‘หุ้นปลอดภัย’ มาตรการคุมเข้ม 14 วัน

จากกรณีประกาศมาตรการยกระดับควบคุมโควิดที่กำลังระบาดหนัก บล.ทิสโก้ประเมินว่าหุ้น 4 กลุ่มต่อไปนี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ค่อนข้างน้อย


เส้นทางนักลงทุน

จากกรณีครม.ประกาศมาตรการยกระดับควบคุมโควิดที่กำลังระบาดหนัก ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวส์พื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด อย่างน้อย 14 วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

โดยมีรายละเอียดในข้อกำหนดแตกต่างกันไปเฉพาะส่วน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. รวม 14 วัน แต่ให้เริ่มตั้งด่านปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ส่วนกรณีถ้าฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางได้ ส่วนของร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปิดเวลา 20.00 น. ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกิน 5 คน รถสาธารณะให้บริการถึง 21.30 น. ส่วนเวลาห้ามออกจากบ้าน 21.00-04.00 น. เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวไม่ได้เข้มข้นไปกว่าในช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ที่ทางรัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์ โดยทุกอย่างยังคงไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนจากมาตรการคุมเข้ม 14 วัน อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลาย ๆ บริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มากก็น้อย

ผลดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้ขอยกตัวอย่างข้อมูลจากบล.ทิสโก้ ซึ่งประเมินว่า หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ค่อนข้างน้อย มี 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล, ส่งออก, ธุรกิจรับซื้อ-บริหารหนี้เสีย และกลุ่มหุ้นปันผลดี

สำหรับหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ขณะนี้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังคาดได้ประโยชน์จากจำนวนผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น และมีบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะหนุนให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องยาวไปถึงงวดไตรมาส 3/2564 แต่ปัจจุบันหุ้นบางตัวมีราคาสูงขึ้นเกินพื้นฐานแล้ว โดยหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ ได้แก่ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS

ต่อมากลุ่มส่งออกที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศและรับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลให้กำไรของกลุ่มส่งออกดีขึ้น แนะนำหุ้น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU

ขณะที่หุ้นกลุ่มธุรกิจรับซื้อหนี้เสีย คาดว่าหุ้นกลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากปริมาณหนี้เสียที่จะออกมาจากระบบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจรับซื้อหนี้เสีย โดยหุ้นที่แนะนำ ได้แก่ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT

อีกกลุ่มคือหุ้นปันผลดี เนื่องจากเชื่อว่าช่วงจังหวะที่ตลาดหุ้นย่อตัวถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าเก็บหุ้นกลุ่มนี้เข้าพอร์ต โดยหุ้นที่แนะนำ ได้แก่ บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW เพราะคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล โดยในส่วนของ TVO คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลราว 4% ต่อปี และ EASTW ที่คาดว่าจ่ายเงินปันผลราว 2% ต่อปี

นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้น หากพิจารณาในการลงทุน มองว่าหุ้นที่ยังเด่นเป็น BCH และ JMT ด้วยปัจจัยที่น่าสนใจ และเมื่อดูจากราคาเป้าหมายยังคงมีอัพไซด์ค่อนข้างเยอะในการเข้าไปลงทุน

บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH จากบทวิเคราะห์ของบล.เคทีบีเอสที ยังมีมุมมองเป็นบวก เพราะยังมีความน่าสนใจจากประเด็นสำคัญที่ยังคอยสนับสนุนผลการดำเนินงานให้เติบโตแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/2564 และครึ่งปีหลังได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างกรณีไตรมาส 2/2564 มีจำนวนผู้เข้าตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่ 580,000 ราย (สูงกว่านักวิเคราะห์คาดที่ 500,000 ราย) ขณะที่ผู้ป่วย OPD ทั่วไปปรับตัวลดลง 2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันบริษัทมีจำนวนเตียงสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดภายในรพ.ประมาณ 1,100 เตียง (Utilization rate สูงกว่า 100%) และ Hospitel เพิ่มขึ้นเป็น 7,500 ห้อง มี Utilization rate สูงถึง 80-90% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 2563 ที่ 3,400 ห้อง

พร้อมกับรพ.ใหม่ (อรัญ และ ปราจีนบุรี) ได้อานิสงส์จากผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษา ส่งผลให้ผลประกอบการของ 2 รพ. มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง โดยรพ.อรัญ ขยายเตียงเป็น 100 เตียง จากเดิม 51 เตียง และรพ.ปราจีน ขยายเตียงเป็น 120 เตียง จากเดิม 116 เตียง และมี utilization rate 90-100%

ทั้งนี้ มีการประเมินกำไรไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 969 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 248% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 199% จากไตรมาสก่อน โดยมีรายได้รวมไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 5,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 174% จากงวดเดียวกันของปีก่อน, และเพิ่มขึ้น 146% จากไตรมาสก่อน ซึ่งรายได้หลักมาจากการตรวจคัดกรอง COVID-19 อยู่ที่ 4,581 ล้านบาท ตามสมติฐาน และสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่ 29% ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1/2564 ที่ 30.1% เป็นผลจากต้นทุนค่าบริการทางการแพทย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ คาดกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 2,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยประเมินว่ากำไรปี 2564 มี upside หากบริษัทรายงานกำไรไตรมาส 2/2564 ใกล้เคียงที่คาดไว้ที่ 969 ล้านบาท เนื่องจากคาดไตรมาส 3/2564 มีแนวโน้มทำกำไรสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง หากมีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองเฉลี่ยสูงกว่าสมมติฐานที่ทำไว้ 4,000 รายต่อวัน และจำนวนเตียง Hospitel ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7,500 เตียง จากไตรมาส 2/2564 ที่ 3,400 เตียง

โดยปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แตะ 9,000 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2564 ที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 3,000 รายต่อวัน

ขณะที่ไตรมาส 4/2564 ประเมินสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น จากการเร่งฉีดวัคซีนของภาครัฐเพื่อให้เป็นไปตามแผนการผ่อนคลายการเปิดประเทศในช่วงเดือน ต.ค. 2564

ประกอบกับ ประเมินผู้ป่วยต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามารักษาและคาดว่าจะค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/2564 เป็นผลดีต่อศูนย์ IVF และศูนย์รักษาแผลเบาหวานแบบเต็มรูปแบบที่จะกลับมาช่วยหนุนรายได้ รพ. World medical hospital ผลดังกล่าวประเมินราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 30.50 บาท แนะนำ “ซื้อ”

บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จากบทวิเคราะห์ของบล.เมแบงก์ กิมเอ็ง มองว่ายังคงเป็นหนึ่งในผู้ชนะท่ามกลางวิกฤต นอกเหนือจากปริมาณหนี้เสีย (NPL) ที่มีอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ณ ปัจจุบันจะเอื้อต่อการเติบโตในฝั่งซื้อหนี้เพื่อรอวัฏจักรเศรษฐกิจฟื้นตัวในปี 2565 เป็นต้นไป ในฝั่งการจัดเก็บหนี้ทำได้ดี และมีผลกระทบอย่างจำกัด ด้วยลักษณะของหนี้ไม่มีหลักประกันที่สร้างกระแสเงินสดได้สม่ำเสมอ (Recurring) ทั้งฐานเดิม-ลงทุนใหม่ต่อเนื่อง จะสะท้อนบนการเติบโตของกำไรเฉลี่ย 40% ในสองปีข้างหน้า สูงกว่าอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ คาดกำไรไตรมาส 2/2564 เท่ากับ 290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน , และเพิ่มขึ้น 28% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจบริหารหนี้ประเมินยอดเก็บเงินสดที่ 1,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานลูกหนี้กว่า 90% มีรายได้ประจำ แม้ลูกหนี้บางส่วนราว 10% ในธุรกิจท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือชั่วคราว แต่ถูกชดเชยด้วยการเติมพอร์ตหนี้ฯ ใหม่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 27% จากงวดเดียวกันของปีก่อนเริ่มรับรู้รายได้ จึงยังเห็นภาพรวมรายได้มีทิศทางเติบโต

ขณะที่ ธุรกิจติดตามหนี้ทรงตัวในช่วงสถาบันการเงินมีการพักหนี้ และธุรกิจประกันยังอยู่ในระดับคุ้มทุน ขณะที่โครงสร้างต้นทุนยังใกล้เคียงไตรมาสก่อน จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามหนี้ ทำให้เปอร์เซ็นต์อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นเล็กน้อยที่ 72% เพิ่มขึ้น 40% คาดไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 290 ล้านบาท สูงเป็นอันดับสองเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่ทำได้ 330 ล้านบาท

อีกทั้ง ประเมินกำไรครึ่งแรกของปี 2564 คิดเป็น 39% ใกล้กับสถิติในอดีต อิงกับเป้าทั้งปี 1,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยโมเมนตัมกำไรจะเดินหน้าทำสถิติใหม่รายไตรมาสเช่นในอดีต ตามกองหนี้ที่ตัดต้นทุนหมดในครึ่งแรกของปี 2564 คาดจะไม่น้อยกว่าปีก่อนที่ 7-8 พันล้านบาท หนุนมาร์จิ้นสูงขึ้นต่อ

ส่วนแผนเข้าลงทุนหนี้ฯ ใหม่ 6 พันล้านบาท เดินหน้าขยับจาก 30% ในไตรมาส 1/2564 เป็น 50% ในช่วงกลางปี มีโอกาสสูงที่จะได้ตามเป้า ทั้งนี้ยังพบว่าหนี้เสียฯ ที่ถูกนำมาประมูลขายมีจำนวนมากเกินกว่ากำลังซื้อของผู้ซื้อรวมกัน ทั้งยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นปลายปีจากการระบาดฯ จึงคงมุมมองบวกต่อไปถึงปี 2565-2566 ที่หนี้ฯ จะกลับเข้าประมูลซ้ำ เป็นโอกาสของบริษัทที่จะเข้าลงทุนได้ไม่น้อยกว่าปีนี้ จนสถานการณ์คลี่คลายลงจากการเร่งฉีดวัคซีน ยอดเก็บหนี้ที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหนุนกำไรสุทธิของ JMT ทำสถิติใหม่ได้ต่อใน 2 ปีข้างหน้า ที่ 2,043 ล้านบาท และ 2,785 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 36-38% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 53.00 บาท

ท้ายสุดหุ้นข้างต้นเป็นการตั้งสมมติฐานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มใน 14 วันนี้ค่อนข้างน้อย

Back to top button