เดือนดับที่ “อัฟกานิสถาน”

ชาวอัฟกันต้องตื่นมาพบกับความจริงเมื่อรู้ว่ากลุ่มตาลีบันได้ยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จและประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ได้หนีออกนอกประเทศแล้ว 


ชาวอัฟกันต้องตื่นมาพบกับความจริงอันแสนเจ็บปวดและขวัญผวาในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา เมื่อรู้ว่ากลุ่มตาลีบันได้ยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จและประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ได้หนีออกนอกประเทศแล้ว

ภาพที่ทหารอเมริกันเร่งอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตและคนอเมริกันออกจากกรุงคาบูล ได้ทำให้หลายคนนึกย้อนถึงวันที่ “ไซ่ง่อนแตก” เมื่อปี 2518   แม้ว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯจะบอกว่า ไม่เหมือนกันก็ตาม

ประธานาธิบดีโจ ไบเด้น เดินหน้าทำตามนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะถอนถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานให้หมดภายในวันที่ 31 สิงหาคม  และในเวลาเพียงสองสัปดาห์ก่อนที่จะถึงเส้นตายนั้น  ตาลีบันก็สามารถยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานคืนมาได้ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว อย่างไม่น่าเชื่อ

กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่สหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆได้ฝึกฝนและติดอาวุธให้มานานเกือบ20ปีโดยสูญเงินไปประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์  ไม่สามารถต้านทานพลังของตาลีบันได้  มีรายงานงานว่า ในบางพื้นที่ กองกำลังของรัฐบาลไม่ได้ต่อต้านเสียด้วยซ้ำ แถมยังมีบางคนแอบเอาอาวุธไปขายเสียอีก  จนในที่สุด กลุ่มตาลีบัน ก็สามารถเข้ายึดกรุงคาบูลที่เป็นด่านสุดท้ายได้สำเร็จในเวลาเพียงสัปดาห์กว่าเท่านั้น

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่หลายคนได้คาดคิดไว้แล้ว หลังจากที่สหรัฐฯและพันธมิตรยืนยันว่า จะถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน…  เพียงแต่ไม่คิดว่าจะรวดเร็วเช่นนี้

แต่สิ่งที่ชาวอัฟกัน  “ช็อก” และเสียขวัญมากกว่า  น่าจะมาจากการที่ “ผู้นำประเทศหนีเอาตัวรอด” โดยอ้างว่าเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนและป้องกันการนองเลือด

ภาพที่ชาวอัฟกันพากันไปแย่งขึ้นเครื่องบินที่สนามบินคาบูล และมีคนกลุ่มหนึ่งไปเกาะเครื่องบินขนส่งของกองทัพสหรัฐขณะแล่นอยู่บนรันเวย์ ทำให้มีคนตกจากเครื่องบินในระหว่างเทกออฟ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนอยู่ในภาวะสิ้นหวัง และมีความกังวลเพียงไร ต่อการกลับมามีอำนาจของ กลุ่มตาลีบัน

พวกเขากลัวว่าตาลีบันจะกลับมาปกครองแบบเหี้ยมโหดเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน   ด้วยการใช้กฎหมายชารีอะห์ ปกครองอย่างเคร่งครัดในปี 2539-2544  ตาลีบัน ห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำงาน    ลงโทษ ด้วยการขว้างก้อนหิน  เฆี่ยนตี และการแขวนคอ นอกจากนี้ยังห้ามดูโทรทัศน์ ฟังเพลงและภาพยนตร์ และห้ามเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป ไปโรงเรียน

มีการกล่าวหาว่ากลุ่มตาลีบันละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายวัฒนธรรมหลายอย่าง โดยตัวอย่างหนึ่งที่โด่งดังมากคือ  การทำลาย “พระพุทธรูปบามิยัน”ที่มีชื่อเสียงในภาคกลางของประเทศเมื่อปี 2544  นอกจากนี้ยังทำการค้าที่ผิดกฏหมาย เช่น ค้าฝิ่น และเฮโรอีนด้วย

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า การกลับมาในครั้งนี้   กลุ่มตาลีบันจะพยายามสร้างภาพว่า จะเดินสายกลางมากขึ้น โดยสัญญาว่าจะเคารพสิทธิของสตรีและปกป้องทั้งชาวอัฟกันและชาวต่างชาติ

จากการให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา ทีวี โฆษกคนหนึ่งของตาลีบัน กล่าวว่า จะประกาศรูปแบบการปกครองใหม่ในอัฟกานิสถานอย่างชัดเจนในเร็วๆนี้ แต่ก็ย้ำว่า ตาลีบันไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเรียกร้องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสันติสุข

ยังไม่รู้ว่าชะตากรรมของชาวอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ไป แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนว่า “การเมือง” เป็นปัจจัยหลักและสำคัญมากจริงๆที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้าหรือถอยหลังเข้าคลอง  แม้ว่าอัฟกานิสถานยังมีปัญหาอื่นๆอีกมากเช่นกัน อาทิ  มีหลายชนเผ่า ภาษา ชาติพันธุ์ และมีนิกายทางศาสนามากมาย

การมีรัฐบาลที่อ่อนแอ โกงกิน  มีผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถสร้างความปรองดองภายในประเทศได้ และหวังพึ่งแต่ต่างชาติ  มีโอกาสที่จะเปิดช่องว่างให้กลุ่มกบฏอย่างตาลีบัน ได้รับความเชื่อใจจากประชาชน มีข้ออ้างในการควบคุมประเทศ  และได้รับชัยชนะได้อย่างง่ายดาย ทั้งที่มีประวัติในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

ขณะเดียวกัน การหวังพึ่งแต่ต่างชาติโดยไม่สร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง และอ่อนแอจนปล่อยให้ต่างชาติเข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศมากและนานเกินไป  ก็ไม่ใช่สิ่งที่จีรังยั่งยืนและรับประกันถึงความรุ่งเรืองและความมั่นคงได้ตลอดไป    เมื่อผลประโยชน์  กลยุทธ์ หรือนโยบายของต่างชาติเปลี่ยน  การสนับสนุนและความช่วยเหลือที่ได้สัญญาไว้ก็จะมลายหายไปในพริบตา และจะหันหลังให้อย่างไม่แยแสและไม่สนใจต่อผลของการแทรกแซงที่เคยทำ ดังคำพูดของประธานาธิบดีไบเด้นที่ว่า   “ชาวอัฟกันต้องตัดสินอนาคตของตนเอง”

สงสารแต่ชาวอัฟกันที่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมโดยไม่รู้ว่า จากนี้ไปอนาคตจะเป็นเช่นไร และจะมีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินอนาคตตัวเองแค่ไหน !

Back to top button