PTT จากค้าเดี่ยวสู่ค้าร่วม
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่า LNG เปลี๊ยนไป๋...จากเดิมถูกผูกขาดโดย PTT เจ้าเดียว ก็เริ่มมีการออกใบอนุญาตให้เอกชนนำเข้า LNG มาได้
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าบริบทการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เปลี๊ยนไป๋…จากเดิมถูกผูกขาดโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เจ้าเดียว ก็เริ่มมีการออกใบอนุญาตให้เอกชนนำเข้า LNG มาได้ ในฐานะเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper)
ทำให้ปัจจุบันมีเอกชนอย่างน้อย 7 รายที่เป็นชิปเปอร์ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO, บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด หรือ PTTGL และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC
โอเค…ในมุมเอกชนจะทำให้ต้นทุนถูกลง เพราะไม่ต้องผ่านคนกลางอย่าง PTT อีกต่อไป…อันนั้นก็เข้าใจได้
แต่จากปัจจัยดังกล่าว ถือเป็นความเสี่ยงของ PTT ในฐานะเคยเป็นเสือนอนกินในธุรกิจนี้…ผูกขาดเจ้าเดียว ก็ต้องสูญเสียลูกค้าไป เพราะชิปเปอร์รายใหม่ล้วนเป็นลูกค้าของ PTT ทั้งนั้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิง…
ทว่าแม้จะสูญเสียลูกค้าไป แต่ PTT ก็ไม่ได้ปล่อยให้หลุดมือไปเสียทีเดียว มีโมเดลใหม่ที่น่าสนใจ ด้วยการเข้าไปร่วมลงทุนกับชิปเปอร์เหล่านั้นในการนำเข้า LNG แทน โดยอาศัยจุดแข็งของ PTT ซึ่งมีคาปาซิตี้พร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซ หรือท่อขนส่ง…
อย่างกรณีล่าสุด PTT ก็ไปจับไม้จับมือกับ BGRIM โดยส่งบริษัทลูก PTTGL ไปซื้อหุ้น 50% ในบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ แอลเอ็นจี เจวี จำกัด (BGP LNG JV) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BGRIM เพื่อร่วมกันจัดหาและจำหน่าย LNG รวมทั้งแสวงหาโอกาสในธุรกิจอื่น ๆ ใน LNG value chain ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
งานนี้ถือว่าวิน-วินด้วยกันทั้งคู่..!!
มุมของ BGRIM ไม่ต้องกังวล เพราะมีพาร์ตเนอร์อย่าง PTT ซึ่งมีโนว์ฮาวในธุรกิจนี้อยู่แล้ว ทั้งโรงแยกก๊าซ และท่อขนส่งพร้อมอยู่แล้ว…BGRIM ก็ออกไปแสวงหาแหล่งก๊าซได้อย่างไร้กังวล โดยใช้คาปาซิตี้ของ PTT ก็จะทำให้ BGRIM มีต้นทุนลดลง ก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน
แต่ไฮไลต์ ถ้ามองข้ามช็อตไป จะทำให้ BGRIM มีโปรไฟล์เพื่อต่อยอดไปสู่โรงไฟฟ้า Gas to Power ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศเวียดนาม…หากมีการเจรจาแหล่งก๊าซที่จะซื้อเอง ก็จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูง ได้ราคาต่ำลง ด้วยมี PTT เป็นสตาติจิกพาร์ตเนอร์ (Strategic Partner)
ส่วน PTT เอง แม้จะสูญเสียรายได้ที่เคยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีรายได้จาก 2 ขาด้วยกัน…ขาแรก ได้ส่วนแบ่งร่วมกับ BGRIM ส่วนอีกขา เป็นรายได้จากโรงแยกก๊าซ รวมทั้งท่อขนส่ง ซึ่งต้องผ่าน PTT
ดังนั้น ที่ดูแว๊บแรก PTT เหมือนจะเสีย…แต่เอาเข้าจริงก็ได้กลับมา…
แค่ปรับโมเดลจากค้าเดี่ยว…มาเป็นค้าร่วมเท่านั้น..!!
ก็ถือเป็นความชาญฉลาดของ PTT ในการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของธุรกิจ LNG…
แหม๊ เปลี่ยนสี อุ้ย…ปรับตัวเร็วเหมือนกันนะเนี่ย…
แต่เชื่อเถอะว่า กรณี PTT กับ BGRIM คงไม่ใช่แค่รายแรกและรายสุดท้ายแน่ ๆ อาจจะเห็น PTT ไปจับมือกับชิปเปอร์รายอื่น ๆ อีกก็เป็นได้…ก็เป็นอีกช็อตที่ต้องจับตากันต่อไป
ใช่ปะคะ เฮียโด่ง-อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ขาาา…
…อิ อิ อิ…