จากปริมาณ สู่คุณภาพพลวัต2015

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นบทวิเคราะห์ทางบวกที่มีต่อเศรษฐกิจจีนโดยนักคิดตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป เพราะอคติทางปัญญาที่ปิดไม่มิด มักจะตั้งคำถามในเชิงสงสัยอยู่เสมอเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่เป็น “หลุมดำ” ของการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเสมอมา


ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นบทวิเคราะห์ทางบวกที่มีต่อเศรษฐกิจจีนโดยนักคิดตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป เพราะอคติทางปัญญาที่ปิดไม่มิด มักจะตั้งคำถามในเชิงสงสัยอยู่เสมอเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่เป็น “หลุมดำ” ของการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเสมอมา

รายงานฉบับล่าสุดปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาของ เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (WEF)ซึ่งเป็นองค์กรนักคิดที่ทำหน้าที่ศึกษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เปิดเผยในรายงาน “Global Competitiveness Report 2015-2016” กำลังทำให้มุมมองเดิมเปลี่ยนไป

รายงานระบุว่า  เศรษฐกิจจีนในขณะนี้ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะพังทลาย (ฮาร์ดแลนดิ้ง) แม้ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของจีนในระดับหนึ่ง

รายงาน WEF ระบุว่า จีนบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาและสาธารณสุข อีกทั้งยังได้ลงทุนมูลค่ามหาศาลในสาธารณูปโภคด้านการขนส่งและพลังงาน และยังสร้างความเชื่อมั่นเรื่องบรรยากาศทางเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ

ความสำเร็จเหล่านี้ ไม่เพียงจะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สินทรัพย์ของจีนมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของ WEF กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ถือเป็นสถานการณ์ที่ปกติและคาดการณ์ได้ เมื่อพิจารณาจากสถิติการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจของจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

รายงานยังระบุถึงปัจจัยถ่วงรั้งการเติบโตที่ทำให้ช้าลง ว่า ปัญหารุนแรงสุดที่ทำให้จีนไม่สามารถพัฒนาพลังการผลิตได้ อยู่ที่การขาดความสามารถเชิงนวัตกรรม ซึ่งพอกพูนเป็นประเด็นใหญ่โตในหลายปีมานี้ เพราะขาดความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจเอกชนอย่างจริงจัง  หรืออีกนัยหนึ่งคือ ภาคการผลิตของจีน มาถึงขีดจำกัดในการยกระดับคุณภาพอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีทางด้านการศึกษาให้กลายเป็นพลังการผลิตและเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งใหม่ได้

ประเด็นหลังสุดนี้ นำมาซึ่งประโยคที่น่าสนใจมากที่สุดของรายงาน คือท่อนที่ระบุว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่า รัฐบาลจีนได้เตรียมความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ และเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจที่ขยายตัวในเชิงปริมาณ ไปสู่การขยายตัวในเชิงคุณภาพ       

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าบทสรุปของรายงานดังกล่าว จะให้ความสำคัญมากเกินไปกับตัวแปรด้านวัตกรรมในฐานะ 1 ใน 12 ตัวแปรสำคัญที่จัดไว้ในเกณฑ์การวัดดัชนีความสามารถทางการแข่งขันหรือ Global Competitiveness Index (GCI) ที่องค์กรแห่งนี้ เป็นคนริเริ่มจัดขึ้นมาในค.ศ. 2004 จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า นวัตกรรมคือความแตกต่างที่ทำให้ระดับของความสามารถในการแข่งขันของชาติต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน ก็ทำให้ข้อโต้แย้งถูกลดทอนความสำคัญลง

บทสรุปของข้างต้น บังเอิญไปตอกย้ำคำพูดเดิมของนาย สี จิ้น ผิง ผู้นำจีนที่กล่าวเร็วๆ นี้ว่า จีนจะไม่มีปัญหาฮาร์ดแลนดิ้งอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะเติบโตช้าลง

แม้ว่าผลของรายงานดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมุมมองของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นมุมมองน่าสนใจ เพราะอย่างน้อยที่สุด ความกังวลว่าเศรษฐกิจที่จะย่ำแย่อย่างหนัก จนถึงขั้นทำให้โลกสั่นสะเทือนเป็นวิกฤตรุนแรง ก็บรรเทาลงไป

นี่มิใช่ครั้งแรกที่มุมมองเชิงบวกต่อจีนได้รับการกล่าวขาน ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้เคยพูดย้ำหลายครั้งในงานสัมมนาในนครนิวยอร์กว่า เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวที่สดใส แม้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ร่วงลงอย่างหนักเป็นเวลานาน โดยระบุว่า นักวิเคราะห์บางรายมีมุมมองลบมากเกินไปต่อเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก

นายคูโรดะกล่าวเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงมีการเติบโตในช่วง 6-7% ในปีนี้และในปีหน้า ไม่ว่าตลาดหุ้นจะผันผวนแค่ไหน เพราะการชะลอตัวเกิดขึ้นเป็นปกติหลังจากที่มีการขยายตัวอย่างมากในช่วงก่อนหน้า นานกว่า 2 ทศวรรษ

โดยข้อเท็จจริง จีนได้เคยออกมายอมรับมาหลายปีแล้วว่า ความร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่ยาวนานมากกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยในประวัติศาสตร์ชาติทุนนิยม จะมาถึงขีดจำกัด แต่พวกเขาก็พยายามใช้คำพูดว่า จะลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลง(ซอฟท์ แลนดิ้ง) แต่คนที่คุ้นเคยกับวิกฤตของเศรษฐกิจทุนนิยมต่างรู้ดีว่า การบริหารจัดการในช่วงเศรษฐกิจขาลงนั้น คำว่าซอฟท์  แลนดิ้ง เป็นสิ่งที่ยากกว่าปกติ และสุ่มเสี่ยงอย่างมาก

สื่อตะวันตกก็มีมุมมองทำนองเดียวกันกับประสบการณ์ของวิกฤตทุนนิยมหลายครั้งในอดีตในลักษณะเดียวกัน

โดยข้อเท็จจริง การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจจีนเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกมาเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งการเติบโตจากภายในมากขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นมาจริง ความสามารถในการบรรเทาความเสียหายไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดาย

ความหวั่นไหวไปทั่วโลกว่า การชะลอตัวหรือลดความร้อนแรงจากจีน คือหายนะของผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ที่เคยมีจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ จึงเลี่ยงไม่พ้น

รายงานของ WEF ถือว่าเป็นข้อมูลสนับสนุนแนวทางปฏิรูปหรือปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนมาก และคลายกังวลต่อภาพอันสยดสยองของอนาคตที่ว่า เศรษฐกิจจีนจะพังทลาย

Back to top button