เมื่อทุนไหลกลับเอเชียพลวัต2015

ถึงแม้เมื่อวานนี้ ตัวเลขขายสุทธิของต่างชาติจะปรากฏขึ้นมาหลังปิดตลาด ที่มีดัชนีปิดบวกแรง 16.82 จุด มายืนเหนือแนวต้านแรก 1,360 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายคึกคัก ไม่มีนัยสำคัญมากกว่าการปรับพอร์ตธรรมดา


ถึงแม้เมื่อวานนี้ ตัวเลขขายสุทธิของต่างชาติจะปรากฏขึ้นมาหลังปิดตลาด ที่มีดัชนีปิดบวกแรง  16.82 จุด มายืนเหนือแนวต้านแรก 1,360 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายคึกคัก ไม่มีนัยสำคัญมากกว่าการปรับพอร์ตธรรมดา

หากพิจารณาตัวเลขซื้อของต่างชาติ 9,436.35 ล้านบาท หรือ 25.86% ของสัดส่วนซื้อ และ ตัวเลขขาย 9,646.37 หรือ 26.44% ของสัดส่วนขายทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ต่างชาติยังคงมีบทบาทคึกคักในตลาดหุ้นไทยต่อไป ไม่ได้หนีไปไหน

ตัวเลขดังกล่าว ไม่โกหก และสอดรับกับข้อเท็จจริงที่มีการเปิดเผยจากธนาคารโลกว่า เงินทุนยังคงไหลเข้าเอเชียแปซิฟิกต่อเนื่อง แม้ว่าบรรยากาศทั่วโลกยังคงมีความท้าทาย เพราะคาดว่าสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจภูมิภาคนี้ จะยังคงเติบโตที่ระดับ 6.5% ซึ่งลดลงเล็กน้อย จากอัตรา 6.8% ในปีก่อนหน้า และยังคงสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ธนาคารโลกสรุปว่า ชาติต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกยามนี้ ให้ความสำคัญกับปัจจัยหลัก 2 ด้านพร้อมกันคือ การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาคอย่างรัดกุม เพื่อรับมือกับความผันผวนในต่างประเทศและด้านการคลัง  และการปฏิรูปโครงสร้างในเชิงลึก ที่เน้นกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างควบคู่ไป

มุมมองที่เป็นกลางของธนาคารโลกดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากข้อเท็จจริงล่าสุดที่ว่า ทางการจีนและญี่ปุ่น อาจจะต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีกเป็นระยะเวลานานพอสมควร และมุมมองระยะสั้นที่ว่า  ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดฯ อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ต้นปีหน้า หรืออาจจะเกิน เดือนมีนาคมด้วยซ้ำไป หลังข้อมูลจ้างงานอ่อนแอกว่าคาด

ในอีกมุมหนึ่ง ธนาคารโลกก็ประเมินเศรษฐกิจไทย ปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ราว 2.5% จากการใช้จ่ายภาครัฐ และรายรับจากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างเข้มแข็ง หากเสถียรภาพทางการเมืองปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ในปี 59 คาดการณ์ GDP ไทยขยายตัว 2% และในปี 60 ขยายตัวได้ 2.4% เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซา และเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ยังคงชะลอตัว ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีแรงกดดันอยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอยลง มีความหวังมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลกลับของทุนเก็งกำไรได้ เป็นช่วงเวลา หลังจากที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว

การไหลกลับของทุนเก็งกำไรต่างชาติที่เริ่มขึ้นอย่างช้าๆ ช่วยระงับความกังวลว่า ทุนเหล่านี้จะถอนตัวไปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากเหตุที่ค่าดอลลาร์แข็งเพราะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯในเร็ววัน แบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2556 ออกไปได้อย่างมาก

แม้การไหลกลับของทุนเก็งกำไรต่างชาติรอบนี้จะไม่รุนแรงมากเท่ากับเมื่อช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่ แต่การที่ทุนดังกล่าวหยุดไหลออก ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการปรับมุมมองว่า ตลาดหุ้นไทย ยังมีหุ้นที่น่าสนใจและมีพื้นฐานแข็งแกร่งจำนวนมาก เป็นสินค้ารอการซื้อขายอยู่อย่างน่าสนใจ

ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงการพยายามของรัฐบาลชาติต่างๆ เช่น จีน อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ในการสร้าง และออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสารพัดตามที่คิดขึ้นมาได้ ทั้งมาตรการทางการคลัง และมาตรการทางการเงิน ซึ่งสามารถเรียกพลังซื้อจากนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่งเป็นระยะๆ

ตัวอย่างของตลาดหุ้นไทยที่เริ่มมีแรงซื้อในหุ้นขนาดใหญ่ระดับบลูชิพของตลาด เช่น กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมีและกลุ่มธนาคาร  ทำให้เริ่มมีมูลค่าซื้อขายที่สูงขึ้นเชิงปริมาณ แม้จะยังคงแกว่งตัวด้วยความไม่แน่ใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายเหมือนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ดัชนีเดินหน้าบวกต่อได้ แม้จะมีแรงขายทำกำไรระยะสั้นสลับกันไปบ้าง

ข้อเท็จจริงที่ว่าในหลายเดือนมานี้ ราคาหุ้นพื้นฐานที่ดีจำนวนมากในไทย และเอเชีย ได้ถูกแรงขายทุบราคาร่วงลงมาค่อนข้างมากในระดับเกินพื้นฐาน ยังผลให้ ราคาปรับตัวลงมาต่ำพอที่นักวิเคราะห์ในตลาดเกิดใหม่ ประเมินมูลค่าของราคาหุ้นว่ามีความน่าสนใจในโอกาสทำกำไรมากยิ่งขึ้น  เกิดเป็นการส่งสัญญาณที่ดีขึ้นว่าตลาดฯมีโอกาสฟื้นตัว

โดยเฉพาะหุ้นที่นักลงทุนคาดหมายว่า จะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่แม้ว่าอาจจะยังไม่บังเกิดผล แต่ก็สร้างบรรยากาศของการเก็งกำไรได้ครั้งใหม่

 การที่ค่าดอลลาร์สหรัฐ เริ่มมีทิศทางปรับตัวลงเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวดีสำหรับตลาดเงินทั่วโลก ผสมกับราคาน้ำมันกลับมามีเสถียรภาพรอบใหม่อีกครั้ง ลดความผันผวนลงไป เปิดทางให้นักลงทุนตั้งสติพิจารณารอบคอบมากขึ้น ไม่เฮละโลไปกับกระแสของทุนใหญ่มากเกินขนาด

มุมมองทางบวกเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย และไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน แต่เป็นการสะสมเชิงปริมาณสู่คุณภาพ

มรสุมร้ายอาจจะจากไปรวดเร็วนัก แต่ตลาดหุ้นมีลงได้ แล้วก็ขึ้นได้อีก เป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนต้องสั่งสมประสบการณ์ที่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสควบคู่กันไป

ใครจะฉกฉวยโอกาสจากการที่ทุนไหลกลับเอเชียแปซิฟิกรอบใหม่นี้มากน้อยแค่ไหน อีกไม่นานคงได้รู้กัน

 

Back to top button