เกมนี้ไม่เลิกง่าย!

ควันหลงของกรณีผิดนัดชำระหนี้ของ บริษัท สหวิริยา สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ยังจบไม่ลงง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีที่ธนาคารเจ้าหนี้อย่าง SCB จำต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากแม่คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาช่วยโอบอุ้มซื้อหุ้น SCC ในราคาแพงกว่าตลาดหลายสิบบาท เพื่อหาเงิน 4.47 พันล้านบาทไปตั้งสำรองพิเศษจากหนี้สูญของ SSI ตามคำสั่งของแบงก์ชาติ


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

ควันหลงของกรณีผิดนัดชำระหนี้ของ บริษัท สหวิริยา สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ยังจบไม่ลงง่ายๆ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีที่ธนาคารเจ้าหนี้อย่าง SCB จำต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากแม่คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาช่วยโอบอุ้มซื้อหุ้น SCC ในราคาแพงกว่าตลาดหลายสิบบาท เพื่อหาเงิน 4.47 พันล้านบาทไปตั้งสำรองพิเศษจากหนี้สูญของ SSI ตามคำสั่งของแบงก์ชาติ

เป็นปริศนาให้คนตั้งคำถามว่า ทำไมสำนักงานทรัพย์สินฯจึงยอมซื้อหุ้นในราคาขาดทุนอย่างนั้นได้ยังไงกัน??

เหตุผลที่ยังไม่จบนั้น มีมากกว่าที่นึก ลึกกว่าที่คิด และคนที่จะให้คำตอบในท้ายที่สุด หนีไม่พ้น วิน วิริยประไพกิจ

เหตุของเรื่องทั้งหลาย ว่ากันว่าเพราะเสี่ยวินนั้น เป็นลูกกตัญญู รู้ดีว่า ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของบิดาคือ เสี่ย วิทย์  วิริยประไพกิจ อยู่ที่ต้องการเป็นเจ้าของโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่ระดับโลก ตามประสาคนในวงการเหล็กที่ต้องสร้างชื่อให้ลือลั่น

ความพยายามของเสี่ยวิทย์ และเสี่ยวิน ที่จะสร้างโรงงานถลุงเหล็กในเมืองไทยหลายปี ถึงขั้นซื้อที่ดินและทำพิมพ์เขียวเสร็จแถวบางสะพาน ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกต่อต้านเยอะเหลือเกิน

เมื่อเดินหน้าในประเทศไทยไม่ได้ ก็ต้องเมียงมองหาลู่ทางในต่างประเทศ จึงเจรจาต้าอ้วยกับบรรดาที่ปรึกษาการเงินที่อยู่ในร่มธงแบงก์พาณิชย์ในประเทศเพื่อหาทางเจรจาเป็นเจ้าของโรงเหล็กในต่างประเทศทางลัดด้วยการทำ M&A

ที่ปรึกษาการเงินในประเทศกวาดสายตาไปหาที่ปรึกษาการเงินระหว่างประเทศระดับโลก แล้วก็ไปเจอะเจอของดีเข้าในที่สุด

โรงเหล็กผลิตแท่งเหล็กแบนของกลุ่มตาต้าของอินเดียที่ซื้อมาชื่อ TCP ที่เมืองทีไซด์ ในอังกฤษ ปิดโรงงานไปหลายปีแล้ว เพราะขาดทุนป่นปี้ ยินดีขายในราคาถูกๆ แค่ 500 ล้านดอลลาร์ ผลลัพธ์จึงเป็นที่มาของดีลซื้อกิจการขนาดใหญ่หลายล้านบาทในปลายปี 2553 แต่มาสำเร็จในต้นปี 2544

การซื้อกิจการครั้งนั้นมีข้ออ้างสวยหรูว่า โรงงานถลุงเหล็กต้นน้ำดังกล่าว เป็นการลงทุนที่เหมาะกับยุทธศาสตร์เชื่อมโยงธุรกิจเหล็กต้นน้ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ หาแหล่งผลิตเหล็กต้นน้ำเพื่อมาป้อนเป็นวัตถุดิบกับโรงงานรีดร้อนรีดเย็นของ SSI ในประเทศไทย

สิ่งที่ไม่ได้ป่าวประกาศคือ โรงงานเหล็กอายุร่วม 120 ปีดังกล่าว มีค่าซ่อมบำรุงมโหฬารรออยู่ให้กลุ้มใจ เพราะมีเทคโนโลยีล้าหลังมาก จะต้องมีต้นทุนอีกเท่าตัวในการเข้าไปปรับปรุงและเหลือเงินอีกก้อนไว้ซ่อมบำรุงเพราะอาจจะต้องเจอรายการ ผลิตไป ปิดซ่อมไปได้เรื่อยๆ

ไม่รู้ว่าทีมงานด้านเทคนิคของSSI บอกเสี่ยวินเอาไว้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องภายใน เอาเป็นว่าในท้ายที่สุดดีลนี้ สมประสงค์ทุกฝ่าย

ตาต้ากรุ๊ปได้เงินก้อนกลับจากการขายโรงงานไปใช้หนี้เจ้าหนี้ก้อนหนึ่ง แม้ขาดทุนก็ยังบรรเทาไปได้

เสี่ยวิน กลายเป็นวีรบุรุษชั่วคราว ที่นำธงชาติไทยไปปักที่โรงงาน TCP ที่เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น SSI UK

