พาราสาวะถี
เมื่อศรัทธาเสื่อมทรุด ความเชื่อมั่นติดลบ การขยับจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องคิดให้รอบคอบ ดีที่สุดคือนิ่งเฉยไว้จะดีกว่า ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พรรคสืบทอดอำนาจจะออกมายืนยันว่า สนธิญา สวัสดี คนที่ไปยื่นเรื่องร้องผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ กรณีการคอลเอาท์ของดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง เพื่อให้เอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ทว่าที่อดตั้งคำถามไม่ได้คือแล้วพรรคมอบหมายให้ได้แสดงบทบาทอะไรบ้างหรือไม่
เมื่อศรัทธาเสื่อมทรุด ความเชื่อมั่นติดลบ การขยับจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องคิดให้รอบคอบ ดีที่สุดคือนิ่งเฉยไว้จะดีกว่า ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พรรคสืบทอดอำนาจจะออกมายืนยันว่า สนธิญา สวัสดี คนที่ไปยื่นเรื่องร้องผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ กรณีการคอลเอาท์ของดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง เพื่อให้เอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ทว่าที่อดตั้งคำถามไม่ได้คือแล้วพรรคมอบหมายให้ได้แสดงบทบาทอะไรบ้างหรือไม่
เหมือนอย่างการมีหัวโขนเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ถามว่ามาในฐานะตัวแทนของพรรคการเมืองใด ตรงนี้คนหาคำตอบได้ไม่ยาก แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะไม่ได้มีเพียงแค่สนธิญาเท่านั้นที่ตั้งป้อมเล่นงาน แม้แต่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอสก็ขู่เอาผิดดารา และผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลหรืออินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย ด้วยข้อกล่าวหาใช้โซเชียลโจมตีรัฐบาลบิดเบือนข้อมูลเข้าข่ายเฟคนิวส์
จนกระทั่งเกิดเสียงวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกแวดวงต่อการขู่ปิดปากคนเห็นต่าง ทั้งที่เมื่อมองไปยังสิ่งที่บรรดาผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายคอลเอาท์นั้น เป็นการสะท้อนถึงความไม่พอใจในการแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤติโควิดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ เหมือนกับที่ประชาชนทั่วไปแสดงความไม่พอใจ เพราะมันกระทบทั้งชีวิต และการดำรงชีพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง การฉีดวัคซีนล่าช้า เตียงไม่พอ จ่ายยาฆ่าเชื้อทันทีไม่ได้ คนตายทุกวัน
เหมือนที่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้าแสดงความเห็น รัฐบาลต้องฟังไม่ใช่ไล่ฟ้อง จะไปทำเหมือนคดีความมั่นคงแห่งรัฐ หมิ่นสถาบัน ม.112 แล้วใช้กลไกพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้ แยกแยะด้วยระหว่างความมั่นคงแห่งรัฐกับความมั่นคงของรัฐบาลเอง รัฐบาลต้องทำให้ชาติเกิดความสามัคคี รักษาโครงสร้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขออย่าเติมฟืนเติมไฟ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด กระทรวงดีอีเอสเอาเวลาไปทำระบบติดตามช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังตกค้างดีกว่า
นี่แหละที่เป็นปัญหาของรัฐบาลคณะนี้สิ่งที่ควรทำไม่ทำ ไปทำในสิ่งที่ไม่ได้เรื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพียงปกป้องอำนาจของตัวเอง ทั้งที่เวลานี้วิกฤติโควิดหนักหน่วงถึงขนาดที่มีคนตายกลางถนน คนป่วยนอนรอเตียงกันข้างถนน จนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจรับไม่ได้ รีบสั่งไปยังทุกหน่วยงานทำทุกวิถีทางลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่รออยู่ที่บ้าน และผู้ที่คอยรถมารับ จะต้องไม่ให้ไปอยู่ตามถนนหนทาง ต้องไม่ให้เห็นภาพนี้อีกต่อไป ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานไม่ใช่แค่สาธารณสุขเพียงอย่างเดียว
