BAY หลังหมดทีเด็ด
ทุกอย่างเป็นไปตามคาด ยกเว้นราคาหุ้น สำหรับหุ้นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น อย่าง BAY ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย
ทุกอย่างเป็นไปตามคาด ยกเว้นราคาหุ้น สำหรับหุ้นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น อย่าง BAY ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย
กำไรสุทธิจำนวน 21,048 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง 55.5% สำหรับครึ่งแรกของปี 2564 สูงที่สุดในบรรดากลุ่มเดียวกัน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ของรายได้พิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้น ในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR) ในไตรมาสสองของปี 2564 จำนวน 11,913 ล้านบาท
กำไรพิเศษที่มากมายหักกลบกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติสำหรับครึ่งแรกของปี 2564 ที่ลดลงต่อเนื่อง จากไตรมาสแรกคิดเป็น 5.0% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งเป็นผลมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยืดเยื้อ
แม้เงินให้สินเชื่อรวม สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 3.5% หรือจำนวน 9,775 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกรุงศรีในการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SME ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อรายย่อยลดลง 1.2% และ 1.6% ตามลำดับ
จุดเด่นของ BAY อยู่ที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.03% เมื่อสิ้นงวดเดือนมิถุนายน 2564 ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 2.00% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับสูงที่ 175.8% เมื่อเทียบกับ 175.1% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.80% ลดลงจาก 17.92% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563
แม้เทียบกับไตรมาสแรก จะเห็นได้ว่าผลประกอบการปกติจะดีขึ้นชัดเจน โดยที่ในในไตรมาสแรกของปีนี้ กำไรสุทธิของ BAY โดยไม่มีกำไรพิเศษมาหนุน เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ลดลงไป ร้อยละ 7.5 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน จากการที่สินเชื่อเพื่อรายย่อยลดลงร้อยละ 1.0 จากการชำระคืนเงินสินเชื่อของลูกค้าตามปัจจัยด้านฤดูกาล และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ที่สำคัญ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 โดยหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้ารายย่อยตามฤดูกาล
นอกจากนั้น ยังมีต้นทุนที่เลี่ยงยากคือ ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ลูกค้าเช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาการชำระคืน ทบทวนวงเงินกู้ เปลี่ยนประเภทหนี้ ยืดอายุหนี้) ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ “สินเชื่อฟื้นฟู” และ “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” แล้วแต่กรณี
ผลลัพธ์ของการช่วยเหลือลูกค้า และความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวช้าลง (ล่าสุด BAY ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จาก 2.0% มาอยู่ที่ 1.2%) ที่ทำให้ราคาหุ้นร่วงมาอยู่ใต้ 29.00 บาท สวนทางกับบุ๊กแวลูที่ปรับขึ้นไปเหนือ 40.00 บาท ทำให้มีคำถามว่า กระทบ และจำต้องช่วยเหลือตนเอง ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวังท่ามกลางสภาวะการเติบโตของสินเชื่อต่ำมาก และปัญหา NPL ที่รบกวนในยามไม่ปกติแค่ไหน เพียงใด
ผู้บริหารเป็นคนญี่ปุ่นที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่ม MUFG ที่ยังคงสามารถรักษาการเติบโตของสินทรัพย์และมาร์เก็ตแคป รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรได้สวยงามต่อเนื่องระดับหัวแถวของกลุ่ม ด้วยอัตราทำกำไรสุทธิที่สูงกว่าร้อยละ 20 ต่อเนื่องมาตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จะยังทำได้ดีต่อไปหรือไม่
เรื่องนี้ นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY กล่าวว่า “กรุงศรียังคงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านการติดตาม และจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร และมุ่งเน้นที่การกำกับดูแลด้วยความเข้มงวด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ธนาคารมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง และเพียงพอในระยะข้างหน้า”
ถึงตอนนั้น เราคงได้รู้กันว่าราคาหุ้น BAY ที่ต่ำกว่าบุ๊กแวลู และไร้หมัดเด็ดจาก TIDLOR จะเป็นเช่นใด