ส่วนที่ปรึกษาการเงินทั้งระดับโลกและระดับประเทศไทยก็ยิ้มแป้นรับค่าต๋งทำดีลเละเทะนับพันล้านบาทเมื่อดีลสำเร็จ

เจ้าหนี้ 3 แบงก์ใหญ่ของไทยอย่าง SCB, KTB และ TISCO ที่ร่วมกันปล่อยกู้ในรูป 1) สัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนในรูปเงินบาท จำนวน 23,900 ล้านบาท 2) สัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนในรูปเงินดอลลาร์ จำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

 โรงงาน SSIUK เปิดดำเนินการครั้งใหม่เมื่อต้นปี 2555 ครึกโครมเป็นข่าวใหญ่ ทั้งเมืองไทยและอังกฤษ ท่ามกลางคำถามว่า จะไปรอดได้กี่น้ำ

แล้วคำตอบเบ็ดเสร็จก็ตามมา เมื่อตัวเลขขาดทุนของบริษัทลูกที่ใหญ่กว่าแม่หลายเท่าตัว มาโผล่ที่งบการเงินบริษัทแม่ทุกไตรมาส แม้จะมีข่าวแก้ต่างจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ SSI เองและเจ้าหนี้ว่า กิจการขาดทุนลดลงเรื่อยๆ นับวันจะดีขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งกลางปี 2557 ความจริงชนิด “ช้างตายทั้งตัว ใบบัวปิดไม่มิด” เพราะส่วนผู้ถือหุ้นที่ร่อยหรอ ทำให้ SSI ต้องเจรจาประนอมหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็ยื่นเงื่อนไขว่า จะปรับโครงสร้างนี้ให้โดยยืดอายุ ถ้าหากว่า SSI ยินยอมเพิ่มทุน

ที่เจ้าหนี้ต้องยื่นเงื่อนไขนี้ ว่ากันว่า บังเอิญไปคุ้ยแคะแกะโครงสร้าง SSI แล้วพบว่า มีโครงสร้างประหลาดเพราะมีการกินหัวคิวหลายต่อในลักษณะ “ผ่องถ่ายกำไรเข้ากระเป๋า”

ไม่ว่าเป็น สหวิริยาพาณิชย์ ยี่ปั๊วคุมเครือข่ายจัดจำหน่ายเหล็กผูกขาดเจ้าเดียวในประเทศต่อจาก SSI

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเดินเรือขนส่งเหล็กไปมาอังกฤษ

ทั้งสองรายนี้ ดูชื่อผู้ถือหุ้นก็รู้แล้วว่า เข้าข่ายผ่องถ่ายกำไรชัดเจน

ที่ร้ายกว่านั้น ยังมีบริษัทจัดหาวัตถุดิบตั้งในสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีผู้ถือหุ้นลึกลับอีก ทำหน้าที่หาเหล็กป้อน SSI UK เจ้าเดียว เพราะเป็น “ผู้ค้าเหล็กโลกรายใหญ่”

เมื่อเสี่ยวินถูกบังคับให้เพิ่มทุน ก็ปรากฏให้เจ้าหนี้เห็นว่า มีการเพิ่มทุนกำมะลอเกิดขึ้น เพราะนอกจากขายหุ้นไม่หมดแล้ว ยังมีประเด็นน่าสงสัยอีกว่า การให้ SSI UK เพิ่มทุนแล้วสว็อปหุ้นกันโดยเปลี่ยนค่าสินค้าเหล็กแท่งแบนล่วงหน้า มูลค่าจำนวน 125 ล้านดอลลาร์ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนใน SSI UK  และการให้ VANOMET AG ร่วมลงทุนวงเงินไม่เกิน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปการให้เงินกู้ระยะสั้นสำหรับ SSI UK จำนวน 100 ล้านดอลลาร์ และวงเงินกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SSI UK จำนวน 70 ล้านดอลลาร์ โดยที่อย่างหลังนี้ VANOMET สามารถเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัททั้งหมดหรือบางส่วน

เรื่องแดงโร่อย่างนี้มีหรือที่ ไก่จะไม่เห็นตีนงู

เจ้าหนี้รู้ทันทีว่า เสี่ยวินที่ดูเรียบร้อยสง่างามนั้น เอาเข้าจริง ลูกเสือ..ไม่ยอมทิ้งลาย ธรรมดานี่เอง

มาตรการขั้นเด็ดขาด ตัดท่อน้ำเลี้ยงทำให้ SSI UK หยุดผลิตเหล็กอย่างกะทันหัน จึงตามมา ทำลายสถิติเจ๊งเร็วสุดในประวัติวงการเหล็ก

สำหรับแบงก์เจ้าหนี้ เกมต่อไปคือ บีบให้เสี่ยวินมีทางเลือกแค่ 2 ทางคือ หาเงินที่ซุกซ่อนเอาไว้เพิ่มทุนใหม่เข้ามา หรือไม่ก็เข้าแผนฟื้นฟู ให้แบงก์หาคนมาบริหารแผน บีบให้เสี่ยวิน และ วิริยประไพกิจ กระเด็นออกไปจาก SSI ซ้ำรอยประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในกรณี TPI ในอดีต

งานนี้ คนในวงการเหล็ก หัวร่อร่า บอกว่างานนี้ ไม่ง่าย เพราะงานนี้ เสี่ยวินที่อ่านคัมภีร์ “เก้าอิมจินเกง” มาหลายจบ มีแต้มต่อเหนือเจ้าหนี้เยอะทีเดียว

เยอะอย่างไร ติดตามกัน อย่าได้กะพริบตา

 

 

Back to top button