แต่คำถามสำคัญคือ การทำงานในภาคปฏิบัติที่แท้จริงนั้น สามารถขับเคลื่อนได้ตามนั้นหรือไม่ เห็นได้ชัดว่า การบริหารจัดการเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยในระดับสีเหลืองนั้น มันไม่สามารถขยับอะไรได้ และก็เป็นสิ่งพิสูจน์คำพูดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ที่บอกว่า ต่อให้สถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่สามารถรับมือได้ ไม่เป็นความจริง นี่หรือคือสิ่งที่หมอการเมืองทั้งหลายตอบแทนความไว้วางใจของประชาชน
เช่นเดียวกับกรณีของวัคซีนโควิด-19 การตอกย้ำว่าเวลานี้มีวัคซีนที่จัดหาถึง 6 ยี่ห้อ ก็ไม่ใช่สาระและเกิดประโยชน์ใด ๆ กับประชาชน เพราะของจริงที่มีใช้มันมีกี่ยี่ห้อและเพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์วิกฤติหรือไม่ สุดท้ายเมื่อไล่ไปตรวจสอบกันก็พบว่า นอกจากความล้มเหลว ไร้วิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้ว ยังมีการพูดจาโกหก หลอกลวงประชาชน ตรงนี้ในแง่ของจริยธรรมทางการเมืองจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้
ทำไมถึงต้องบอกว่าโกหกประชาชน เพราะกรณีของวัคซีนแอสตร้าเซเนกามีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน ย้อนความกลับไปเมื่อ 23 เมษายน 2564 ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศปูพรมฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมลั่นอย่างมั่นใจว่า แอสตร้าเซเนกาปีนี้จะจัดหามาได้ 61 ล้านโดส โดยแจกแจงละเอียดยิบ ส่งมอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส และตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นไปเดือนละ 10 ล้านโดส แล้วปิดท้ายที่เดือนธันวาคมอีก 5 ล้านโดส
แต่เค้าลางของการไม่มาตามนัดก็เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน เมื่อมีการยกเลิกจองวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม และเลื่อนนัดฉีดกันอุตลุดเพราะวัคซีนมีไม่พอหรือพูดง่าย ๆ ไม่เป็นไปตามราคาคุย ไม่เพียงเท่านั้น สัปดาห์ก่อน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขยืดอกยอมรับแบบแมน ๆ และย้ำว่าต้องพูดความจริงกับประชาชน แอสตร้าเซเนกาที่จะส่งมอบกันภายในสิ้นปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้า ต้องขยับช้าไปถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้ากันเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอิศรามีการเปิดเผยข้อมูลว่า ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนกาทำหนังสือลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ถึงรัฐบาลไทย โดยมีการระบุว่าทางฝ่ายไทยแจ้งความต้องการวัคซีนไปยังบริษัทผู้ผลิตแค่เดือนละ 3 ล้านโดส แต่ทางบริษัทจะจัดให้เกือบ 2 เท่าตัวคือ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ก่อนที่ อนุทิน ชาญวีรกูล จะทำหนังสือตอบกลับไปยังบริษัท 30 มิถุนายน อ้างสถานการณ์ระบาดรุนแรงขอเพิ่มความต้องการวัคซีนเป็น 10 ล้านโดส
หมายความว่าอะไร ตัวเลข 10 ล้านโดสที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพูดไปเมื่อเดือนเมษายนไปเอามาจากไหน ความเห็นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต่อประเด็นนี้น่าจะตรงกับความรู้สึกของประชาชนมากที่สุด พวกคุณหลอกประชาชนให้หวังให้คอย แล้วก็ตายกันเป็นใบไม้ร่วง ทั้งที่เจ้าของวัคซีนเขาไม่รู้เรื่องด้วยเลย เราท่องตัวเลขจำนวนนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายน สื่อมวลชนรายงานตรงกันหมด
สรุปแล้วการปั่นตัวเลขวัคซีนเพื่อให้ความหวังกับประชาชน เป็นเรื่องยกเมฆ เรื่องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่มีปัญญาแก้ไขสถานการณ์นั้นมันเด่นชัดอยู่แล้ว แต่ไม่นึกว่าจะสับปลับและอำมหิตกับประชาชนแบบนี้ ดังนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์และเรียกร้องถึงความรับผิดชอบ จึงเป็นความชอบธรรม นอกจากจะไม่มีความผิดและไม่สมควรที่จะมีใครมาขู่เอาผิดทางกฎหมายแล้ว คนที่ขู่และหัวขบวนสืบทอดอำนาจควรจะพิจารณาแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างสูงสุดเสียด้วยซ้ำ