พาราสาวะถี

จาก อนุชา บูรพชัยศรี มาเป็น ธนกร วังบุญคงชนะ เพราะรายหลังนำมาชุบตัวกันตั้งแต่พ้นจากการเป็นโฆษกพรรคสืบทอดอำนาจแล้ว


ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหรือแปลกใจกับการเปลี่ยนตัวโฆษกรัฐบาลจาก อนุชา บูรพชัยศรี มาเป็น ธนกร วังบุญคงชนะ เพราะรายหลังนำมาชุบตัวกันตั้งแต่พ้นจากการเป็นโฆษกพรรคสืบทอดอำนาจแล้ว ตอนนั้นจะให้เลื่อนชั้นมาเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลทันทีทันใด ก็เกรงว่าจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากจะเป็นการตั้งบุคคลที่เข้ามาเพื่อตอบโต้ทางการเมืองกับฝ่ายเห็นต่างทุกรูปแบบ จึงปลอบใจกันด้วยตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯและโฆษก ศบศ.แทน

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป และเห็นได้ชัดว่าถูกต้อนเข้าตาจนและจำเป็นต้องโต้ตอบประเด็นทางการเมืองทุกรูปแบบการใช้บริหารของอนุชาต่อไป เกรงว่าจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนตัวกันแบบทำให้ดูเหมือนว่ากะทันหัน แต่ความจริงแล้ววางตัวกันไว้นานแล้ว รอแค่จังหวะเวลาเท่านั้น นั่นหมายความว่า จากนี้ไปฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะถูกโจมตีทุกรูปแบบ เพราะคนอย่างธนกรท้าชนไม่เลือกหน้าอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือทำหน้าที่ปกป้องผู้นำเผด็จการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว

ส่วนประเด็นที่ว่ามีความใกล้ชิดกับสื่อมวลชนนั้น เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วในฐานะอดีตโฆษกพรรค อยู่ที่ว่าสื่อที่สนิทสนมกันถือหางหรือเลือกข้างฝั่งไหนหรือไม่ ประเภทขอกันกินในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องใหญ่ที่จะต้องตรวจสอบกันต่อให้คุ้นเคยกันขนาดไหนก็ละเว้นกันไม่ได้ ที่ผ่านมาการเลือกที่จะให้ข่าววันหยุดเพื่อที่ยังไงก็ได้เป็นข่าวกัน ควรเลิกวิธีการแบบนั้นเสีย แล้วเลือกเนื้อหาเน้น ๆ เฟ้นสาระล้วน ๆ เพื่อให้คนเห็นเนื้องาน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อปกป้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแบบไม่ลืมหูลืมตา

สมใจอยากกันเสียที ไม่ต้องมาตอแหลกันว่าที่ไม่รีบตั้งกันทันทีก่อนหน้านั้น เพราะต้องรอดูผลงานกันก่อน ความจริงอยากตั้งใจจะขาดแต่ติดที่กลัวภาพลักษณ์จะไม่สง่างามจึงต้องปล่อยผ่านกันไปก่อน มาถึงตอนนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องนั้นอีกแล้ว ยิ่งนานวันกระแสยิ่งติดลบการนิ่งเฉยหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่พบปะหน้าสื่อ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ยิ่งจะกลายเป็นการหนีปัญหาหรือยอมรับว่าสิ่งที่ไม่พูดนั้นเป็นเรื่องจริง หรือพูดให้เข้าใจไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร

ดังนั้น คนที่จะมาเป็นโฆษกในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องไม่มีคราบไคลผู้ดีหรือกังวลว่าจะทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้นำ ถ้าจะพูดให้ชัดคือบางเรื่องไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะจริงหรือไม่ แต่ขอให้ตอบโต้เพื่อไม่ให้ถูกตีกินเอาไว้ก่อน ต้องไม่ลืมว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกรุนแรงตั้งแต่ 1 เมษายนเป็นต้นมานั้น ผู้นำเผด็จการตกอยู่ในสภาพโงหัวไม่ขึ้น ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง โดยเฉพาะประเด็นวัคซีน ยังหาทางสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนไม่ได้จนถึงทุกวันนี้

ล่าสุดก็มีเรื่องของชุดตรวจโควิด-19 ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบ ได้บริษัทผู้ชนะการประมูลไปแล้ว แต่มีประเด็นข้อสั่งการของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในที่ประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ชุดตรวจที่จะซื้อต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO แต่กลายเป็นว่าการประชุมครม.วานนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการขอปรับปรุงข้อสั่งการดังกล่าวของท่านผู้นำที่สั่งในการประชุมศบค.ครั้งที่ 12/2564 และการประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา

