กลเกม ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ (อีกครั้ง)
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาส่งสัญญาณว่า การเปิดประมูล “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี” กำลังจะเกิดอีกครั้ง
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาส่งสัญญาณว่า การเปิดประมูล “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี” (สุวินทวงศ์) กำลังจะเกิดอีกครั้ง มีการวางไทม์ไลน์ออกประกาศเชิญชวนเอกชน พร้อมขายเอกสารภายในช่วงเดือน ต.ค.นี้ และให้เวลาเอกชน เตรียมข้อเสนอ 60 วัน เบื้องต้นช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565 จะได้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว
สัญญาณที่ส่งมาจาก “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าฯ รฟม.ดังกล่าว เกิดขึ้น ศาลปกครองสูงสุด ยกคำร้องกรณีรฟม. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ตามคำชี้ขาดของศาลปกครองกลาง
ว่าไปแล้วคำสั่งศาลปกครองสูงสุดข้างต้น ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่หรือน่าตื่นเต้นอะไรเลย เพราะเป็นคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ที่ให้ยกคำร้องคดีที่ รฟม.ถูกกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยื่นฟ้องต่อศาลฯ ว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่เมื่อภายหลัง รฟม.แก้เกมทางกฎหมายด้วยการตัดสินใจ “ยกเลิกการประมูลที่ใช้เกณฑ์ดังกล่าว” พร้อมยื่นร้องให้ศาลจำหน่ายคดีออกไป จึงถือว่า “เหตุแห่งคดีได้ยุติลงแล้ว” ศาลฯจึงให้จำหน่ายคดีนี้ออกไป…ก็เท่านั้นเอง
แต่นั่น..ไม่ได้หมายความว่า คดีความอื่น ๆ ที่ถูกฟ้องอยู่หลายคดี จะพลอยฟ้า พลอยฝนรับอานิสงส์ไปด้วย เพราะมี “คดีแพ่ง” และ “คดีอาญา” อีก 2 คดีที่ศาลฯ อยู่ระหว่างพิจารณา รวมทั้ง “คดีทุจริตฯ” ที่ถูกฟ้องต่อศาลทุจริตและประพฤติมิชอบฯ อีกคดีด้วย
รวมถึงกรณีล่าสุด สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนและเอาผิดกับฝ่ายบริหารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีประมูลรถไฟฟ้า 2 สายทาง นั่นคือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เพราะส่งกลิ่นโชยทะแม่ง ๆ
ปมเหตุเนื่องจาก เส้นทางก่อสร้าง (บางส่วน) ของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทาง ต้องมีการก่อสร้างอุโมงค์และทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย” (หัวลําโพง-บางแค) แต่ รฟม.กลับมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลแตกต่างกัน
จึงน่าสนใจว่า..หาก รฟม. เดินหน้า เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้วยการใช้เกณฑ์ประมูลใหม่ดังกล่าวต่อไป จะทำให้เส้นทาง “การประมูลราบรื่นหรือไม่” เรื่องนี้คงไม่มีใครสามารถตอบได้ในตอนนี้
แต่ไฮไลท์อยู่ตรงที่ว่า หากคดีความต่าง ๆ ทั้งที่ศาลปกครอง ทั้งที่ ป.ป.ช. และศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการตัดสินคดีความที่ถูกร้องว่า “รฟม. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง” นั้น ย่อมทำให้การประ มูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม… “ล่มซ้ำสอง” อีกหรือไม่..?
นี่ยังไม่รวม “รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” ที่กำลังดำเนินการอยู่ อาจมีอันต้องหยุดชะงักไปด้วยเช่นกัน..!!
และหากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง..ความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจ (มีการประเมินกันสูงถึง 43,000 ล้านบาทต่อปี) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว รฟม.ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง ภายใต้ “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าฯ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแล ภายใต้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม จะรับผิดชอบความเสียหายที่ว่านี้อย่างไร..!?