ขึ้นเพื่อลง หรือแรลลี่
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ วานนี้ (9 ส.ค.) ปิดบวกค่อนข้างร้อนแรง
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ วานนี้ (9 ส.ค.) ปิดบวกค่อนข้างร้อนแรง
นักลงทุนสถาบัน กลับเข้ามาซื้อสุทธิ ด้วยการเก็บหุ้นขนาดใหญ่เข้าพอร์ต ทั้ง AOT GULF KBANK SCB GPSC และ CPN
หุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้ เมื่อวานนี้ปิดบวกกันมากกว่า 2-4%
เช่น AOT บวก 2.50 บาท ปิด 58.25 บาท เปลี่ยนแปลง +4.48% มูลค่าการซื้อขาย 1,702 ล้านบาท
วอลุ่มเทรดที่มาก และราคาหุ้นใหญ่ที่ขยับขึ้นสูง
มีเพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบัน (และต่างประเทศ) เท่านั้น ที่จะทำแบบนี้ได้
มีคำถามว่า นักลงทุนสถาบันกำลังคิดอะไร
คำถามนี้ตอบลำบาก
เพราะขนาดนักวิเคราะห์แต่ละคนยังมองแตกต่างกันไป
บางคนมองไปว่า กองทุนเริ่มเก็บหุ่นแล้วล่ะ เพราะอาจประเมินว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อน่าจะขึ้นสู่ระดับสูงสุด หรือใกล้ระดับสูงสุดแล้ว ก่อนจะค่อย ๆ ปรับลดลง
ส่วนยอดคนหายป่วยกลับบ้านเริ่มมีมากขึ้น
มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ น่าจะเกิดขึ้นไม่นานจากนี้
ส่วนตัวเลขผู้ฉีดวัคซีน ค่อย ๆ เริ่มดีขึ้น
ส่วนใหญ่กองทุน หรือนักลงทุนสถาบันที่เข้ามาซื้อ คือจะมองไปปี 2565 โน่นแล้วว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ เลยเข้ามาเก็บสะสมหุ้น (ขนาดใหญ่) ไว้ก่อนช่วงที่ราคายังถูก
หุ้นเวลาจะรีบาวด์
ก็จะเป็นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 นั่นแหละ
พวกนี้ผลประกอบการน่าจะเริ่มฟื้นตัวก่อน และเป็นกลุ่มที่จะดันดัชนีขึ้นมา
ส่วนนักวิเคราะห์อีกกลุ่มมองว่า ดัชนีตลาดหุ้น ๆ ไทย ยังลงไม่สุดนะ
เช่นเดียวกับ กับตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ถึงระดับสูงสุด และยังไม่รู้ว่าจะไปถึงตรงไหน และเมื่อไหร่
“ความเสี่ยง” จึงยังคงมีอยู่
ดังนั้น โอกาสที่ดัชนีจะร่วงหลุดต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด จึงมีความเป็นไปได้สูง
เช่น เมื่อวานนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนมีจัดสัมมนาเรื่องการปรับพอร์ต ท่ามกลางวิกฤตโควิด
นักวิเคราะห์ที่มาให้ข้อมูลต่างมองว่า ดัชนีน่าจะหลุด 1,500 จุด
ก่อนจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/64 หรือไตรมาส 1/65 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโควิด-19 ว่าจะเบาบางในช่วงไหน และจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร
แน่นอนว่า กลุ่มนักลงทุนสถาบันจะมี “เครื่องมือ” และ “มุมมอง” การวิเคราะห์ที่ดีกว่านักลงทุนทั่วไป
หรือว่านักลงทุนสถาบันเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกบ้างแล้ว
เดือนสิงหาคม นี้ ผ่านมาแล้ว 9 วัน
พวกเขาซื้อสุทธิไปแล้วกว่า 6,281 ล้านบาท
ดัชนีหุ้นกลุ่ม SET50 เริ่มเห็นการขยับขึ้นเล็กน้อย
ทว่า จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ยังไม่มีสิ่งใดที่จะบ่งบอก ๆ ได้ว่า การเข้ามาซื้อรอบนี้ของนักลงทุนสถาบัน
จะเป็นการเข้ามาซื้อเพื่อให้รายย่อยตาม ก่อนจะ “ปล่อยของ” แล้วไปรอเก็บอีกครั้งช่วงดัชนีอยู่ใต้ 1,500 จุด
หรือว่าเป็นการเข้ามาซื้อต่อเนื่องแบบแรลลี่ (บางช่วงอาจมีขายทำกำไรออกมาบ้าง)
ที่ผ่านมา เวลามีการวิเคราะห์ว่า ดัชนีน่าจะลงไปจุดต่ำสุดที่เท่าไหร่
หรือมีแนวรับสำคัญอยู่ระดับใด
เรามักจะพบว่า ดัชนีจะไม่ค่อยลงไปถึงจุดนั้น
เพราะจะมีแรงซื้อเข้ามาก่อน จนกลุ่มนักลงทุนที่คอยเก็บหุ้นต่างตกขบวน
และเช่นเดียวกัน
เมื่อเวลามีการวิเคราะห์ว่า ดัชนีจะขึ้นไปถึงระดับใด เช่น 1,600 จุด หรือ 1,700 จุด
ดัชนีมักจะวิ่งไปไม่ถึง
เพราะจะมีแรงขายทำกำไรออกมาซะก่อน