‘เทเลนอร์’ จากเมียนมาถึงไทย.?

ในที่สุด “เทเลนอร์” (Telenor) ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม สัญชาตินอร์เวย์ ตัดสินใจขายกิจการธุรกิจมือถือในประเทศเมียนมา ให้กับ M1 Group กลุ่มนักลงทุนจากประเทศเลบานอน มูลค่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดแห่งหนึ่งในเมียนมา หลังจากเข้ามาปักหลักธุรกิจ นับตั้งแต่ปี 2557


ในที่สุด “เทเลนอร์” (Telenor) ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม สัญชาตินอร์เวย์ ตัดสินใจขายกิจการธุรกิจมือถือในประเทศเมียนมา ให้กับ M1 Group กลุ่มนักลงทุนจากประเทศเลบานอน มูลค่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดแห่งหนึ่งในเมียนมา หลังจากเข้ามาปักหลักธุรกิจ นับตั้งแต่ปี 2557

โดย “เทเลนอร์” เป็นบริษัทสัญชาติตะวันตก เพียงไม่กี่รายที่เสี่ยงเดิมพันกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งนี้หลังหลุดพ้นจากการปกครองของทหารช่วงทศวรรษก่อน จากสถิติล่าสุด พบว่า รายได้จากเมียนมา คิดเป็น 7% ของรายได้ทั้งหมดของเทเลนอร์ช่วงปีที่ผ่านมา มีฐานลูกค้าประมาณ 18 ล้านคนในเมียนมา โดยมีการให้บริการ 1 ใน 3 ของประชากร 54 ล้านคน

หนึ่งในถ้อยแถลงของเทเลนอร์ระบุว่า..“สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงไปอีกและการพัฒนาล่าสุดในเมียนมา เป็นมูลเหตุสำหรับการตัดสินใจขายบริษัทครั้งนี้”

“เทเลนอร์” เริ่มมีการตัดหนี้สูญตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2564 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 6,500 ล้านโครน (ประมาณ 752 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หลังธุรกิจมือถือถูกจำกัดอย่างรุนแรง หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 และเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 รัฐบาลทหารได้สั่งปิดข้อมูลมือถือทั่วประเทศ  เพื่อจำกัดไม่ให้นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย จัดการชุมนุมและส่งข้อความที่ยากมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น..มีรายงานว่า มีการห้ามผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ เดินทางออกจากประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกดดันและแทรกแซงให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อสกัดกั้น ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบผู้ใช้งานได้

“ซิกเว่  เบรกเก้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทเลนอร์ ระบุว่า “สถานการณ์ของเมียนมา ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กลายเป็นความท้าทายมากขึ้นสำหรับเทเลนอร์ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของพนักงาน กฏระเบียบ และการปฏิบัติตาม การขายกิจการให้ M1 Group จะรับประกันการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับ M1 Group ก่อตั้งขึ้นโดยนาจิบ อัซมี มิคาติ อดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอน ที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท MTN Group ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ในแอฟริกาและแถบเอเชียด้วย  มีรายงานว่า M1 Group มีหุ้นส่วนในบริษัท ที่ให้เช่าเสาสัญญาณมือถือกับบริษัท MEC ที่เป็นกิจการของกองทัพเมียนมาด้วย

จากข้อมูลของ “เทเลนอร์ กรุ๊ป” พบว่า มีการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียมาแล้วกว่า 20 ปี มีผู้ใช้บริการรวมกันกว่า 166 ล้านคน ด้วยการลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้ง 5 ประเทศ (บังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา มาเลเซียและไทย) จำนวนทั้งสิ้น 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 198,000 ล้านบาท)

สำหรับประเทศไทย “เทเลนอร์” เริ่มเข้ามาอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2548 ด้วยการซื้อหุ้นริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จาก “ตระกูลเบญจรงคกุล” ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ DTAC นั่นเอง..!

“การถอนสมอธุรกิจสื่อสาร” ในเมียนมาของเทเลนอร์ครั้งนี้ อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่จะ “ถอนการลงทุน” จากภูมิภาคเอเชีย..เห็นได้ชัดจากที่ผ่านมา “เทเลนอร์” แทบไม่มีแผนลงทุนเชิงรุกในประเทศไทยมากนัก ที่สำคัญยังมีความเพียรพยายามที่จะขายหุ้น DTAC ที่ถืออยู่ 46% ด้วยเช่นกัน

การขายเงินลงทุนในเมียนมาดังกล่าว น่าจะกลายเป็นตัวเร่งให้ดีลขายหุ้น DTAC ที่เคยสอดไว้ในแฟ้ม..เก็บไว้ในลิ้นชัก..จะได้หยิบออกมาพิจารณาใหม่กันอีกที..!!??

Back to top button