‘หุ้นส่งออก’ แนวโน้ม Q3/64 เด่นต่อช่วง High Season
การส่งออกในเดือนมิถุนายน 2564 จะเห็นได้ว่าโตแกร่งกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 3/2564 เชื่อว่ายังคงเด่นต่อจาก High Season
เส้นทางนักลงทุน
เห็นได้ชัดว่าข้อมูลของมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.37 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือนพฤษภาคม และเพิ่มขึ้น 43.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 39% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวจากปีก่อนที่ฐานต่ำจากผลกระทบของ COVID-19 ระลอกแรก
อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป มูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 2.33 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.8% จากเดือนพฤษภาคม และเพิ่มขึ้น 43.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสินค้าและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหลังกระจายฉีดวัคซีน COVID-19 อย่างแพร่หลาย และเริ่มมีการทยอยเปิดเมืองและเปิดประเทศ รวมครึ่งแรกของปี 2564 มูลค่าส่งออกไทยอยู่ที่ 1.32 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.1% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 15.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เติบโตโดดเด่นมาก
ขณะที่ตลาดส่งออกหลักยังคงเติบโตแข็งแรงทุกภูมิภาค ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 41.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับยุโรปที่เพิ่มขึ้น 46.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนตลาดออสเตรเลียยังเร่งตัวเพิ่มขึ้น 39.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดหลักในภูมิภาคเอเชียโดดเด่นเช่นกัน จีนเพิ่มขึ้น 42% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วน CLMV ได้แก่ประเทศกัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ชะลอเล็กน้อยจากโควิด-19 ที่ระบาดหนักขึ้น เพิ่มเพียง 36.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่เติบโตสูง เพิ่มขึ้น 123.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ก้าวขึ้นมาติด Top 10 มูลค่าตลาดส่งออกสูงสุดของไทย และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนประชากรที่สูง
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่เติบโตโดดเด่นยังคงเป็นชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้น 78.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สำหรับผลบวกต่อกลุ่มยานยนต์ ได้แก่ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT, บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG, บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC และ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE
ส่วนทางด้านยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยาง เพิ่มขึ้น 111.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 38.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งผลดังกล่าวเป็นบวกต่อหุ้น ได้แก่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER และ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT
ขณะที่ด้านอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 27.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นบวกต่อหุ้น ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ตามด้วยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจะเป็นบวกต่อ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC
ทั้งนี้ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เพิ่มขึ้น 60.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นบวกต่อหุ้น ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นบวกต่อหุ้น ได้แก่ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA
ส่วนสินค้าที่มีการชะลอตัวคืออาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการกักตุนค่อนข้างมากจาก COVID-19 ระลอกแรก
อย่างไรก็ตาม บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 3/2564 คาดจะเติบโตโดดเด่นจาก High Season และคาดบรรลุเป้าหมายของธปท.ที่คาดทั้งปี 2564 เพิ่มขึ้น 17.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนได้ไม่ยาก ส่วนราคาค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นคาดยังสามารถบริหารจัดการแบกรับต้นทุนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ และคาดว่าในช่วงปลายไตรมาส 3/2564 และไตรมาส 4/2564 จะเริ่มมีทิศทางที่ผ่อนคลายขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่หากเกิดขึ้นจะกระทบอย่างหนัก คือการระบาดของโควิด-19 ในภาคการผลิตที่รุนแรงและทำให้ต้องมีการหยุดผลิตชั่วคราว จะเป็น Downside สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการขนส่งจะยังสามารถปรับตัว Outperform ตลาดได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 จากแนวโน้มกำไรที่โดดเด่น สวนทางกลุ่ม Domestic Play ที่อ่อนแอ ทำให้เม็ดเงินคาดยังไหลเข้าหาและเก็งกำไรอย่างกระจุกตัว
ผลดังกล่าวแนะนำ “เก็งกำไร” กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE และ บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT เนื่องจาก Upside ค่อนข้างจำกัด
ขณะที่ในส่วนของหุ้นที่แนะนำ “ซื้อ” ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT, บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH,
บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER, บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC และ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA
สำหรับการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2564 จะเห็นได้ว่าโตแกร่งกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 3/2564 เชื่อว่ายังคงเด่นต่อจาก High Season นั่นเอง ดังนั้นหุ้นดังกล่าวที่นำเสนอจะยังคงรับปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง