เทกระจาดแบงก์
หุ้นกลุ่มธนาคารกลับมาถูกเทขายกันอีกครั้ง
หุ้นกลุ่มธนาคารกลับมาถูกเทขายกันอีกครั้ง
ปัจจัยลบจาก คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือพักหนี้ ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย
ข่าวนี้แม้ยังไม่มีความชัดเจนออกมา
แต่นักลงทุนต่าง “ปรับพอร์ต” ลดความเสี่ยงกันไปก่อน
พาเหรดกันขายหุ้นแบงก์กันออกมาจ้าละหวั่น
วานนี้เราจึงเห็นหุ้นกลุ่มธนาคาร เข้ามากดดันดัชนีภาพรวมให้ปิดในแดนลบ
แบงก์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง BBL SCB KBANK และ SCB วูบถ้วนหน้า
หุ้นต่างถูกสาดออกตั้งแต่เปิดตลาดในช่วงเช้าทันที
ระหว่างวันราคาแทบไม่ผงกหัว
และมาปิดตลาดในแดนลบทั้งหมด
BBL ปรับลง 1.86%, KBANK ปรับลง 1.72% และ SCB ปรับลง 1.32%
ส่วนกรุงไทย หรือ KTB ลงมานิดหน่อย 0.96%
หุ้นกลุ่มแบงก์ ราคาเพิ่งจะรีบาวน์ขึ้นมาได้เล็กน้อยก่อนหน้านี้
หลังมีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรรับผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2564 ที่จะประกาศกันในช่วงต้นสัปดาห์หน้า หรือระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค.2564
BBL กับ KBANK ถูกคาดหมายว่า กำไรจะออกมาดี
โดยเฉพาะ KBANK กำไรน่าจะเติบโตกว่า 300% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563
คือ ไตรมาส 2 ปีก่อน ทาง KBANK ตั้งสำรองฯ สูงมาก และไตรมาสถัด ๆ มาได้ตั้งสำรองฯ ระดับสูงต่อเนื่อง
พอมาถึงปีนี้ จึงตั้งสำรองฯ ลดลง ทำให้กำไรกลับมาโดดเด่น
เช่นเดียวกับทางด้าน BBL ที่ตั้งสำรองฯ สูง คล้ายกับ KBANK
นักวิเคราะห์ ประเมินว่า จากมาตรการล่าสุดที่เป็นมติ ครม.
หากแบงก์พาณิชย์เอกชนต้องพักหนี้จริง
อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบโดยทันที
สาเหตุเพราะงบยังมีการบันทึกรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ แม้จะมีการพักชำระหนี้ก็ตาม
ทว่าดอกเบี้ยก็ไม่ได้หยุดตาม
ดังนั้นผลประกอบการยังคงไม่ได้รับผลกระทบในทันที
แต่ภายหลังจากการพักชำระหนี้แล้ว หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในส่วนที่ลงบันทึกเป็นรายได้ไว้ก่อนหน้านี้ก็จะต้องตัดออกไป และต้องตั้งสำรองเพิ่ม
และแน่นอนว่า จะส่งผลต่องบแบงก์หลังจาก “หยุดพักชำระหนี้”
ปัจจัยกดดันล่าสุดนี้
ยังไม่รวมกับที่นายกรัฐมนตรี ให้แบงก์ชาติออกประกาศปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลลงมาอีก
หลังจากที่เคยปรับลดลงมาแล้วในช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
แต่เรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
และยังคงเป็นปัจจัยกดดันหุ้นแบงก์มาตลอด กระทั่งมาเจอกับประเด็นปัจจัยลบล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารแบงก์ชาติออกมาบอกว่า
ธนาคารพาณิชย์ของไทยต่างมีความแข็งแกร่งมาก
เงินกองทุน การตั้งสำรองหนี้ฯ ต่างอยู่ในระดับสูง และไม่มีอะไรน่าห่วง
พร้อมกับให้ธนาคารต่าง ๆ กลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ ภายใต้เงื่อนไขที่แบงก์ชาติได้แจ้งไว้
แนวรับสำคัญของ BBL ภายใต้ปัจจัยกดดันต่าง ๆ ยังอยู่ที่ 100.00 บาท เช่นเดียวกับ KBANK ที่จะมีแนวรับ 110.00 บาท ส่วน SCB หลังจากหลุด 100.00 บาท มีแนวรับถัดไป 92.00 บาท
ส่วนกรุงไทย KTB ราคาหุ้นน่าจะยังยืนเหนือ 10.00 บาทได้
นักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาหุ้นแบงก์ น่าจะยัง “แกว่ง” ต่อไป
แต่ก็ไม่น่าเลวร้ายเหมือนกับปี 2563