เป็นการขอแก้ไขข้อความจากเดิมที่ระบุในการประชุมศบค.ครั้งที่ 12 หน้าที่ 17 ข้อ 6 ซึ่งข้อความเดิมเขียนไว้ว่าการเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด–19 แบบ ATKที่ผ่านการรับรองจาก WHO รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ให้แก้เป็นข้อความว่า ในเรื่องการจัดการซื้อชุดตรวจเอทีเคนี้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันขอให้เร่งการแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด

แน่นอนว่า เรื่องการแก้ไขเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายนั้นไม่มีใครว่า แต่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ผู้สั่งการเคยพูดไปครั้งนั้นหรือไม่ คนทั่วไปน่าจะมีคำตอบกันอยู่แล้ว การทำงานในลักษณะนี้มันเหมือนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือไม่ มากไปกว่านั้นก็คือ เป็นการชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้ได้โดยไม่สนใจข้อทักท้วงใด ๆ จึงกลายเป็นว่าใครที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับฝ่ายกุมอำนาจ ไม่ว่าจะมีข้อกังขาอย่างไร ขอให้ถูกใจและพอใจของผู้มีอำนาจทุกอย่างก็จบ หากินกันได้สบายใจ

เหมือนอย่างกรณีหน้ากากอนามัยที่สวาปามกันสำราญใจกับการระบาดของโควิดระลอกแรก หนนี้ก็เช่นกัน ถึงขนาดที่มีการแก้ไขข้อสั่งการของท่านผู้นำมันยังไงชอบกลกันอยู่ ซึ่งฝ่ายที่จับตาตรวจสอบเรื่องนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันไปก่อนหน้าแล้ว และก็เป็นจริงตามนั้น อย่างไรก็ตาม ทางชมรมแพทย์ชนบทก็ประกาศกร้าว เมื่อมีการอนุมัติกันไปแล้วก็จะจับมือกับภาคีเครือข่ายตรวจสอบการกระจายชุดตรวจและประสิทธิภาพการใช้กันอย่างใกล้ชิด ถึงเวลานั้นถ้ามีปัญหาก็หาคนมารับผิดชอบให้ได้ก็แล้วกัน

คงไม่ต่างกันกับเรื่องที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประชุมกันไปเมื่อวันจันทร์แล้วมีมติออกมาว่า สถานการณ์โควิดในไทยสัญญาณดี พร้อมเตรียมการที่จะเพิ่มมาตรการรับเปิดประเทศ จนเกิดเป็นประเด็นคำถามในโลกโซเซียลว่า ก่อนจะมองกันไปไกลถึงขนาดนั้นเอาแค่ให้เปิดโรงเรียนได้ ร้านอาหารสามารถเปิดให้นั่งกินได้เสียก่อนจะดีกว่าไหม แต่เสียงทักท้วงแบบนี้ก็จะถูกตีความจากฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจว่า เป็นการใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อมูลทางวิชาการ

ดังนั้น ความเห็นของ นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คงมีน้ำหนักเพียงพอที่ต้องรับฟัง โดยมองว่า การดำเนินนโยบายของรัฐในภาวะวิกฤติเช่นปัจจุบัน คงต้องเตรียมการไว้สำหรับฉากทัศน์ที่รุนแรงหรือต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายไว้ ระยะสั้นเดือนกันยายนและตุลาคมที่จะถึงนี้ วิกฤตที่จะเกิดขึ้นคือความไม่มั่นใจว่าจะมีวัคซีนพอสำหรับประชาชนกลุ่มที่จะต้องได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาเข็มที่ 2 ในทุกวิธีการฉีดหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นฉีดไขว้กับซิโนแวค หรือแอสตร้าฯสองเข็ม แล้วจะทิ้งให้คนหน้างานตามต่างจังหวัดทั่วประเทศรับหน้าแทนรัฐบาลอีกหรือไม่ เหมือนที่ไม่มีวัคซีนให้ฉีดเพียงพอเมื่อเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่สำคัญที่สุดที่ต้องเร่งให้ประชาชนไทยได้ฉีดวัคซีนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ถ้ายืนยันที่จะตอบสนองต่อคำประกาศของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ต้องการจะเปิดประเทศภายใน 120 วันที่จะบรรจบมาครบในปลายเดือนตุลาคมนี้

Back to top button