พยุงราคา TIDLOR
การระบาดของโควิด-19 การปิดเมือง กึ่งล็อกดาวน์ จะสร้างผลกระทบกับเงินติดล้อมากเพียงใด และหนี้เสียที่จะตามมา ทำให้ราคาหุ้น ยังไม่กลับตัวขึ้นมา
มีความพยายามที่จะพยุงราคาหุ้น “เงินติดล้อ” TIDLOR ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา
ราคา ณ วันนั้น ลงไปต่ำสุด 36.25 บาท ต่อหุ้น
หรือต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ระดับ 36.50 บาท
ทว่า ระหว่างวัน และในช่วงปิดตลาดมีแรงซื้อเข้ามา และดันราคาขึ้นมาปิดเท่ากับราคาไอพีโอพอดีคือ 36.50 บาท
เมื่อวานนี้ก็เช่นเดียวกัน
ราคาหุ้นเงินติดล้อลงไปต่ำสุด 36.25 บาท อยู่หลายช่วง
แต่ก็มีแรงซื้อกลับเข้ามา คล้ายกับการพยุงราคาเอาไว้ ไม่ให้ลงไปต่ำกว่าไอพีโอ
จนแล้วจนรอดราคาขึ้นมาปิด 37.00 บาท บวก 0.50 บาท มูลค่าการซื้อขายกว่า 557.9 ล้านบาท
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 1-2 สัปดาห์
ราคาหุ้นเงินติดล้อ ปรับลงมาโดยตลอด หรือจากเหนือระดับ 40.00 บาท ลงมาต่ำกว่า 40.00 บาท และลงต่ำมาเรื่อยๆ
แรงขายที่กดราคาหุ้นลงมาต่อเนื่องแบบนี้
น่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ในมือจำนวนมาก และเดาว่าน่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนต่าง ๆ
และการปล่อยหุ้นออกมาที่ว่านี้
ระวังเหตุว่า ไม่ได้ทุบเปรี้ยงลงมาแบบไม้เดียว
แต่ระหว่างวัน เหมือนจะดึงราคากลับ เพื่อให้รายย่อยตาม แล้วปล่อยออกเป็นไม้ ๆ ไป
ประเด็นเชิงลบที่ทำให้กลุ่มนักลงทุนนี้ขายหุ้นออกมา
มีการประเมินกันว่า มาจากเรื่อง กฎหมายทวงถามหนี้ใหม่ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา
รวมถึงเรื่องที่ทางแบงก์ชาติถูกรัฐบาลสั่งให้ประกาศลด อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ลงมา
และสุดท้ายคือ กำไรงวดไตรมาส 2/2564 ที่จะออกมาต่ำกว่าคาดการณ์
เริ่มจากกฎหมายทวงถามหนี้ฉบับใหม่
มีการประเดิมจากนักวิเคราะห์ออกมาล่าสุดว่า กระทบกับเงินติดล้อไม่มากนัก หรือประมาณ 1-3% ของรายได้เท่านั้น
ส่วนเรื่องลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล
เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าแบงก์ชาติจะประกาศใช้หรือไม่
หรือหากจะทำตามแนวทางของรัฐบาลจริง ๆ
จะลดลงมาเท่าไหร่
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นักการเงินให้ความเห็นว่า ดอกเบี้ยที่กลุ่มไฟแนนซ์คิดกับลูกค้าในแต่ละผลิตภัณฑ์นั้น ต่ำกว่าเพดานขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะกระทบเท่าไหร่
และยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ดอกเบี้ยสินค้าการเงินที่คิดต่ำกว่า 20% คือไม่เข้าไปยุ่ง เช่นบัตรเครดิต
ส่วนที่คิดเกิน 20% ก็อาจจะปรับลดลงมาเพียง 1%
ทว่า นั่นเป็นเพียงความคิดเป็นหรือความเป็นไปได้เท่านั้น
ต้องรอการตัดสินใจของแบงก์ชาติในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง
แต่อย่างว่าล่ะ ประเด็นนี้หากยังไม่มีความชัดเจน ก็ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้กับหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ไปเรื่อยๆ แบบนี้
สุดท้ายคือเรื่องกำไรงวดไตรมาส 2/2564
ออกมา 777.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 176.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/263
ตัวเลขนี้ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์แห่งที่คาดการณ์กันเอาไว้ว่า น่าจะเพิ่มขึ้น 190 – 205%
ปัจจัยที่กดดันกำไรต่ำกว่าคาดมาจากค่าใช้จ่ายสำรองปรับตัวสูงกว่าที่คาด
โดยประเมินว่าเป็นผลจากการ “กลับรายการสำรอง” ที่น้อยลงเพื่อรองรับลูกหนี้ที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น
ส่วนแรงซื้อกลับ เงินติดล้อ เมื่อวานนี้
ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก Technical Rebound และอาจรวมถึงกำไรไม่ได้ต่ำกว่าคาดการณ์มากนัก
ประเด็นสำคัญคือ ตอนนี้นักลงทุนกำลังโฟกัสไปที่ไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564
ว่าแนวโน้มผลประกอบการจะออกมาอย่างไร
การระบาดของโควิด-19 การปิดเมือง กึ่งล็อกดาวน์ จะสร้างผลกระทบกับเงินติดล้อมากเพียงใด และหนี้เสียที่จะตามมา ทำให้ราคาหุ้น ยังไม่กลับตัวขึ้นมา
หากประเด็นเรื่องดอกเบี้ยมีความชัดเจน จนประเมินผลกระทบได้
เรื่องของการทวงถามหนี้ ดีดลูกคิดดูแล้ว มีผลลบยังไง
และการฉีดวัคซีนคืบหน้า เปิดเมืองได้เร็วขึ้น
จนพอจะเริ่มมองเห็นความชัดเจนด้านผลประกอบการของเงินติดล้อ
เมื่อถึงเวลานั้น ราคาหุ้นน่าจะเริ่มดีดกลับ
แต่จะต้องเป็นแรงซื้อ(กลับ)จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันด้วยนะ