด้วยความมั่นใจมากขนาดนี้ น่าจะเพิ่มความเป็นไปได้มากขึ้นว่า “อวกาศ” อาจจะเป็นแนวรบใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากที่ได้แข่งกันเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ มาแล้ว


ในการฉลองครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้ประกาศว่า “ความฝันในอวกาศ” ของจีนคือ ต้องแซงหน้าทุกชาติและกลายเป็นมหาอำนาจทางอวกาศภายในปี 2588 การประกาศด้วยความมั่นใจมากขนาดนี้ น่าจะเพิ่มความเป็นไปได้มากขึ้นว่า “อวกาศ” อาจจะเป็นแนวรบใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากที่ได้แข่งกันเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ มาแล้ว

ใครจะไปเชื่อว่า จีนจะกล้าฝันเช่นนี้ได้ เพราะว่า ในปี พ.ศ. 2500 เมื่อสหภาพโซเวียตยิงดาวเทียมสปุตนิกดวงแรกแข่งกับสหรัฐฯ จีนยังทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่นเลย  มีรายงานว่าในขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตแข่งกันครองความเป็นเลิศในด้านอวกาศ เหมา เจ๋อตุง หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ กล่าวว่า จีนไม่สามารถแม้แต่จะส่งมันฝรั่งไปในอวกาศได้

แต่ผ่านไปหกทศวรรษกว่า เรากลับได้เห็นภาพที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงแสดงความยินดีกับนักบินอวกาศจีน 3 คน ที่จะเดินทางไปพร้อมกับยานอวกาศไปยังสถานีอวกาศที่จีนสร้างเองเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

นับตั้งแต่มีความเห็นข้างต้นจากประธานเหมา จีนก็ได้เปิดตัวดาวเทียม ส่งมนุษย์ไปอวกาศ และขณะนี้กำลังวางแผนที่จะสร้างฐานบนดาวอังคารต่อไปอีก

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมต้องแข่งขันด้านอวกาศ ?

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนได้ย้ำว่าอวกาศเป็น “เทคโนโลยีชายขอบ” ที่จะมุ่งเน้นและค้นคว้าเกี่ยวกับ “ต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล” แต่ก็มีผลกระทบอื่น ๆ เช่นกัน

อวกาศมีความสำคัญต่อจีนและสหรัฐเพราะมันสามารถสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ได้ เช่น ด้านความมั่นคงแห่งชาติ และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญสงสัยว่ามันอาจกลายเป็นสงครามอวกาศได้หรือไม่ กิจกรรมนอกโลกสามารถสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารบนโลกได้ และความสำเร็จด้านอวกาศยังเกี่ยวข้องกับใยแก้วนำแสงด้วย

การสำรวจดวงจันทร์หรือดาวอังคาร ทำให้จีนและสหรัฐอเมริกา สามารถแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้ผู้ชมในประเทศและทั่วโลก เพิ่มศักดิ์ศรีในประเทศและระหว่างประเทศ สร้างความชอบธรรมภายในประเทศ และสร้างอิทธิพลระหว่างประเทศ

โครงการอวกาศของจีนเริ่มต้นเมื่อปลายทศวรรษ 1950 แต่ จีนเพิ่งอวดความสำเร็จครั้งสำคัญได้เมื่อไม่นานมานี้เอง

ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว จีนได้สร้างระบบนำทางด้วยดาวเทียมของตนเอง ที่เรียกว่า Beidou ระบบนี้ได้เป็นคู่แข่งกับระดับ Global Positioning System (GPS) ของรัฐบาลสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า Beidou จะช่วยให้ระบบทหารของจีนอยู่บนออนไลน์ได้ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง

ในเดือนธันวาคม ยานอวกาศของจีนกลับมายังโลกพร้อมตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ซึ่งเป็นภารกิจครั้งแรกของประเทศ และในเดือนที่ผ่านมา จีนส่งยานอวกาศพร้อมนักบินไปยังสถานีอวกาศที่จีนพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จีนส่งมนุษย์ไปยังสถานีอวกาศนับตั้งแต่ปี 2559

ในขณะนี้รัฐบาลปักกิ่งกำลังหันไปจ้องดาวอังคาร โดยหวังว่าจะทำภารกิจแรกที่มีลูกเรือไปยังดาวอังคารในปี 2576 หลังจากที่ได้ให้ยานอวกาศลงจอดบนดาวอังคารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

จีนยังได้รุกหนักมากขึ้นในการขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศเมื่อได้กำหนดมิชชั่นเหล่านี้ในอนาคต

จากข้อมูลที่รวบรวมโดย เกรย์บี บริษัทวิจัยสิทธิบัตร ในช่วงเดือนมกราคม 2543 ถึงมิถุนายน 2564 หน่วยงานของจีนได้ยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศจำนวน 6,634 ฉบับ รวมถึงสิทธิบัตร ยานพาหนะและอุปกรณ์ และมีข้อสังเกตว่า การขอจดสิทธิบัตรเหล่านี้ เกือบ 90% ได้ยื่นขอในช่วง 5 ปีครึ่ง ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

ระหว่างเดือนมกราคม 2559 ถึง มิถุนายน 2564 การขอสิทธิบัตรสามอันดับแรกมาจากหน่วยงานของจีน ตามด้วยโบอิ้ง ซึ่งย้ำให้เห็นว่า จีนกำลังหวังที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการบินอวกาศขั้นสูงอย่างรวดเร็วเพียงใด

สิทธิบัตรถือเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยกำหนดและควบคุมมาตรฐานสำหรับเทคโนโลยียุคต่อไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของจีนในหลายภาค ซึ่งรวมถึงภาคโทรคมนาคมไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์

สิทธิบัตรเหล่านี้ไม่ได้หมายความถึงระดับนวัตกรรมในประเทศจีนที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเท่านั้น แต่ยังเป็นการคิดถึงกลยุทธ์ที่ดีเพื่อปกป้องนวัตกรรมเหล่านี้เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางเศรษฐกิจแก่เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ

ผู้บริหารเกรย์บี เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ สิทธิบัตรด้านจักรวาลวิทยา ส่วนใหญ่จะเป็นของจีน (เว้นแต่จะมีคนอื่นทำตาม) ซึ่งหมายความว่าจีนสามารถเป็นคนเฝ้าประตูสำหรับการใช้เทคโนโลยีอวกาศ ต่อผู้เล่นส่วนตัวและผู้เล่นที่เป็นรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของจีนในการเป็นมหาอำนาจ ไม่ใช่แค่บนโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นมหาอำนาจในอวกาศด้วย

สหรัฐฯ และจีนกำลังต่อสู้เพื่อครองอำนาจในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ อวกาศจะเป็นอีกพรมแดนหนึ่งที่จะมีการต่อสู้กัน แม้ว่าตอนนี้สหรัฐฯ จะครอบครองพื้นที่อยู่ก็ตาม แต่จีนก็ใกล้ที่จะตามทันมาทุกขณะ

สงครามการค้า เทคโนโลยี และโควิด-19 ระหว่างจีนและสหรัฐ ยังคาราคาซัง และยังไม่พบทางออก แต่แนวรบใหม่ในอวกาศก็กำลังจะเกิดขึ้นอีก และคาดว่า อาจจะมีผลกระทบทั้งในทางวิทยาศาสตร์ และทางทหารต่อโลกอย่างรุนแรงไม่แพ้สงครามด้านอื่น ๆ แค่รอเวลาเท่านั้นว่า มันจะปะทุเมื่อไหร่

Back to top button